กรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) เผยยอดใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเฉลี่ยต่อวัน 8 เดือนแรกของปีนี้อยู่ที่ 137 ล้านลิตรต่อวัน ลดลง 13.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยปรับลดทุกประเภทเชื้อเพลิง กลุ่มน้ำมันอากาศยานยังดิ่งหนักสุด 56.6% จากผลกระทบโควิด-19
นางสาวนันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) เปิดเผยถึงภาพรวมการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเฉลี่ยต่อวันรอบ 8 เดือน ของปี 2563 (มกราคม-สิงหาคม) ว่า การใช้น้ำมันเชื้อเพลิงสำเร็จรูปเฉลี่ยอยู่ที่ 137 ล้านลิตรต่อวัน ลดลง 13.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการปรับลดลงทุกกลุ่มน้ำมันซึ่งยังคงมาจากสาเหตุหลักจากผลกระทบของโควิด-19 ทำให้มีผลกระทบต่อการขนส่งทางรถยนต์ สินค้า การบินได้รับผลกระทบตามไปด้วย
ทั้งนี้ กลุ่มเบนซินการใช้เฉลี่ย 30.8 ล้านลิตรต่อวัน ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 4.3% แยกเป็นน้ำมันเบนซิน การใช้ 30.8 ล้านลิตรต่อวัน ลดลง 18.7% และกลุ่มแก๊สโซฮอล์มีปริมาณการใช้ลดลงเฉลี่ยอยู่ที่ 30.0 ล้านลิตรต่อวัน ลดลง 3.8% เมื่อพิจารณาแยกชนิดน้ำมัน พบว่าแก๊สโซฮอล์ อี85 มีปริมาณการใช้ลดลงมากที่สุดเฉลี่ยอยู่ที่ 0.9 ล้านลิตรต่อวัน หรือลดลง 28.9% รองลงมาเป็นแก๊สโซฮอล์ 91 มีปริมาณการใช้เฉลี่ยอยู่ที่ 8.2 ล้านลิตรต่อวัน ลดลง 14.9% และแก๊สโซฮอล์อี 20 มีปริมาณการใช้ลดลงน้อยที่สุดเฉลี่ยอยู่ที่ 6.3 ล้านลิตรต่อวัน หรือลด 2.5% ส่วนแก๊สโซฮอล์ 95 การใช้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยอยู่ที่ 14.6 ล้านลิตรต่อวันเพิ่ม 5.7%
การใช้น้ำมันกลุ่มดีเซล เฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 65.1 ล้านลิตรต่อวัน ลดลง 4% โดยน้ำมันดีเซล หมุนเร็วธรรมดา (บี7) มีการใช้ 45.3 ล้านลิตรต่อวัน ลดลง 27% น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี10 การใช้เฉลี่ยอยู่ที่ 13.3 ล้านลิตรต่อวัน (เริ่มมีการจำหน่ายตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคม 2562) และน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี20 มีปริมาณการใช้เฉลี่ยอยู่ที่ 4.3 ล้านลิตรต่อวัน ซึ่งเป็นไปตามนโยบายภาครัฐที่กำหนดให้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี10 เป็นน้ำมันดีเซลฐานของประเทศ จึงส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี10 มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
การใช้น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) เฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 8.4 ล้านลิตรต่อวัน ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 56.6% เนื่องด้วยยังคงอยู่ในช่วงมาตรการที่สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) อนุญาตให้บุคคลเฉพาะกลุ่มเดินทางเข้าออกประเทศได้ อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้าพบว่าความต้องการใช้ปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องด้วยมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวของภาครัฐ การใช้ LPG เฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 15.0 ล้าน กก.ต่อวัน ลดลง 16.4% การใช้ NGV เฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 3.8 ล้าน กก.ต่อวัน ลดลง 30.8% เนื่องจากภาครัฐมีนโยบายการปรับราคาขายปลีก NGV สำหรับรถยนต์ส่วนบุคคลทั่วไปเพื่อสะท้อนต้นทุน จึงทำให้ราคา NGV ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ผู้บริโภคหันไปใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์หรือน้ำมันดีเซลหมุนเร็วแทน
“การนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงมีปริมาณรวมลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน เฉลี่ยอยู่ที่ 900,063 บาร์เรลต่อวัน คิดเป็นอัตราลดลง 9.6% โดยมีปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบเฉลี่ยอยู่ที่ 869,358 บาร์เรลต่อวัน ลดลง 5% คิดเป็นมูลค่าเฉลี่ย 39,024 ล้านบาทต่อเดือน” น.ส.นันธิกากล่าว