xs
xsm
sm
md
lg

คพ.ย้ำอีก! โควิด ทำขยะพลาสติกพุ่ง 2.75 เท่า ‘เดลิเวอรี่’ ดันปริมาณใช้พลาสติก 11 ชิ้นต่อครั้ง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ตอกย้ำถึงปัญหาขยะพลาสติกมีปริมาณเพิ่มขึ้นจากพฤติกรรมผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังไม่ได้เปลี่ยนแปลง ขณะที่การแพร่ระบาดของโควิด-19 กลายเป็นปัจจัยสนับสนุนให้คนใช้ถุงพลาสติกมากขึ้น เพราะต้องการเว้นระยะห่าง หลีกเลี่ยงการติดต่อกันอย่างใกล้ชิด


“ถุงพลาสติกในประเทศไทยมีทั้งสิ้น 4.5 หมื่นล้านใบต่อปี สัดส่วน 40% มาจากตลาดสด-แผงลอยมีอยู่ 1 พันล้านใบ รองลงมาห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อจำนวน 1.35 หมื่นล้านใบ คิดเป็น 30% และร้านขายของชำอีก 30% ซึ่งในช่วงโควิด-19 (มกราคม–มีนาคม) ประชาชนใช้บริการส่งอาหารออนไลน์เพิ่มขึ้น 40% ส่งผลให้ภาพรวมปริมาณขยะพลาสติกเพิ่มขึ้น 2.75 เท่า”

ปรีญาพร สุวรรณเกษ รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ข้อมูลผ่านการเสวนาออนไลน์ “Plastic Bags: From Pollution to Solutions” จัดโดย IPPD (สถาบันนโยบายสาธารณะและการพัฒนา มูลนิธิพระยาสุริยานุวัตร)

เธอเล่าว่าปัญหาขยะพลาสติกเกิดขึ้นตามการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 (มกราคม–มีนาคม) ทั้งๆ ที่กรมควบคุมมลพิษได้ดำเนินการเรื่องการจัดการพลาสติกภายใต้คณะทำงานสนับสนุนการบริหารจัดการพลาสติกจำนวน 3 คณะ ได้แก่ ด้านการส่งเสริมกลไกในการจัดการ ด้านการรณรงค์ และด้านการพัฒนาเพื่อใช้ประโยชน์จากพลาสติก โดยทั้ง 3 คณะเริ่มดำเนินการอย่างเป็นทางการด้วยการรณรงค์ให้ร้านค้างดแจกถุงพลาสติกตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563

เมื่อเดือนมกราคม–มีนาคม 2563 ขยะพลาสติกทั่วประเทศเพิ่มขึ้น 15% จากปกติ 5,500 ตันต่อวัน เป็น 6,300 ตันต่อวัน ส่วนเดือนเมษายน 2563 กทม. มีปริมาณขยะพลาสติก 3,432 ตันต่อวัน เพิ่มขึ้น 1,317 ตันต่อวัน คิดเป็น 62% เมื่อเทียบกับปี 2562

นอกจากนี้ กรมควบคุมมลพิษสำรวจอัตราขยะที่มาจากพลาสติกเดลิเวอรี่ พบว่าในช่วงโควิด-19 จะมีปริมาณการใช้มากถึง 11 ชิ้นต่อคนต่อครั้ง ขณะที่ช่วงปกติอยู่ที่ 5 ชิ้นต่อคนต่อครั้ง

จากสถานการณ์การเพิ่มขึ้นของขยะพลาสติกดังกล่าวทำให้กรมควบคุมมลพิษมุ่งเน้นเรื่องการรณรงค์การลดการใช้ถุงพลาสติกผ่านสื่อต่างๆ รวมถึงสร้างความร่วมมือกับผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอรี่ และคาดว่าจะลงนามในความร่วมมือกับบรรดาเดลิเวอรี่ในเร็วๆ นี้

“ภาครัฐฝ่ายเดียวคงทำไม่สำเร็จ อย่างไรก็ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน แต่ภาครัฐจะเป็นต้นแบบในการเลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว เช่น หน่วยงานต่างๆ ของภาครัฐก็จะต้องมีมาตรการคัดแยกขยะมูลฝอยเพื่อเป็นต้นแบบ ส่วนผู้ประกอบการก็ต้องมีส่วนร่วมในการจัดการด้วยเช่นกัน” 

ผู้บริโภคส่วนมาก เลือกเอาความสะดวกมาก่อนความตระหนักต่อสิ่งแวดล้อม สะท้อนถึงการรณรงค์ให้ผู้บริโภคลดใช้พลาสติกเป็นเรื่องที่ยากนัก


กำลังโหลดความคิดเห็น