“พาณิชย์” เปิดตัว “ดัชนีราคาผู้บริโภคกลุ่มแรงงาน-ดัชนีราคาค่าครองชีพพื้นฐาน” ใช้ตรวจสอบสถานการณ์การบริโภคสินค้าของกลุ่มแรงงาน และความเคลื่อนไหวของสินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพ เพื่อให้รัฐบาลนำไปใช้กำหนดนโยบายช่วยเหลือหรือกระตุ้นเศรษฐกิจได้ตรงจุดและตรงกลุ่มเป้าหมาย
น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า สนค.ได้จัดทำดัชนีราคาขึ้นใหม่ 2 ชุดเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนให้มากขึ้น ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคกลุ่มแรงงาน (CPI Worker) และดัชนีราคาค่าครองชีพพื้นฐาน (CPI-Basic) หรือดัชนีราคาปัจจัยสี่ โดยดัชนีทั้ง 2 ชุดนอกจากจะใช้วัดความเคลื่อนไหวของราคาสินค้าที่กลุ่มแรงงานบริโภค และสินค้าปัจจัยสี่แล้ว จะถูกนำไปใช้ในการกำหนดนโยบายของรัฐในด้านการช่วยเหลือหรือกระตุ้นเศรษฐกิจที่จะออกมาได้ตรงจุดและตอบสนองความต้องการของกลุ่มเป้าหมายได้มากที่สุดด้วย
สำหรับดัชนีราคาผู้บริโภคกลุ่มแรงงานเป็นดัชนีเศรษฐกิจการค้าใหม่ จัดทำขึ้นเพื่อใช้เป็นตัวชี้วัดทางเลือกในการสะท้อนภาวะค่าครองชีพของผู้บริโภคกลุ่มแรงงานโดยเฉพาะ จัดเก็บในระดับจังหวัด 73 จังหวัด กรุงเทพฯ และปริมณฑล เป็นการบูรณาการกระบวนการทำงานระหว่าง สนค. กับกระทรวงแรงงาน ในเรื่องการจัดเก็บข้อมูลค่าใช้จ่ายของผู้บริโภคกลุ่มแรงงาน และจะถูกนำไปใช้ประกอบการพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำระดับประเทศและจังหวัด
ส่วนดัชนีราคาปัจจัยสี่ เป็นดัชนีที่จะช่วยให้ผู้บริโภคสามารถติดตามความเคลื่อนไหวราคาสินค้ากลุ่มที่สำคัญในการดำรงชีวิตประจำวันได้ง่ายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นราคาค่าพลังงาน ค่าอาหาร ค่ายา และค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับที่อยู่อาศัย ซึ่งหากมีกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่ราคาขึ้นสูงไปก็จะมีการเตือนการให้หน่วยงานของรัฐเข้าไปดูแลใกล้ชิด รวมทั้งอาจหามาตรการในการช่วยลดราคาหรือสนับสนุนการใช้จ่ายกลุ่มสินค้าและบริการดังกล่าวได้
น.ส.พิมพ์ชนกกล่าวว่า ผลการสำรวจดัชนีราคาผู้บริโภคกลุ่มแรงงานที่ผ่านมา พบว่าในช่วง 6 เดือนปี 2563 (ม.ค.-มิ.ย.) ลดลง 0.81% โดยพบผู้บริโภคกลุ่มแรงงานมีพฤติกรรมการบริโภคที่แตกต่างจากผู้บริโภคกลุ่มทั่วไป จะใช้เงินในการบริโภคหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะกลุ่มอาหารสำเร็จรูป และหมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า มากกว่าหมวดพาหนะ การขนส่ง และการสื่อสาร กล่าวคือ ค่าใช้จ่ายในหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์มีสัดส่วนเกือบครึ่งหนึ่งของค่าใช้จ่ายทั้งหมด คิดเป็น 42.06% ในขณะที่ผู้บริโภคกลุ่มทั่วไปมีสัดส่วนค่าใช้จ่ายหมวดนี้ที่ 36.70% สำหรับหมวดที่ผู้บริโภคกลุ่มแรงงานมีการใช้จ่ายรองลงมา ได้แก่ หมวดเคหสถานและหมวดพาหนะ การขนส่ง และการสื่อสาร คิดเป็น 20.41% และ 17.39% ตามลำดับ และหมวดอื่นๆ อีก 4 หมวด คือ หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล หมวดการบันเทิง การอ่าน การศึกษา และศาสนา และหมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ มีค่าใช้จ่ายเพียง 20.14%
ขณะที่ผลสำรวจดัชนีราคาปัจจัยสี่ พบว่าไตรมาสที่ 3 ของปี 2563 ลดลง 1.27% ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (เงินเฟ้อ) หดตัว 0.73% เมื่อจำแนกรายภาค พบว่ามีการลดลงในทุกภาค โดยภาคใต้ ลดลงมากที่สุด 2.25% รองลงมาได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ลด 1.64% ภาคกลาง ลด 1.32% ภาคเหนือ ลด 1.07% กรุงเทพฯ และปริมณฑล ลดลงน้อยที่สุด 0.97% โดยมีปัจจัยหลักที่ทำให้ดัชนีลดลงในทุกภาค จากราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าไฟฟ้า ค่าประปา ผลไม้ ในขณะที่ปัจจัยที่ทำให้สูงขึ้น ได้แก่ เนื้อสัตว์และไข่ และเครื่องประกอบอาหาร เป็นสำคัญ
ทั้งนี้ ดัชนีราคาปัจจัยสี่จะเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกันกับเงินเฟ้อ แต่จะเปลี่ยนแปลงมากกว่าเพราะสินค้าสำคัญในตะกร้าที่นำมาคำนวณมีการขึ้นลงแรงกว่า เช่น น้ำมัน อาหาร ทั้งนี้ สินค้าที่นำมาคำนวณในดัชนีราคาปัจจัยสี่แบ่งเป็น 4 หมวด ได้แก่ หมวดอาหารและเครื่องดื่ม หมวดเคหสถาน หมวดยา ของใช้ และบริการส่วนบุคคล และหมวดการขนส่งและการสื่อสาร ประกอบด้วยรายการสินค้าและบริการ จำนวน 111 รายการ มีสัดส่วนค่าใช้จ่ายประมาณ 66% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมดในตะกร้าเงินเฟ้อปัจจุบัน
ดัชนีทั้ง 2 ชุดจะมีการเผยแพร่เป็นรายไตรมาส โดยข้อมูลนำมาจากการสำรวจราคาทั่วประเทศจาก 44,804 แหล่งในแต่ละเดือนที่ สนค.ดำเนินการอยู่เพื่อจัดทำดัชนีเงินเฟ้ออยู่แล้ว โดยได้คัดเลือกรายการและตัวอย่างมาคำนวณและปรับน้ำหนักเพื่อให้ถูกต้องตามหลักวิชาการทำดัชนี เป็นการใช้ประโยชน์จาก Big Data ด้านราคาที่มีอยู่แล้วเพื่อให้การวิเคราะห์ข้อมูลเป็นประโยชน์แก่ประชาชนทั่วไปเพิ่มขึ้นกว่าปัจจุบัน