xs
xsm
sm
md
lg

กรมทรัพย์สินทางปัญญาปั้น อบต.โมเดล ดันสินค้าชุมชนจด GI-เครื่องหมายการค้า

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมทรัพย์สินทางปัญญาเตรียมจับมือ อบต.สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าชุมชนด้วยการนำปัญญาเข้าไปช่วยเพิ่มทรัพย์สิน เล็งผลักดันขึ้นทะเบียน GI ให้มีจำนวนมากขึ้น และจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเพิ่มขึ้น มั่นใจช่วยแก้จน เพิ่มรายได้ให้แก่เศรษฐกิจฐานราก

นายประโยชน์ เพ็ญสุต รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า กรมฯ มีแผนที่จะร่วมมือกับองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ในจังหวัดต่างๆ เพื่อช่วยกันสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าในชุมชน เพราะ อบต.จะรู้ดีว่าในแต่ละชุมชนมีสินค้าดี เด่น ดังอะไรบ้าง เมื่อหาเจอแล้ว ก็จะเข้าไปช่วยเหลือด้วยการเอาปัญญาเข้าไปใส่ ซึ่งอาจจะผลักดันให้มีการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) หากเป็นสินค้าที่มีความโดดเด่น เป็นของเฉพาะถิ่น หรืออาจจะผลักดันให้มีการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า หรือความลับทางการค้า เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าต่อไป

สำหรับสินค้าชุมชนมีหลากหลาย จะผลักดันให้ขึ้นทะเบียน GI เพียงอย่างเดียวต้องใช้เวลา บางที 2-3 ปี กว่าจะได้มาสินค้าหนึ่ง แต่ถ้าเราเอาปัญญาเข้าไปใส่ก็สามารถที่จะสร้างทรัพย์สินขึ้นมาได้ทันที หรือที่เรียกว่าทรัพย์สินทางปัญญา แบบนี้ทำได้เร็ว สินค้าชุมชนที่เป็น GI ไม่ได้เราก็มีทางเลือก ไปช่วยให้มีการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า เมื่อเขามีตรา มียี่ห้อ ก็จะทำให้สินค้ามีมูลค่าเพิ่ม และขายได้ราคาดีขึ้น เป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากอีกรูปแบบหนึ่ง

“การดำเนินการดังกล่าว ขอเรียกว่า “อบต.โมเดล” เพราะเป็นการร่วมมือกับ อบต.ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก โดยจะนำร่องที่ จ.อ่างทอง และนครสวรรค์ก่อน จากนั้นจะขยายความร่วมมือไปยังจังหวัดต่างๆ เพิ่มขึ้น และยังสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่ต้องการแก้ไขปัญหาความยากจนให้แก่ประชาชนของประเทศ โดยการเพิ่มรายได้ต่อหัวต่อคนต่อปีของคนไทยให้เพิ่มจากเฉลี่ย 7,000 เหรียญสหรัฐ เป็น 15,000 เหรียญสหรัฐ เพราะหากสามารถผลักดันให้ชุมชนที่มีสินค้าและบริการ แล้วมีการนำปัญญาเข้าไปใส่ และช่วยทำตลาด ช่วยคุ้มครอง ก็จะทำให้ชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้น ความยากจนก็จะหมดไป” นายประโยชน์กล่าว

นายประโยชน์กล่าวว่า ในด้านการเพิ่มพูนความรู้ด้านทรัพย์สินทางปัญญา จะพัฒนาหลักสูตร e-Learning ของกรมฯ ใหม่ให้สอดคล้องกับการพัฒนาทางด้านทรัพย์สินทางปัญญาในปัจจุบัน เพื่อให้ความรู้แก่ผู้ที่สนใจจะเรียนรู้เรื่องทรัพย์สินทางปัญญา และเมื่อผ่านการเรียนรู้แล้ว ก็จะแต่งตั้งให้เป็นไอพี แอมบาสซาเดอร์ หรือผู้ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญด้านทรัพย์สินทางปัญญา และให้คนเหล่านี้เข้ามาช่วยเป็นวิทยากร หรืออบรมความรู้เรื่องทรัพย์สินทางปัญญาให้แก่ผู้อื่นต่อไป ซึ่งอาจจะช่วยให้ความรู้แก่นักเรียน นักศึกษา หรือประชาชนทั่วไป

นอกจากนี้ จะหารือกับมหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อผลักดันให้วิชาทรัพย์สินทางปัญญาเป็นหลักสูตรกลาง และเป็นวิชาเลือกในการเรียนการสอน เพื่อผลักดันให้นักศึกษามีความรู้ ความเข้าใจในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาเพิ่มมากขึ้น และสามารถที่จะนำความรู้ที่ได้ไปใช้ในการต่อยอดการทำงานหรือทำธุรกิจในอนาคต ซึ่งจะช่วยให้การขับเคลื่อนประเทศด้วยทรัพย์สินทางปัญญามีการเติบโตได้เพิ่มขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น