การตลาด - ทีเส็บเร่งเครื่องปลุกตลาดไมซ์หลังปรับลดเป้าหมาย-รายได้ไปแล้วเพราะโควิด-19 ฟาดหางรุนแรง เผยโครงการกระตุ้นจัดงานไมซ์ในประเทศมาแรง รัฐและเอกชนแห่ยื่นความจำนงแล้ว 428 กลุ่ม พร้อมผนึกท้องถิ่นทำตลาดแบบเฉพาะเจาะจง นำร่อง “ไมซ์กลางเล เฮไปสมุย”
ความพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวมหลังจากที่เกิดสถานการณ์โควิด-19 ระบาดอย่างหนักในช่วงที่ผ่านมาของทีเส็บ หรือสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) ที่เป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญทั้งในตลาดประเทศไทยเองและตลาดต่างประเทศ ในการสร้างเม็ดเงินหมุนเวียน ก็มีการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง
เพราะทีเส็บ คือแม่งานสำคัญในการสร้างรายได้และสร้างงานในอุตสาหกรรมไมซ์ที่สำคัญ
ต้องยอมรับว่าเพราะโควิด-19 ส่งผลกระทบไปทั่ว ธุรกิจไมซ์ก็โดนหางเลขไปเต็มๆ ด้วย โดยเฉพาะตลาดไมซ์จากต่างประเทศชะงักเป็นศูนย์เหมือนตลาดในประเทศ แต่ตลาดในประเทศยังโชคดีที่พอเริ่มจะกลับมาได้บ้าง
ก่อนหน้านี้ ทีเส็บต้องปรับเป้าหมายตัวเลขของตลาดไมซ์ต่างประเทศใหม่ของปีงบประมาณเดิม 2563 ลดลงมาเหลือประมาณ 476,800 คน ลดลง 66% จากเป้าหมายเดิมที่ประมาณ 1,386,000 คน ขณะที่เป้าหมายรายได้ที่ปรับใหม่นั้นเหลือ 29,820 ล้านบาท ลดลง 72% จากเป้าหมายเดิมที่สูงถึง 105,600 ล้านบาท
ทั้งนี้ ยอดจำนวนของนักเดินทางไมซ์ต่างประเทศ รวม 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2563 (ตุลาคม 2562-มีนาคม 2563) มีประมาณ 470,000 คน สร้างรายได้ประมาณ 29,000 ล้านบาท
ส่วนหากดูตัวเลขเฉพาะไตรมาสที่ 2 ของปีงบประมาณ 2563 (มกราคม-มีนาคม 2563) ที่เป็นช่วงสถานการณ์โรคโควิด-19 แพร่ระบาดอย่างหนักทั่วโลก พบว่ามีนักเดินทางไมซ์ต่างประเทศเข้าไทยประมาณ 170,000 คน ลดลงมากถึง 50% จากเดิมที่มีประมาณ 350,000 คนช่วงไตรมาสเดียวกันปีงบประมาณที่แล้ว ส่วนรายได้ไมซ์จากต่างประเทศมีประมาณ 10,000 ล้านบาท ลดลงมากกว่า 50% จาก 26,000 ล้านบาทของไตรมาสเดียวกันปีงบประมาณที่แล้ว
นายจิรุตถ์กล่าวก่อนหน้านี้ว่า ทีเส็บต้องปรับลดเป้าหมายจำนวนและรายได้ตลาดนักเดินทางกลุ่มไมซ์ (MICE) คือ กลุ่มจัดประชุม กลุ่มสัมมนา, กลุ่มท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล และกลุ่มแสดงสินค้า ทั้งตลาดไมซ์ต่างประเทศและในประเทศของปีงบประมาณ 2563 ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2562-กันยายน 2563 ลดลงไป 70% เมื่อเทียบกับเป้าเดิมของปีงบประมาณ2563 เพราะสถานการณ์โควิด-19 เป็นเหตุผลสำคัญ
*** เผย 428 กลุ่มแห่ร่วม “ประชุมเมืองไทย ปลอดภัยกว่า”
ตลาดในประเทศจึงเป็นเป้าหมายแรกหลักก่อนที่สามารถทำได้ในขณะนี้ ดังนั้นหลายโครงการ หลายแคมเปญ และหลายมาตรการ ที่ระดมออกมาใช้นั้นมีนัยที่น่าสนใจอย่างมาก ล่าสุดกับโครงการ “ประชุมเมืองไทย ปลอดภัยกว่า” ที่เปิดตัวไปไม่นานนี้ก็เริ่มที่จะออกดอกออกผลให้เห็นบ้างแล้ว
“โครงการ “ประชุมเมืองไทย ปลอดภัยกว่า” ของทีเส็บ เพื่อกระตุ้นการจัดกิจกรรมไมซ์ ที่เริ่มต้นเมื่อ 1 กรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมาได้รับความสนใจอย่างสูง ในขณะนี้มีกิจกรรมยื่นเสนอรับการสนับสนุนมาแล้วมากถึง 428 กลุ่ม จากทั้งภาครัฐและเอกชน” เป็นคำกล่าวของ นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือทีเส็บ
ในภาวะโควิด-19 องค์กรเหล่านี้เข้าใจดีว่าเป็นโอกาสในการพัฒนาตนเอง จึงใช้กิจกรรมไมซ์มาช่วยในการพัฒนาองค์กร เป็นการเตรียมพร้อมสำหรับหลังโควิด-19 และทีเส็บเองก็ยินดีมากที่พบว่าไมซ์ซิตี้ได้รับความนิยม เราพบว่ากิจกรรมที่เสนอมานั้นส่วนมากจะอยู่ในไมซ์ซิตี้ทั้งกรุงเทพฯ เชียงใหม่ ขอนแก่น สงขลา ตรงตามวัตถุประสงค์ในการกระจายโอกาสจัดงานไมซ์ออกไปให้ทั่วประเทศ”
ทีเส็บยังมีการประเมินในเบื้องต้นด้วยว่า จำนวนงานทั้ง 428 กลุ่มที่จะเกิดขึ้นนี้ คาดว่าจะทำให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 38 ล้านบาท ภายในเดือนธันวาคม 2563 นี้เลยทีเดียว
ทั้งนี้ เงื่อนไขการสนับสนุนที่ทีเส็บวางไว้ แบ่งเป็น 2 รูปแบบ คือ 1. สนับสนุนงบประมาณในรูปแบบบัตรกำนัล (Voucher) ไม่เกิน 15,000 บาทต่อกลุ่ม สำหรับการจัดกิจกรรมเป็นเวลา 1 วัน (ไม่น้อยกว่า 6 ชั่วโมง) และ 2. สนับสนุนงบประมาณในรูปแบบบัตรกำนัล (Voucher) ไม่เกิน 30,000 บาทต่อกลุ่ม สำหรับการจัดกิจกรรมอย่างน้อยเป็นเวลา 2 วัน 1 คืน ทั้งนี้ สามารถจัดกิจกรรมนอกสถานที่ตั้งขององค์กรภายในจังหวัดหรือข้ามจังหวัด และมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมไม่น้อยกว่า 30 คนต่อกลุ่ม โดยขอรับการสนับสนุนได้ตั้งแต่วันนี้ จนถึงวันที่ 31 ต.ค. 2563 และจะต้องยื่นขอรับการสนับสนุนล่วงหน้า 10 วันก่อนเริ่มดำเนินกิจกรรม และจัดกิจกรรมให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 31 ธ.ค. 2563
*** ปลุกไมซ์ภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย
ทีเส็บยังมีการทำงานในเชิงลึกแบบรายพื้นที่ด้วย
ล่าสุดทีเส็บยกระดับการทำงานกระตุ้นการจัดงานไมซ์ในพื้นที่ภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย โดยผนึกกำลัง 5 ภาคีรัฐและเอกชน อำเภอเกาะสมุย / เทศบาลนครเกาะสมุย / สมาคมโรงแรมไทยภาคใต้ฝั่งตะวันออก / สภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจังหวัดสุราษฎร์ธานี และสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวเกาะสมุย
“ภาคใต้ มีหลายจังหวัดที่มีความพร้อมพื้นฐานในการที่จะได้รับการพัฒนาเพื่อยกระดับสู่ไมซ์ซิตี้ มีความหลากหลายและเสน่ห์ของแต่ละเมือง เช่น สุราษฎร์ธานี และเกาะสมุย มีจุดเด่น 5 ด้านของเมือง คือเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวระดับโลก เดินทางเชื่อมโยงกับพื้นที่อื่นๆ สะดวก เป็นแหล่งเรียนรู้ชุมชนและวัฒนธรรมที่หลากหลาย เป็นศูนย์รวมสถาบันการศึกษาและมหาวิทยาลัยของภาคใต้ตอนบน พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกทั้งโรงแรมที่มีห้องประชุมขนาดใหญ่หลายแห่งรองรับได้ถึง 2,500 คน สถานที่จัดงานสัมมนาและงานแสดงสินค้าที่รองรับกลุ่มผู้ร่วมงานขนาดใหญ่ได้ถึง 10,000 คน” นายจิรุตถ์กล่าวถึงศักยภาพของภาคใต้
นี่จึงเป็นที่มาของการเกิด “ไมซ์กลางเล เฮไปสมุย”
โดยเกิดจากกลยุทธ์ City Co-Creation ผสานความร่วมมือกับผู้ประกอบการไมซ์ในท้องถิ่น เช่น กรณีเกาะสมุยมีกว่า 300 บริษัทเข้ามาร่วมหาแนวทางเจาะตลาดลูกค้าไมซ์ ซึ่งจะพัฒนาสินค้ายึดโยงอัตลักษณ์ 7 วิถี แบบ Thailand 7 MICE Themes ซึ่งประกอบด้วย
1. วิถีผจญภัย (Exhilarating Adventures) ชูกีฬาทางน้ำ เปิดประสบการณ์ใหม่กับการพายเรือแพดเดิลบอร์ดที่เป็นที่นิยม / กิจกรรมเดินป่าบนเส้นทางธรรมชาติ Samui Safari
2. วิถีชวนกิน (Culinary Journeys) ผ่านการนำเสนอเรื่องราวของอาหารถิ่น วิถีชนคนสมุย ที่สามารถรองรับการจัดงานไมซ์ที่หลากหลายได้ เช่น บ้าน 158 ปี / บ้านสวนลางสาด บรรยากาศแบบบ้านสวนสมุย บริการเมนูอาหารพื้นบ้านหลายเมนู ท่ามกลางสวนผลไม้นานาชนิด และผักสวนครัวปลอดสารพิษมากมาย
3. วิถีเรียนรู้และอนุรักษ์ (CSR and Green Meetings) ผ่านการร่วมกิจกรรมซีเอสอาร์ เพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรในพื้นที่ของจังหวัดและชุมชน เช่น กิจกรรมอนุรักษ์ปะการัง หรือกิจกรรมอนุรักษ์ป่าชายเลน
4. วิถีประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม (Fascinating History and Culture) ผ่านการสัมผัส และเยี่ยมชมประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของเกาะสมุย อย่าง ชุมชนชาวจีน มุสลิม แหล่งกำเนิดชาวสมุยบริเวณชุมชนหัวถนน การแสดงพื้นบ้าน หรือท่องเที่ยวชมประวัติศาสตร์ของเกาะสมุยที่หมู่บ้านชาวประมง หาดบ่อพุด
5. วิถีร่วมพลัง (Treasured Team Building) ผ่านการสร้างสรรค์กิจกรรมสานสัมพันธ์โดยใช้การละเล่น หรือกีฬาประจำถิ่นมาเป็นเครื่องมือสร้างกิจกรรมของกลุ่มไมซ์
6. วิถีลักชัวรี (Lavish Luxury) ผ่านการสัมผัสประสบการณ์สุดเอ็กซ์คลูซีฟ จัดกิจกรรมไมซ์บนเรือคาตามารันสุดหรู
7. วิถีบีช (Beach Bliss) ผ่านความครบเครื่องของกิจกรรมริมชายหาด จัดงานเลี้ยงต้อนรับ หรือ Theme Dinner ริมชายหาด
“โครงการ ประชุมเมืองไทย ปลอดภัยกว่า มุ่งเน้นให้หน่วยงานรัฐและเอกชนร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจและกระจายรายได้ไปยังชุมชนในภูมิภาคต่างๆ ผ่านการจัดประชุมสัมมนาในประเทศ โดยทีเส็บสนับสนุนงบประมาณบางส่วนในการจัดงานให้แก่องค์กร บริษัท และผู้ประกอบการไมซ์”
นายจิรุตถ์กล่าวว่า กรณีการจัดงานไมซ์ผ่านแนวคิด “ไมซ์กลางเล เฮไปสมุย” ในครั้งนี้เป็นโปรแกรมตัวอย่างให้แก่องค์กร บริษัท และผู้ประกอบการไมซ์ที่วางแผนจะจัดงานไมซ์ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี และเกาะสมุย โดยให้การสนับสนุน 2 รูปแบบ คือ 1. สนับสนุนงบประมาณในรูปแบบบัตรกำนัลไม่เกิน 15,000 บาทต่อกลุ่ม สำหรับการจัดกิจกรรมเป็นเวลา 1 วัน ไม่น้อยกว่า 6 ชั่วโมง และ 2. สนับสนุนงบประมาณในรูปแบบบัตรกำนัลไม่เกิน 30,000 บาทต่อกลุ่ม สำหรับการจัดกิจกรรมอย่างน้อยเป็นเวลา 2 วัน 1 คืน เพื่อเพิ่มการกระจายรายได้ในพื้นที่ให้มากขึ้น
*** ทุกภาคส่วนร่วมเป็นหนึ่งเดียว
ด้าน นายธีระพงศ์ ช่วยชู นายอำเภอเกาะสมุย กล่าวว่า สมุยมีความพร้อมในการรักษาความปลอดภัย สำหรับกลุ่มไมซ์ระดับ Premium ที่ต้องปรับเปลี่ยนจุดขายเพื่อนำเสนออัตลักษณ์ของเกาะสมุย เพื่อสร้างสันทนาการเชิงสร้างสรรค์ วิถีการท่องเที่ยวชุมชน
รวมถึงสมุยยังสามารถจัดโปรแกรม CSR ที่เป็นจุดขาย เช่น การปล่อยเต่า การสร้างธนาคารปูม้า การปลูกป่า ปลูกมะพร้าวเศรษฐกิจ และการนำผู้มาร่วมประชุมได้จัด Team Building เชื่อมโยงทั้งทางทะเล และบนเกาะทั้งหมดนี้เพื่อขยายเวลาให้นักท่องเที่ยวและนักเดินทางกลุ่มไมซ์ได้ขยายเวลาให้พำนักนานวันขึ้น
นายรามเนตร ใจกว้าง นายกเทศมนตรีนครเกาะสมุย กล่าวว่า บรรยากาศของเกาะสมุยมีความพร้อมและเหมาะสมเป็นอย่างมาก เนื่องจากทางเทศบาลฯ มีสถานที่ที่สามารถจัดประชุมที่มีจำนวนมากกว่า 300 คน รวมถึงสถานที่ราชการ เช่น พรุเฉวง ที่สามารถจัดงาน โดยใช้เต็นท์ติดแอร์และสามารถจัดนิทรรศการใหญ่ๆ ที่สามารถจุคนได้กว่า 2,000 คนขึ้นไป ซึ่งเทศบาลนครเกาะสมุยจะให้ความสะดวกในการขออนุญาตจัดงานและจัดเจ้าหน้าที่เทศกิจในการช่วยจัดสถานที่เพื่อพร้อมรองรับกรุ๊ปประชุมและการจัดนิทรรศการเพื่อรองรับการขยายตัวของนักเดินทางกลุ่มไมซ์กลุ่มนี้อย่างเต็มที่
นายวิทยา หวังพัฒนธน ประธานสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า ศักยภาพของจังหวัดสุราษฎร์ธานี รวมถึงเกาะสมุยเองมีความพร้อมสำหรับการจัดประชุมระดับภูมิภาคและนานาชาติขนาดเล็กถึงกลาง โดยทางสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจังหวัดสุราษฎร์ธานีทำงานร่วมกับทีเส็บมาโดยตลอด อีกทั้งภูมิประเทศของจังหวัดสุราษฎร์ธานีตั้งอยู่ในพื้นที่เดินทางสะดวก สามารถเดินทางจากจังหวัดใกล้เคียงได้โดยง่าย มีสนามบินถึง 2 แห่ง และยังมีแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นที่รู้จักทั้งฝั่งบกและฝั่งเกาะ เช่น เกาะสมุย (ความหลากหลายของกิจกรรม) เกาะพะงัน (Wellness) เกาะเต่า มีชื่อเสียงในด้านดำน้ำที่โหวตให้เป็นอันดับสองของเอเชีย มีวิถีชุมชนที่มีอัตลักษณ์ รวมทั้งผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นระดับประเทศ อาทิ มะพร้าว และสมุนไพรที่สำคัญอีกด้วย
นายเรืองนาม ใจกว้าง นายกสมาคมโรงแรมไทยภาคใต้ฝั่งตะวันออก กล่าวว่า ทางสมาคมฯ ได้เตรียมความพร้อมของสมาชิกสมาคมฯ ให้เข้าใจและพร้อมรองรับตลาดไมซ์ได้ อีกทั้งยังมีการอัปเดตจำนวนห้องประชุม จำนวนห้องพัก เพื่อเป็นทางเลือกให้แก่นักเดินทางกลุ่มนี้ และยังทำงานใกล้ชิดกับทีเส็บเพื่อให้สมาชิกเข้าถึงข้อมูลข่าวสารซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ต่อสมาชิกสมาคมโรงแรมและผู้สนใจทั่วไป
นายวรสิทธิ์ ผ่องคำพันธุ์ นายกสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวเกาะสมุย กล่าวว่า การประกาศให้สมุยเป็นเมืองของไมซ์ในช่วงวิกฤต เป็นการส่งเสริมและสร้างโอกาสให้นักเดินทางกลุ่มนี้ได้เติบโต ในสภาวะที่ยังไม่ได้เปิดประเทศ นับเป็นโอกาสอันดีที่เราจะนำเสนอ Product ให้แก่สมาคมท่องเที่ยวต่างๆ เช่น สมาคมไทยบริการท่องเที่ยว (TTAA), สมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA), สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ (สทน.) หรือบริษัทห้างร้านต่างๆ ที่ปกติจะเดินทางไปต่างประเทศให้หันกลับมาจัดประชุมสัมมนาเพื่อเป็นรางวัล
สมาคมฯ จะประสานกับทุกสายการบินเพื่อขอราคาเช่าเหมาลำในกรณีที่มีลูกค้าเดินทางเกิน 100 คน ในราคาพิเศษ รวมถึงการจัดงานสมุยโปรปลดล็อก พร้อมทั้งงาน Table Top Sale ที่ Central World ในระหว่างวันที่ 28 ตุลาคม ถึงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2563