xs
xsm
sm
md
lg

ทช.-ทล. MOU เอกชน ร่วมศึกษาวิจัยรีไซเคิลพลาสติกเหลือใช้ผสมแอสฟัลต์ปูผิวถนน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ทช.-ทล.จับมือ SCG มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ บ.ดาว ทำ MOU ศึกษาวิจัยและพัฒนานำพลาสติกเหลือใช้มาเป็นส่วนผสมในแอสฟัลต์คอนกรีตสำหรับงานก่อสร้างถนน ลดปัญหาขยะ ทช.ทดลองนำร่องปูผิวถนนสาย สบ.1004 แก่งคอย ผลทดสอบแข็งแรงน่าพอใจ

วันนี้ (7 ต.ค. 63) กรมทางหลวงชนบท (ทช.) กรมทางหลวง (ทล.) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCG และกลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “โครงการศึกษาพัฒนาการใช้ประโยชน์จากพลาสติกเหลือใช้ เพื่อนำมาเป็นส่วนผสมในแอสฟัลต์คอนกรีตสำหรับงานทาง” (MOU SIGNING EVENT PROPOSAL)
ซึ่งเป็นความร่วมมือด้านวิชาการ ทรัพยากร และการบริหารจัดการที่ภาคเอกชน ในการนำประสบการณ์และองค์ความรู้จากการวิจัยและพัฒนาการทำถนนพลาสติกรีไซเคิลที่ได้ริเริ่มมาตั้งแต่ปี 2561 ผ่านกระบวนการทดสอบตามมาตรฐานในห้องปฏิบัติการ และใช้งานจริงในพื้นที่ของภาคเอกชนต่างๆ เช่น นิคมอุตสาหกรรมอาร์ ไอ แอล จ.ระยอง และนิคมอุตสาหกรรม อมตะซิตี้ ชลบุรี เป็นต้น มาใช้ศึกษาและพัฒนาโครงการนี้

โดยกรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบทได้เข้ามาร่วมศึกษาและสนับสนุนการจัดทำมาตรฐานการนำพลาสติกเหลือใช้มาเป็นส่วนผสมในแอสฟัลต์คอนกรีต ซึ่งหากโครงการฯ สำเร็จจะสามารถขยายผลไปสู่การทำถนนได้จริง ช่วยส่งเสริมการบริหารจัดการขยะ โดยเฉพาะพลาสติกได้อย่างยั่งยืนตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน

ทั้งนี้ ถนนจากพลาสติกรีไซเคิลความยาว 1 กิโลเมตร ที่มีหน้ากว้างถนน 6 เมตร จะสามารถนำขยะพลาสติกไปใช้ประโยชน์ได้ถึงประมาณ 3 ตัน หรือเท่ากับถุงพลาสติกเกือบ 900,000 ใบ ปัจจุบันเอสซีจี และกลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย ได้ร่วมกับภาคเอกชนทำถนนแอสฟัลต์คอนกรีตต้นแบบที่มีพลาสติกเหลือใช้เป็นส่วนผสม รวมความยาวถนน 7.7 กิโลเมตร สามารถนำพลาสติกเหลือใช้หมุนเวียนกลับมาสร้างคุณค่าได้รวม 23 ตัน

นายปฐม เฉลยวาเรศ อธิบดีกรมทางหลวงชนบท กล่าวว่า สำนักวิเคราะห์วิจัยและพัฒนาของ ทช.ได้ร่วมทำงานแบบบูรณาการในการศึกษา วิจัย และพัฒนาการใช้ประโยชน์จากพลาสติกเหลือใช้ (ขยะพลาสติก) ภายใต้ข้อแนะนำของผู้เชี่ยวชาญทางการศึกษาอย่างมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดย ทช.ได้ทำการทดลองนำขยะประเภทพลาสติกที่ใช้แล้วมาผสมในแอสฟัลต์คอนกรีตในอัตราส่วนเหมาะสมร้อยละ 8 และ 10 ของน้ำหนักแอสฟัลต์ซีเมนต์ ในห้องปฏิบัติการซึ่งมีผลเป็นที่น่าพอใจ

จึงได้นำร่องทดลองปูผิวถนนพลาสติกแอสฟัลต์ในพื้นที่จริงบนถนนทางหลวงชนบทสาย สบ.1004 อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี เพื่อศึกษาคุณสมบัติในการต้านทานต่อการเกิดร่องล้อหรือการต้านทานต่อการยุบตัวของผิวถนนพลาสติกแอสฟัลต์ ภายใต้สภาวะแวดล้อมจริงที่มีน้ำหนักรถบรรทุกหรือแรงกระทำซ้ำๆ กันของปริมาณการจราจรการใช้งานจริงของรถยนต์ขนาดต่างๆ โดยเฉพาะรถบรรทุกขนาดใหญ่และมีการติดตามผลเป็นระยะๆ ซึ่งผลทดสอบในเบื้องต้นพบว่าผิวถนนพลาสติกแอสฟัลต์มีความแข็งแรง ทนต่อสภาวะแวดล้อมได้ดีและเป็นไปตามมาตรฐานสากล

“เอ็มโอยูนี้มีผลบังคับใช้เป็นระยะเวลา 2 ปี มีวัตถุประสงค์ความร่วมมือเพื่อให้เกิดเป็นนวัตกรรมที่จะสร้างมาตรฐานในการก่อสร้างและบำรุงรักษาถนนในอนาคต ที่สามารถลดปริมาณการใช้แอสฟัลต์ และสามารถนำขยะพลาสติกมารีไซเคิลในการก่อสร้างถนนได้ เพื่อให้มีความคุ้มค่า ช่วยลดขยะพลาสติกตกค้าง เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม”


กำลังโหลดความคิดเห็น