ผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ส่งผลให้ยอดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในไทยโดยเฉพาะในช่วงเวลาที่มีการล็อกดาวน์ประเทศในช่วง มี.ค.-เม.ย. 2563 ลดลงมากกว่า 10% ก่อนที่รัฐบาลมีมาตรการผ่อนคลายล็อกดาวน์ทำให้ภาพรวมความต้องการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มมีในช่วงครึ่งปีหลังนี้ โดยภาครัฐประเมินความต้องการใช้น้ำมันในปีนี้จะติดลบ 8.6% จากเดิมที่คาดว่าการใช้น้ำมันเติบโตขึ้น 2-3% จากปีก่อน
นโยบายกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศของภาครัฐ ทำให้ประชาชนหันมาเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศเพิ่มมากขึ้น ซึ่งนอกจากช่วยธุรกิจโรงแรม ร้านค้า และธุรกิจเอสเอ็มอีแล้ว ยังส่งผลต่อการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้นด้วยในช่วงนี้
นายอดิศักดิ์ แจ้งกมลกุลชัย ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ ESSO กล่าวว่า ขณะนี้ยอดขายน้ำมันบริษัทได้กลับมาอยู่ที่ระดับ 90% จากก่อนเกิดการระบาดโควิด-19 คาดว่ายอดขายน้ำมันค้าปลีกผ่านจุดต่ำสุดในช่วงเดือน เม.ย.ที่ผ่านมาภายใต้เงื่อนไขไม่มีการระบาดโควิด-19 รอบ 2
ทั้งนี้ เอสโซ่ประเมินช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจและภาคธุรกิจจะไปไม่มากไปกว่านี้แล้ว ดังนั้น ยอดขายปลีกน้ำมันของเอสโซ่ในปี 2563 น่าจะลดลง 7-8% จากปีก่อน สอดคล้องตามตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ประเทศไทยที่คาดว่าจะติดลบราว 7-8%
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าปีนี้จะมีการแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวกระทบความต้องการใช้พลังงาน แต่บริษัทยังลงทุนเพื่อขยายจำนวนสถานีบริการน้ำมันเพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2562 อยู่ที่ 638 แห่ง คาดว่าสิ้นปีนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 690 แห่งช่วยกระตุ้นยอดค้าปลีกเพิ่มขึ้น
สำหรับปี 2564 บริษัทวางงบลงทุนราว 1,200-1,500 ล้านบาท เพื่อขยายการลงทุนในธุรกิจค้าปลีกและการปรับปรุงโรงกลั่นน้ำมัน โดยมีแผนจะขยายสถานีบริการน้ำมันเพิ่มขึ้นรวมมากกว่า 700 แห่ง จากปัจจุบันมีสถานีบริการอยู่ที่ 676 แห่ง ทั้งนี้ บริษัทไม่มีแผนที่จะลงทุนสถานีอัดประจุไฟฟ้า (EV Charger) เนื่องจากจำนวนรถ EV ยังมีน้อยไม่คุ้มการลงทุน
นอกเหนือจากการขยายสถานีบริการเอสโซ่แล้ว บริษัทรุกขยายความร่วมมือกับพันธมิตรในการเพิ่มร้านค้าและบริการในสถานีบริการน้ำมันเพิ่มขึ้นทั้ง เบอร์เกอร์คิง แมคโดนัลด์ เคเอฟซี เดอะพิซซ่า คอมปะนี เทสโก้ โลตัส เอ็กซ์เพรส แฟมิลี่มาร์ท ฯลฯ ล่าสุดได้ร่วมเป็นพันธมิตรกับกลุ่มไมเนอร์ฟู้ด เปิดร้านกาแฟใหม่ คือ Coffee Journey โดยได้เปิด 2 สาขาแรกที่รามอินทรา กม. 6.5 และพระราม 9 ตั้งเป้าหมายจะขยายเพิ่มเป็น 12-15 แห่งในสิ้นปี 2563
ส่วนโรงกลั่นน้ำมันเอสโซ่ ที่ศรีราชา มีการใช้กำลังการกลั่นอยู่ที่ 117,000 บาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ใช้อัตราการกลั่นอยู่ที่ 114,000 บาร์เรลต่อวัน ส่วนปี 2564 บริษัทยังไม่ได้วางแผนว่าจะใช้กำลังการกลั่นเท่าใด ขึ้นกับความต้องการใช้น้ำมันเป็นสำคัญ เนื่องจากโรงกลั่นน้ำมันเอสโซ่ได้ปรับเปลี่ยนการกลั่นจากที่ผลิตได้น้ำมันอากาศยาน (JET) ให้นำไปแครกต่อไปน้ำมันดีเซลและ/หรือน้ำมันเบนซินแทน หลังจากมีการหยุดบินระหว่างประเทศทำให้การใช้น้ำมันอากาศยานลดลงอย่างมาก โดยโรงกลั่นเอสโซ่ไม่มีการผลิตน้ำมันอากาศยานมาตั้งแต่เดือน มิ.ย.แล้ว
โรงกลั่นน้ำมันเอสโซ่มีจุดแข็งในการแครกน้ำมันอากาศยานเป็นน้ำมันดีเซลหรือน้ำมันเบนซิน ขึ้นอยู่กับมาร์จิ้นของน้ำมันแต่ละชนิดในช่วงเวลานั้น รวมทั้งยังมีความพร้อมในปรับปรุงคุณภาพน้ำมันมาตรฐาน ยูโร 5 ซึ่งจะเสร็จทันตามเป้าหมายที่รัฐประกาศให้ทุกโรงกลั่นต้องผลิตน้ำมันตามมาตรฐานยูโร 5 ในวันที่ 1 ม.ค. 2567
ความคืบหน้าการลงทุนโครงการปิโตรเคมีในไทยของบริษัทแม่ คือ เอ็กซอนโมบิล ขณะนี้ทางบริษัทแม่ตัดสินใจชะลอการตัดสินใจลงทุนโครงการดังกล่าวที่อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 เช่นเดียวกับบริษัทพลังงานต่างๆ ของโลกที่ได้ชะลอการลงทุนเพื่อประเมินสถานการณ์ และลดค่าใช้จ่ายการลงทุนต่างๆ เพื่อเพิ่มสภาพคล่อง โดยไม่สามารถระบุได้ว่าจะมีการลงทุนเมื่อใด
ทั้งนี้ บริษัทเอ็กซอนโมบิลมีแผนลงทุนโครงการลงทุนปิโตรเคมีขนาดใหญ่บนพื้นที่ อ.แหลมฉบัง จ.ชลบุรี ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) มูลค่าลงทุนราว 3 แสนล้านบาท แต่ต้องเลื่อนการตัดสินใจลงทุนออกไปจากสถานการณ์โควิด-19
ส่วนการชุมนุมประท้วงเพื่อเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรีลาออกนั้น นายอดิศักดิ์กล่าวว่า ปัญหาการเมืองย่อมมีผลต่อการตัดสินใจลงทุนของต่างชาติเพียงแต่จะมากหรือน้อย โดยตนเองไม่อยากให้มีการใช้ความรุนแรง ส่วนการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขต กทม.นั้นยอมรับได้ ส่วนชุมนุมประท้วงจะส่งผลกระทบต่อยอดขายน้ำมันผ่านสถานีบริการนั้นมีบ้าง โดยบริษัทจะพิจารณาตัดสินใจปิดปั๊มชั่วคราวในบางสาขาที่คาดว่าจะมีความเสี่ยงจากการชุมนุม
นายอดิศักดิ์ ในฐานะเป็นผู้บริหารระดับสูงคนไทยคนแรกที่นั่งตำแหน่งประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) ในรอบ 126 ปีนับตั้งแต่เครือเอ็กซอนโมบิลเข้ามาลงทุนในประเทศไทย กล่าวย้ำว่า ในทุกวิกฤตย่อมมีโอกาส จึงเป็นที่มาในการกำหนดวิสัยทัศน์ของ “Thailand VISION” “เติมเต็มพลังชีวิต ด้วยประสบการณ์พลังงานที่เหนือกว่า” เพื่อผลักดันการดำเนินธุรกิจให้เติบโตต่อไปข้างหน้า และพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในทางธุรกิจให้ทันท่วงที รวมถึงการดูแลความปลอดภัยและสุขอนามัยของพนักงาน
การดำเนินงานดังกล่าวเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย จะเสริมด้วยภารกิจ 3 ด้าน ประกอบด้วย Our Growth ที่จะพัฒนาศักยภาพของบุคลากรสู่ระดับสากลเพื่อขับเคลื่อนการเติบโตในอนาคต, Our Win ต่อยอดความชำนาญเฉพาะด้านที่หลากหลายเพื่อคิดค้นผลิตภัณฑ์และบริการที่มีคุณภาพให้แก่ลูกค้าเนื่องจากไทยเป็นเพียงไม่กี่ประเทศของโลกที่เอ็กซอนโมบิลลงทุนทั้งโรงกลั่นน้ำมัน สถานีบริการน้ำมัน และโรงงานปิโตรเคมี ทำอย่างไรจะสร้างประโยชน์สูงสุดเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า และ Our Pride คือสร้างความเข้าใจและความประทับใจในแบรนด์เพื่อให้อยู่ในใจของทุกคน
ขณะเดียวกันก็ให้ความสำคัญในเรื่องของการทำงานที่มีความคล่องตัวแบบ agile และ resilience ที่สามารถปรับตัวเพื่อพลิกฟื้นสถานการณ์การดำเนินงานและในเชิงรุกมากขึ้น รวมถึงการปรับแผนการผลิตของโรงกลั่นให้ทันเหตุการณ์ การให้บริการรูปแบบใหม่ๆ ในสถานีบริการเอสโซ่ และนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการบริการการขาย เพื่อมุ่งหวังเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดในการจำหน่ายน้ำมันผ่านสถานีบริการที่ปัจจุบันเอสโซ่มีมาร์เกตแชร์อยู่ที่ 11-12% รั้งอันดับ 4 และหากรวมยอดขายน้ำมันผ่านธุรกิจพาณิชยกรรมด้วย เอสโซ่มีมาร์เกตแชร์เป็นอันดับ 2 ของประเทศ
ด้านบริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR ขณะนี้ยอดขายน้ำมันได้ฟื้นตัวดีขึ้นหลังผ่านจุดต่ำสุดในเดือนเม.ย. ที่มีล็อกดาวน์ประเทศป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 แต่เมื่อรัฐผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ รวมทั้งออกมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ ทำให้ประชาชนเดินทางพักผ่อนมากขึ้นดันความต้องการใช้น้ำมันฟื้นตัวขึ้น
ส่งผลให้ยอดขายน้ำมันของ OR ในเดือนสิงหาคม 2563 อยู่ที่ 1,473.11 ล้านลิตร (รวมก๊าซปิโตรเลียมเหลว (แอลพีจี) คิดเป็นส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 37.5% มากเป็นอันดับ 1 ขณะที่ภาพรวมปริมาณการใช้น้ำมันเบนซินในประเทศช่วงเดือน ส.ค. 2563 อยู่ที่ 33.57 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 3.9% ส่วนดีเซลมีปริมาณการใช้อยู่ 63.08 ล้านลิตร/วัน ลดลง 0.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
โดยภาพรวมความต้องการใช้น้ำมันเบนซินและดีเซลในไทยในช่วง 8 เดือนแรกปีนี้อยู่ที่ 7,568.42 ล้านลิตร และ 15,895.96 ล้านลิตรตามลำดับ ลดลง 3.3% และ 3.6% ตามลำดับ
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงสำหรับธุรกิจค้าปลีกน้ำมันในช่วงไตรมาส 4 นี้คงหนีไม่พ้นสถานการณ์ทางการเมืองที่ต้องเฝ้าจับตาอย่างใกล้ชิดว่าหากยืดเยื้อหรือรุนแรงจะมีผลกระทบมากน้อยแค่ไหนต่อภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศที่ยังอ่อนแอจากผลกระทบโควิด-19 แล้วลามไปยังภาคธุรกิจต่างๆ รวมถึงธุรกิจค้าปลีกน้ำมันที่กำลังผงกหัวดีขึ้นในครึ่งหลังปี 2563 ต้องถูกกดดันทำให้ปริมาณความต้องการใช้น้ำมันลดลงอีก กล่าวได้ว่าปี 2563 เป็นปีที่วัดฝีมือผู้นำธุรกิจอย่างแท้จริง