จับตาบีโอไอเตรียมสารพัดมาตรการเสนอบอร์ดบีโอไอเดือน ต.ค.นี้ ทั้งการเปิดประเภทกิจการใหม่ การขยายมาตรการไทยแลนด์ พลัส และมาตรการกระตุ้นให้บริษัทที่ได้รับส่งเสริมฯ รักษาระดับการจ้างงานเอาไว้ เพื่อฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจไทยที่ได้รับผลกระทบโควิด-19 พร้อมปรับโครงสร้างองค์กรใหม่รับอุตฯ เป้าหมายและเทคโนโลยีเปลี่ยน มีผล 5 ต.ค.นี้
น.ส.ดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ในเดือนตุลาคม 2563 บีโอไอจะเสนอมาตรการต่างๆ ที่จะเป็นการรักษาฐานการลงทุนเดิมและกระตุ้นให้เกิดการลงทุนใหม่ โดยเฉพาะมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนให้บริษัทรักษาระดับการจ้างงานเพื่อการฟื้นฟูและขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19
ทั้งนี้ มาตรการสำคัญที่จะเสนอบอร์ด ได้แก่ การออกมาตรการกระตุ้นให้บริษัทได้รับส่งเสริมฯ จากบีโอไอให้รักษาการจ้างงานเอาไว้ โดยจะเป็นการเชื่อมโยงกับค่าใช้จ่ายกับการจ้างงาน ซึ่งขณะนี้มีหลายสูตรที่จะนำเสนอแต่คงจะต้องรอรายละเอียดและความชัดเจนจากบอร์ดอีกครั้ง นอกจากนี้ยังจะเสนอขยายอายุมาตรการ Thailand Plus ที่จะสิ้นสุด 31 ธันวาคม 2563 ออกไปอีกเพื่อกระตุ้นการลงทุนต่อเนื่องโดยเฉพาะการรองรับการย้ายฐานการผลิตจากต่างประเทศเข้ามายังไทยเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะจีน
นอกจากนี้ จะเสนอให้มีการเพิ่มประเภทกิจการที่เกี่ยวกับการวิจัยทางคลินิกเพื่อตอบสนองงานวิจัย โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับวัคซีนในการผลักดันไทยสู่การเป็นฮับการแพทย์ ที่ขณะนี้อุตสาหกรรมดังกล่าวได้รับความสนใจในการลงทุนเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด, การเพิ่มสาขาการส่งเสริมในกลุ่มอุตสาหกรรม BCG (Bio, Circular, Green) โดยเฉพาะในกลุ่มสาขาที่มีการนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ไบโอแมส นำมาทำผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องที่มีมูลค่าสูง ซึ่งจะช่วยให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เป็นต้น
เลขาฯ บีโอไอกล่าวว่า เพื่อให้สอดคล้องกับภารกิจที่รัฐบาลมอบหมายเร่งรัดส่งเสริมอุตฯ เป้าหมายและสอดรับกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป บีโอไอจึงปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ มีผลตั้งแต่วันที่ 5 ต.ค. 2563 โดยจัดโครงสร้างกองส่งเสริมการลงทุนใหม่เป็น Sector 1-4 ได้แก่ กองส่งเสริมการลงทุน 1 รับผิดชอบด้านอุตสาหกรรมเกษตร เทคโนโลยีชีวภาพ และการแพทย์ เช่น เกษตรและแปรรูปอาหาร การแพทย์ เทคโนโลยีชีวภาพ, กองส่งเสริมการลงทุน 2 ดูแลอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เช่น ยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ กองส่งเสริมการลงทุน 3 ดูงานอุตสาหกรรมพื้นฐาน และอุตสาหกรรมสนับสนุน เช่น แร่ โลหะ และวัสดุ ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ พลังงาน สาธารณูปโภคและสิ่งแวดล้อม และกองส่งเสริมการลงทุน 4 รับผิดชอบอุตสาหกรรมดิจิทัล สร้างสรรค์ และบริการที่มีมูลค่าสูง
พร้อมกันนี้ ยังเพิ่มกองติดตามและประเมินผลการลงทุนอีก 2 กอง เพื่อทำหน้าที่ติดตามการดำเนินงานของโครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน ที่จะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดในบัตรส่งเสริม และรวมกองพัฒนาและเชื่อมโยงการลงทุนกับกองส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศ เป็น “กองพัฒนาผู้ประกอบการไทย” เพื่อดูแลพัฒนาผู้ประกอบการไทยทั้งในประเทศ และต่างประเทศ โดยหน่วยงานดังกล่าวจะอยู่ชั้น 3 ของบีโอไอ นอกจากนี้ ปลายเดือน ต.ค.จะเปิดหน่วย CSU (Customer Service Unit) เพื่อให้บริการรับส่งเอกสารเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว ซึ่งจะอยู่บริเวณชั้นล่างของบีโอไอ