กขค.ปรับปรุงไกด์ไลน์ “ฟูดดีลิเวอรี” ใหม่ใน 3 ประเด็น “นิยามผู้ประกอบธุรกิจ-การเรียกเก็บค่าส่วนแบ่งรายได้-การจำกัดสิทธิ์” พร้อมวางกฎ กติกาการเรียกเก็บค่าใช้จ่าย การกำหนดเงื่อนไขทางการค้า การใช้อำนาจเหนือตลาดที่ไม่เป็นธรรม มั่นใจช่วยปกป้องร้านอาหารไม่ให้ถูกแพลตฟอร์มเอาเปรียบ ผู้บริโภคได้รับประโยชน์สูงสุดจากการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น
นายสันติชัย สารถวัลย์แพศย์ กรรมการการแข่งขันทางการค้า ในฐานะประธานอนุกรรมการพิจารณาแนวปฏิบัติการค้าที่ไม่เป็นธรรมในธุรกิจค้าปลีกออนไลน์ เปิดเผยว่า คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ได้ให้ความเห็นชอบร่างประกาศ เรื่อง แนวทางพิจารณาการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมระหว่างผู้ประกอบธุรกิจให้บริการดิจิทัลแพลตฟอร์มรับและส่งอาหารแก่ผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหาร หรือไกด์ไลน์ฟูดดีลิเวอรี ที่ได้ปรับปรุงใหม่ หลังจากเปิดรับฟังความคิดเห็นทั้งผ่านช่องทางออนไลน์และการจัดประชุมในรูปแบบโฟกัสกรุ๊ป และขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างรอประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้มีผลบังคับใช้ทางกฎหมายต่อไป
“ไกด์ไลน์ฟูดดีลิเวอรีจะช่วยสร้างบรรทัดฐานในการประกอบธุรกิจบริการรับและส่งอาหาร สามารถปกป้องผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหารที่อาศัยบริการช่องทางการจำหน่ายทางดิจิทัลแพลตฟอร์มมิให้ถูกเอาเปรียบโดยไม่มีเหตุผลสมควร สามารถแข่งขันกันได้อย่างเสรีและเป็นธรรม ในขณะเดียวกันผู้ประกอบธุรกิจให้บริการดิจิทัลแพลตฟอร์มรับและส่งอาหารก็สามารถดำรงธุรกิจอยู่ได้ และยิ่งไปกว่านั้น การออกไกด์ไลน์ฉบับนี้ยังช่วยให้ผู้บริโภคได้รับประโยชน์สูงสุดจากความมีเสถียรภาพจากการแข่งขันทางการค้าที่เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย” นายสันติชัยกล่าว
สำหรับประเด็นสำคัญที่ได้มีการปรับแก้ไขมี 3 ประเด็น ได้แก่ 1. ปรับนิยามผู้ประกอบการเป็นผู้ประกอบธุรกิจให้บริการดิจิทัลแพลตฟอร์มรับและส่งอาหาร 2. ปรับแก้การเรียกเก็บค่าส่วนแบ่งรายได้เพิ่มสูงขึ้นจากอัตราที่เคยเรียกเก็บโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร และการเรียกเก็บในอัตราที่แตกต่างกันระหว่างผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหารที่จำหน่ายอาหารประเภทเดียวกันโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร และ 3. ปรับเรื่องการกำหนดเงื่อนไขที่เป็นการจำกัดสิทธิของผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหารที่มีลักษณะเป็นการบังคับ โดยการห้ามจำหน่ายอาหารผ่านช่องทางของผู้ประกอบธุรกิจให้บริการดิจิทัลแพลตฟอร์มรับและส่งอาหารรายอื่นโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร
นอกจากนี้ ได้กำหนดข้อปฏิบัติที่อาจเข้าข่ายเป็นการกระทำที่ทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหาร ได้แก่ 1. การเรียกเก็บค่าใช้จ่าย ค่าตอบแทน หรือผลประโยชน์อื่นๆ ที่ไม่เป็นธรรม โดยไม่ได้แจ้งให้ผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหารทราบล่วงหน้าถึงเหตุผลและความจำเป็นของการเปลี่ยนแปลงในระยะเวลาที่เหมาะสม 2. การกำหนดเงื่อนไขทางการค้าอันเป็นการจำกัดหรือขัดขวางการประกอบธุรกิจของผู้อื่นอย่างไม่เป็นธรรม 3. การใช้อำนาจตลาดหรืออำนาจต่อรองที่เหนือกว่าอย่างไม่เป็นธรรม และ 4. การปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมอื่นๆ