ทช.เตรียมทีโออาร์ พร้อมเปิดประมูล 8 โครงการใหญ่ปี 64 วงเงินเกือบ 6 พันล้าน คาด ธ.ค.เซ็นรับเหมา เร่งเบิกจ่ายงบกระตุ้นศก. เผย “โควิด-เคอร์ฟิว” กระทบไซต์งานขาดแรงงาน รับเหมาร้องขยายเวลา
นายปฐม เฉลยวาเรศ อธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) เปิดเผยว่า ในปีงบประมาณ 2564 ทช.มีโครงการขนาดใหญ่ที่จะเปิดประมูลจำนวน 8 โครงการ งบประมาณรวม 5,988.83 ล้านบาท ซึ่งอยู่ระหว่างจัดทำทีโออาร์และประเมินราคา คาดว่าจะเปิดประมูลและได้ตัวผู้รับจ้างลงนามสัญญาได้ในเดือนธ.ค. 2563 ซึ่งเป็นงานที่ผูกพันงบประมาณ 2-3 ปี โดยปีแรกจะมีสัดส่วนวงเงินราว 20% ของมูลค่าโครงการ
โดย 8 โครงการ ได้แก่ 1. ถนนสายแยก ทล.3452-สี่แยกบ้านสร้าง อ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี (ตอนที่ 1) ระยะทาง 7.2 กม. งบประมาณ 900 ล้านบาท ดำเนินการ 3 ปี (64-66) เป็นถนนขนาด 2 ช่องจราจร
2. ถนนสายแยก ทล.3452-สี่แยกบ้านสร้าง อ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี (ตอนที่ 2) ระยะทาง 18.456 กม. งบประมาณ 900 ล้านบาท ดำเนินการ 3 ปี (64-66)
3. ถนนสาย สป.4002 แยก ทล.3344-บ.บางพลีใหญ่ อ.เมือง, บางพลี จ.สมุทรปราการ ระยะทาง 8.192 กม. งบประมาณ 793.4 ล้านบาท ดำเนินการ 3 ปี (64-66) ขนาด 4 ช่องจราจร
4. ถนนสายแยก ทล.1020-บ.กิ่วแก้ว อ.เทิง, จุน จ.เชียงราย, พะเยา ระยะทาง 43.709 กม. ระยะทาง 43.709 กม. งบประมาณ 1,200 ล้านบาท ดำเนินการ 3 ปี (64-66) ขนาด 2 ช่องจราจร
5. ถนนสาย มห.3019 แยก ทล.212-บ.บางทรายใหญ่ อ.เมือง จ.มุกดาหาร ระยะทาง 14.211 กม. งบประมาณ 804.33 ล้านบาท ดำเนินการ 3 ปี (64-66) ขนาด 4-6 ช่องจราจร
6. ถนนสาย ข 1 ผังเมืองรวมเมืองสมุทรปราการ จ.สมุทรปราการ ระยะทาง 1.925 กม. งบประมาณ 158.1 ล้านบาท ดำเนินการ 3 ปี (64-66) ขนาด 4 ช่องจราจร
7. ถนนสาย ข 9, ค 3 ผังเมืองรวมชุมชนโคกกลอย-ท้ายเหมือง จ.พังงา ระยะทาง 4.229 กม. งบประมาณ 330 ล้านบาท ดำเนินการ 3 ปี (64-66) ขนาด 4 ช่องจราจร
8. โครงการขยายถนนชัยพฤกษ์ จ.นนทบุรี ระยะทาง 12 กม. งบประมาณ 903 ล้านบาท ดำเนินการ 3 ปี (64-66) ขยายจาก 6 ช่องจราจรเป็น 10 ช่องจราจรเต็มโครงการ (Ultimate Stage)
นอกจากนี้ ในปี 2564 ทช.ยังมีโครงการก่อสร้างต่างๆ รวมกว่า 5,000 สัญญา ที่ทยอยเตรียมความพร้อมในการเปิดประมูลอีกด้วย
สำหรับปี 2563 นั้น ทช.ได้รับงบกว่า 4.8 หมื่นล้านบาท สามารถเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณได้กว่า 80% แม้จะมีช่วงเวลาในการดำเนินการค่อนข้างน้อย โดยเป็นหน่วยงานของกระทรวงคมนาคมที่เบิกจ่ายงบได้สูงสุด
ทั้งนี้ ยอมรับว่าสถานการณ์โรคโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อการก่อสร้างงานต่างๆ เนื่องจากผู้รับเหมา ใช้แรงงานต่างชาติเป็นหลัก ซึ่งหลังจากมีประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ตั้งแต่ 26 มี.ค. 63 เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด ทำให้แรงงานต่างด้าวบางส่วนเดินทางกลับประเทศไป และยังไม่สามารถกลับเข้ามาได้ รวมถึงประกาศเคอร์ฟิวที่ทำให้ดำเนินการขนส่งวัสดุก่อสร้างไม่ได้ ซึ่งมีผู้รับเหมาขอสงวนสิทธิ์ขยายเวลาก่อสร้างประมาณ 3-5 เดือน
อย่างไรก็ตาม กรมฯ จะพิจารณารายละเอียดของแต่ละสัญญาว่าได้รับผลกระทบแค่ไหน เช่น จำนวนแรงงานต่างด้าวที่ออกไปแล้วยังไม่กลับมา และมีการแก้ปัญหาอย่างไร ต้องมีเหตุมีผล ก่อนที่จะขยายเวลา ซึ่งในทางปฏิบัติ ผู้รับเหมาส่วนใหญ่จะพยายามเร่งรัดงานอย่างเต็มที่เพื่อให้งานเสร็จตามกำหนด และเบิกค่างานได้ แต่หากทำงานไม่ทันจริงๆ จึงจะขอใช้สิทธิ์เรื่องขยายเวลา