“สุริยะ” ลั่นปัญหาการเมืองของไทยขณะนี้ไม่มีผลกระทบต่อการตัดสินใจเหตุนักลงทุนเคยชินแล้ว พร้อมเดินหน้าอีอีซีไม่เปลี่ยนแปลง ขณะที่โควิด-19 ทำลงทุนอาจชะลอตัวไปบ้างแต่มีแนวโน้มเริ่มทยอยฟื้นตัว แย้ม “เอ็กซอน” เริ่มติดต่ออาจทบทวนแผนลงทุนใหม่อีกครั้งหลังชะลอไป ปลื้ม 8 เดือนอีอีซีดูดเงินลงทุนกว่าแสนล้านบาท
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม แสดงปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนา EEC GO จัดโดยเครือกรุงเทพธุรกิจ ว่า จากสถานการณ์การเมืองไทยที่มีการชุมนุมในปัจจุบันไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจเข้ามาลงทุนในไทยโดยเฉพาะในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) แต่อย่างใด เนื่องจากนักลงทุนส่วนใหญ่มองการเมืองไทยเป็นเรื่องปกติ แต่สิ่งที่มีผลต่อการตัดสินใจมากสุดคือการระบาดโควิด-19 ที่กระทบให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวทำให้นักลงทุนบางส่วนยังคงเฝ้าติดตามใกล้ชิด โดยรัฐบาลยังคงเดินหน้าพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน การชักจูงการลงทุน และการพัฒนาอุตสาหกรรมในอีอีซีอย่างต่อเนื่องไม่เปลี่ยนแปลง
“ไม่ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงการเมืองหรือไม่ แต่อีอีซีจะเป็นนโยบายที่ไม่ได้เปลี่ยนไปทุกอย่างยังเดินหน้า และปัญหาการเมืองขณะนี้นักลงทุนต่างก็เคยชินกับประเทศไทยโดยเฉพาะนักลงทุนญี่ปุ่น ซึ่งแม้ว่าโควิด-19 จะส่งผลให้มีการชะลอตัวการลงทุนไปบ้างแต่แนวโน้มหลายๆ อย่างก็เริ่มฟื้นตัวหลังการทยอยปลดล็อกการให้ต่างชาติเดินทางเข้าไทยได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม แนวโน้มเศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวชัดเจนขึ้นซึ่งรวมถึงไทยก็คงจะต้องรอวัคซีนโควิด-19 เป็นสำคัญ โดยหลายฝ่ายคาดการณ์ว่าน่าจะเป็นช่วงกลางปี 2564 เป็นอย่างเร็ว” นายสุริยะกล่าว
อย่างไรก็ตาม จากการที่ไทยมีศักยภาพทั้งด้านภูมิศาสตร์และการดูแลป้องกันโควิด-19 เป็นอย่างดีติดอันดับต้นๆ ของโลกจึงเชื่อมั่นว่าจะเป็นแรงดึงดูดในการเข้ามาลงทุนในระยะยาว ซึ่งล่าสุดทีมที่ปรึกษาของบริษัทเอ็กซอน โมบิล เคมิคอล ก็ติดต่อมายังกระทรวงอุตสาหกรรมที่จะหาแนวทางทบทวนแผนการศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนในไทยเกี่ยวกับโครงการลงทุนส่วนขยายโรงปิโตรเคมี หรือโรงแครกเกอร์สำหรับผลิตปิโตรเคมี มูลค่า 300,000 ล้านบาท ในอีอีซีอีกครั้งหลังจากก่อนหน้านี้ต้องชะลอการศึกษาความเป็นไปได้เพราะผลกระทบจากโควิด-19 ส่วนจะเดินหน้าหรือไม่อย่างไรคงต้องรอคำตอบที่ชัดเจนอีกครั้ง
ทั้งนี้ ที่ผ่านมารัฐบาลได้ขับเคลื่อนอีอีซี 3 ระยะ คือ ขั้นที่ 1 รัฐบาลเตรียมการวางกลไกที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการออกพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นมาที่จะช่วยให้นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศได้เห็นว่าประเทศไทยจริงจังกับการพัฒนา EEC เพราะไม่ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างไร แต่การพัฒนาพื้นที่ EEC จะยังคงเดินหน้าต่อไป ขั้นที่ 2 เป็นการเตรียมการวางโครงสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่มีความชัดเจนให้เห็นเป็นรูปธรรมใน 5 โครงการหลัก ทั้งรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เมืองการบินภาคตะวันออก สนามบินอู่ตะเภา ท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3 ฯลฯ
ส่วนขั้นที่ 3 เป็นเรื่องการชักจูงการลงทุนและการพัฒนาอุตสาหกรรม ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมได้มุ่งเน้นการพัฒนา “อุตสาหกรรมเป้าหมาย หรืออุตสาหกรรม S-Curve” โดยได้ร่วมกับ BOI ดึงดูดการลงทุนอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ซึ่งสามารถสะท้อนให้เห็นได้จากตัวเลขการขอรับส่งเสริมการลงทุนล่าสุดในพื้นที่ EEC จากสำนักงาน BOI พบว่าในช่วงเดือนมกราคม-สิงหาคม 2563 มีการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ EEC ทั้งสิ้น 277 โครงการ เงินลงทุนรวม 106,300 ล้านบาท โดยมูลค่าการขอรับส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ EEC คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 51% ของมูลค่าขอรับการส่งเสริมการลงทุนทั้งประเทศ