อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายปัญหารุมเร้า แม้ข่าวดีราคาอ้อยขั้นต้นฤดูหีบปี 63/64 มีโอกาสลุ้น 800-900 บาทต่อตันหลังราคาตลาดโลกเริ่มขยับ แต่ข่าวร้ายที่ผลผลิตอ้อยปีนี้จะยังคงลดต่ำลงอีกคาดการณ์เฉลี่ยได้แค่ 67 ล้านตัน ขณะที่โรงงานที่มีถึง 58 แห่ง จับตาปัญหาพัลวันโรงงานเลื่อนส่งมอบน้ำตาลฤดูเก่าหลังทำสัญญาไว้เกินปริมาณน้ำตาลที่ได้จริง เล็งขอดึง “อนท.” มาบริหารส่งมอบแทน
แหล่งข่าวจากคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) เปิดเผยว่า แนวโน้มราคาอ้อยขั้นต้นฤดูหีบปี 2563/64 มีโอกาสที่จะอยู่ในระดับเฉลี่ย 800-900 บาทต่อตัน หลังราคาน้ำตาลทรายดิบตลาดโลกเฉลี่ยขยับเพิ่มสูงมาอยู่ในระดับ 14-15 เซ็นต์ต่อปอนด์เนื่องจากสต๊อกน้ำตาลโลกลดลง ซึ่งปัจจัยหนึ่งที่สำคัญคือผลผลิตของไทยในฤดูหีบดังกล่าวมีทิศทางปรับลดลงต่อเนื่องจากผลกระทบภัยแล้ง โดยจากการประเมินของทั้งจากรัฐ โรงงาน และชาวไร่อ้อยแล้วเฉลี่ยจะอยู่ที่เพียง 67 ล้านตันเท่านั้น
“ขณะนี้บริษัทอ้อยและน้ำตาลทรายไทย จำกัด (อนท.) ซึ่งบริหารน้ำตาลทรายดิบส่งออก 8 แสนตัน ได้จำหน่ายน้ำตาลล่วงหน้าฤดูหีบใหม่แล้ว 15% ราคาเฉลี่ยทำได้ 16 เซ็นต์ต่อปอนด์ หากทำราคาระดับนี้ก็จะมีโอกาสเห็นราคาอ้อยขั้นต้น 800-900 บาทต่อตัน แต่ก็ยอมรับว่าผลผลิตปีนี้แม้ว่าฝนจะมีเข้ามาแต่เป็นท้ายฤดูเพาะปลูกจึงยังคงกระทบให้ปริมาณอ้อยลดต่ำซึ่งชาวไร่อ้อยส่วนใหญ่ประเมินว่าจะไม่ถึง 60 ล้านตันด้วยซ้ำไปจึงต้องติดตามใกล้ชิด ซึ่งปริมาณดังกล่าวหากมีการเปิดหีบยอมรับว่าระยะเวลาหีบของโรงงานที่จะมีโรงงานเพิ่มอีก 1 แห่งเป็นทั้งสิ้น 58 แห่งจะใช้เวลาหีบเพียง 45 วันก็อาจปิดหีบ” แหล่งข่าวกล่าว
ทั้งนี้ ปัญหาผลผลิตอ้อยที่ลดต่ำต่อเนื่อง ขณะนี้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งโรงงานน้ำตาล ชาวไร่อ้อย และหน่วยงานรัฐกำลังหาทางออกถึงปัญหาการส่งมอบน้ำตาลทรายตามสัญญาเก่าฤดูหีบปี 2562/63 ที่โรงงานน้ำตาลหลายแห่งต้องเลื่อนการส่งมอบเนื่องจากโรงงานได้ทำสัญญาขายน้ำตาลเกินปริมาณน้ำตาลที่ผลิตได้จริงเพราะไม่คาดคิดว่าอ้อยจะลดลงไปมาก โดยโรงงานน้ำตาลได้มีข้อเสนอที่จะขอรับซื้อน้ำตาลทรายดิบจาก อนท.ที่มีน้ำตาลบริหาร 8 แสนตัน อย่างไรก็ตาม แม้ว่าชาวไร่อ้อยบางส่วนจะไม่ขัดข้องแต่การดำเนินงานดังกล่าวจะขัดต่อระเบียบที่กำหนดไว้ ดังนั้นจำเป็นต้องแก้ไขระเบียบซึ่งต้องใช้เวลานาน
“ระเบียบกำหนดให้ อนท.ส่งออกโดยตรงไม่ได้กำหนดให้ผ่านโรงงานแล้วค่อยส่งออก ซึ่งจะต้องแก้ไขระเบียบดังกล่าวที่คงจะไม่ทันการณ์ก็ต้องมาหาทางออกกัน ส่วนน้ำตาลทรายบริโภคในประเทศนั้นยืนยันว่าไม่ขาดแคลนเพราะเป็นน้ำตาลทรายขาวที่ได้เตรียมสำรองไว้แล้วจึงขออย่ากักตุน” แหล่งข่าวกล่าว
ทั้งนี้ ผลผลิตอ้อยฤดูหีบปี 62/63 ที่ผ่านมาลดลงอย่างหนักจากวิกฤตภัยแล้ง โดยมีผลผลิตอ้อยเพียง 74.89 ล้านตัน มีผลผลิตน้ำตาลทราย 8.27 ล้านตัน เมื่อเทียบกับฤดูหีบปี 61/62 พบว่าอ้อยลดลง ถึง 56.08 ล้านตัน (ผลผลิตอยู่ที่ 130.97 ล้านตัน) ขณะที่น้ำตาลทรายลดลง 6.31 ล้านตัน (ผลผลิตที่ 14.58 ล้านตัน) ส่งผลให้โรงงานน้ำตาลได้ทำการขายน้ำตาลทรายล่วงหน้าเพื่อการส่งออกเกินปริมาณน้ำตาลที่มีอยู่จริงทำให้ต้องเลื่อนสัญญาส่งมอบ และหากไม่สามารถนำน้ำตาลจาก อนท.มาส่งมอบก่อนได้ก็คงจะต้องเจรจาเลื่อนออกไปและชะลอจนกว่าจะมีการเปิดหีบฤดูใหม่ปี 2563/64 ที่จะเปิดในช่วงสิ้นปีนี้ แต่ผลผลิตที่มีทิศทางลดลงก็ส่งผลให้โรงงานน้ำตาลส่วนใหญ่ยังชะลอการตัดสินใจทำสัญญาซื้อขายน้ำตาลล่วงหน้า
“กอน.เองก็ยังประชุมไม่ได้เพราะมีกรรมการ 2 คนหมดวาระต้องรอแต่งตั้ง ขณะที่ปัญหาหลายด้านก็ไม่ชัด ทั้งราคาอ้อยที่ยังไม่รู้ว่ารัฐจะช่วยเหลือปัจจัยการผลิตหรือไม่อย่างไร เรื่องเป้าหมายอ้อยไฟไหม้ให้เหลือ 20% ซึ่งนับตั้งแต่ลอยตัวน้ำตาลส่งผลกระทบหลายด้านเกี่ยวกับการบริหารจัดการที่ไม่พร้อม” แหล่งข่าวกล่าว