“บางจาก” ตั้งเป้าลดการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ในปี 73 โดยมุ่งการนำนวัตกรรมสีเขียวมาพัฒนาธุรกิจอย่างสอดคล้องกับประโยชน์ส่วนรวม และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นในสังคมไทย
นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (BCP) เปิดเผยว่า กลุ่มบางจากฯ ตั้งเป้าลดการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ (Zero Emission) ในปี 2573 โดยมุ่งมั่นในการนำนวัตกรรมสีเขียวมาพัฒนาธุรกิจอย่างสอดคล้องกับประโยชน์ส่วนรวม และมีส่วนร่วมในการพัฒนาความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของสังคมไทย ด้วยการสร้างสมดุลระหว่างมูลค่า คือ ผลประกอบการ และคุณค่า คือการดูแลสิ่งแวดล้อมและสังคมเพื่อความยั่งยืน
พร้อมทั้งตั้งสถาบันนวัตกรรมและบ่มเพาะธุรกิจ (BiiC) ขึ้นเพื่อสร้างระบบนิเวศสำหรับนวัตกรรมสีเขียว (Green Ecosystem) ส่งเสริมและผลักดันนวัตกรรมที่สนับสนุนการพัฒนาพลังงานสีเขียวและผลิตภัณฑ์ชีวภาพเพื่อสร้างความมั่นคงและยั่งยืนด้านพลังงานของประเทศ
การปรับเปลี่ยนเพื่อให้ทันต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกและสร้างความยั่งยืน ครอบคลุม 5 ธุรกิจหลัก ได้แก่ 1. กลุ่มธุรกิจโรงกลั่นและการค้าน้ำมัน เป็นโรงกลั่นแบบ Complex Refinery ที่ทันสมัยและดูแลสิ่งแวดล้อม ใช้เชื้อเพลิงจากก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงสะอาดตั้งแต่ต้นทาง ทำให้น้ำมันบางจากทุกลิตรเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ผ่านการรับรองมาตรฐานระดับสากล และยังได้รับฉลากคาร์บอนฟุตพรินต์ (Carbon Footprint) และฉลากลดคาร์บอนฟุตพรินต์ของผลิตภัณฑ์ (Carbon Footprint Reduction) จากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกอีกด้วย
2. กลุ่มธุรกิจการตลาด เป็นช่องทางหลักในการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ่านเครือข่ายสถานีบริการของบริษัทฯ กว่า 1,200 แห่ง ด้วยแนวคิด Greenovative Product มุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้า และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม Greenovative Service Station พัฒนารูปแบบสถานีบริการแบบใหม่ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น ขยายสาขาสถานี EV Charger เพิ่มพื้นที่สีเขียวและการติดตั้งอุปกรณ์อำนวยความสะดวกต่างๆ เช่น การออกแบบห้องน้ำตอบโจทย์สังคมผู้สูงอายุและผู้พิการ Greenovative Mind นำเทคโนโลยี และระบบสารสนเทศมาประมวลข้อมูลลูกค้า การติดตั้งระบบ Point of Sale Automation ในสถานีบริการให้ครอบคลุม การพัฒนาระบบ Application ที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการใช้งานของลูกค้ากลุ่มต่างๆ
3. กลุ่มธุรกิจพลังงานไฟฟ้าสีเขียว ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ผ่านการดำเนินธุรกิจของ บมจ.บีซีพีจี ประกอบด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ ลม ความร้อนใต้พิภพและน้ำ ในประเทศไทย ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และลาว และได้รุกเข้าสู่ธุรกิจ Digital Energy ตามกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก 4. กลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพ ดำเนินการภายใต้ บมจ.บีบีจีไอ ผู้ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายเชื้อเพลิงชีวภาพที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และ 5. กลุ่มธุรกิจทรัพยากรธรรมชาติ ได้แก่ ธุรกิจปิโตรเลียม ผ่านการถือหุ้นใน OKEA ASA ผู้พัฒนาและผลิตปิโตรเลียมในประเทศนอร์เวย์ และธุรกิจเหมืองลิเทียม ผ่านการถือหุ้นใน Lithium Americas Corp. (LAC) ผู้ประกอบธุรกิจเหมืองลิเทียมในประเทศอาร์เจนตินา และสหรัฐอเมริกา
สำหรับผลงานที่โดดเด่นที่ทำให้บางจากฯ ได้รับการยอมรับในฐานะผู้นำด้านนวัตกรรมพลังงานสีเขียวทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ เช่น โครงการระบบบริหารจัดการพลังงานชุมชนสีเขียว (Green Community Energy Management System - GEMS) หรือสถานีบริการน้ำมันที่ผลิตพลังงานไฟฟ้าสีเขียว ซึ่งเป็นระบบผลิตไฟฟ้าและซื้อขายกันเองแบบประมูลระหว่างอาคาร ร้านค้าต่างๆ และภายในสถานีบริการน้ำมันบางจาก ศรีนครินทร์ จ.สมุทรปราการ รายแรกในประเทศไทย, โครงการนำร่องซื้อขายแลกเปลี่ยนไฟฟ้าสะอาดแบบเรียลไทม์แบบ P2P ด้วย Blockchain รายแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมีขนาดที่ใหญ่ที่สุดในโลก, สถานีบริการน้ำมันที่ไม่มีตู้จ่าย หรือ “ปั๊มน้ำมันลอยฟ้า” รายแรกในประเทศไทย ที่สถานีบริการน้ำมันบางจากสุขุมวิท 62 เป็นต้น
เมื่อเร็วๆ นี้ นายชัยวัฒน์ได้รับมอบรางวัล Asia Responsible Enterprise Awards 2020 หรือ AREA 2020 ประเภท Responsible Business Leadership จาก Enterprise Asia ซึ่งเป็นองค์กรอิสระที่ดำเนินงานด้านการสนับสนุน ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพทางธุรกิจที่รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมในภูมิภาคเอเชียเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยนายชัยวัฒน์นับเป็นหนึ่งในคนไทย 2 คนแรกที่ได้รับรางวัลนี้ และบางจากยังได้รับรางวัล Circular Economy Leadership จากโครงการ “รักษ์ ปัน สุข” ช่วยลดขยะต้นทางด้วยการรวบรวมขวดน้ำดื่ม PET ใช้แล้วจากลูกค้าและผู้บริโภคผ่านสถานีบริการน้ำมันบางจาก ไปรีไซเคิลเป็นเส้นใยนำไปผลิตเป็นวัสดุเพื่อใช้ประโยชน์ อาทิ ผลิตหมวกมอบให้เจ้าหน้าที่ด้านรักษาความสะอาดและสวนสาธารณะของ กทม.