xs
xsm
sm
md
lg

“สุริยะ” พลิกวิกฤตเป็นโอกาส สั่งลุยอุตฯ เครื่องมือแพทย์ ปักหมุดดันไทยศูนย์กลางอาเซียนปี 70

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“สุริยะ” จี้ สศอ.เร่งทำแผนพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ปี 2564-2570 พลิกวิกฤตโควิด-19 ให้เป็นโอกาส และรับมือไทยก้าวสู่สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ในปี 2564 ตั้งเป้าหมายให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตเครื่องมือแพทย์ในอาเซียนภายในปี 2570

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.)
เปิดเผยว่า จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ประกอบกับสังคมไทยได้เข้าสู่สังคมสูงอายุโดยสมบูรณ์แบบ หรือ Complete Aged Society ในปี 2564 ซึ่งส่งผลให้แนวโน้มสินค้าและเครื่องมือทางการแพทย์มีความต้องการที่เพิ่มขึ้น และบางประเภทเกิดภาวะขาดแคลน ดังนั้นจึงได้มอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) จัดทำร่างแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ ระยะที่ 1 (พ.ศ.2564-2570) ขึ้น พร้อมตั้งเป้าหมายให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตเครื่องมือแพทย์ในอาเซียนภายในปี 2570

“อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์นับเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) ซึ่งจะต้องเร่งพัฒนาให้ชัดเจนในปี 2564 นี้เพื่อตอบสนองต่อทิศทางที่เปลี่ยนไป โดยที่ผ่านมาในช่วง 5 ปี (พ.ศ. 2558-2562) อุตสาหกรรมนี้มีการเติบโตเฉลี่ย 4.09% ต่อปี และคาดว่าจะโตขึ้นมากหลังจากนี้” นายสุริยะกล่าว

ทั้งนี้ ปัจจุบันอุปกรณ์ทางการแพทย์ เช่น หน้ากากอนามัย ถุงมือยางยังคงมีความต้องการสูงขึ้นต่อเนื่อง เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคในประเทศต่างๆ ยังไม่สามารถควบคุมได้ จำนวนผู้ติดเชื้อยังคงเพิ่มขึ้น ซึ่งคาดว่าคงต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1-2 ปีจึงจะสามารถหยุดการแพร่ระบาดและลดจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อลงได้จากการเร่งพัฒนาวัคซีนของหลายประเทศ ซึ่งนับเป็นโอกาสของไทยเพราะไทยมีศักยภาพในการควบคุมการแพร่ระบาดได้ดีจนเป็นที่ยอมรับในระดับโลก

นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า ร่างแผนปฏิบัติการจะแบ่งออกเป็น 3 มาตรการหลัก ได้แก่ 1. การส่งเสริมการผลิตและการลงทุนในเครื่องมือแพทย์ ให้สิทธิประโยชน์กระตุ้นให้มีการผลิตและการลงทุนเครื่องมือแพทย์ ยกระดับเทคโนโลยีและนวัตกรรมผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ไทยให้มีการผลิตเครื่องมือแพทย์ในระดับที่สูงขึ้น กำหนดมาตรฐานอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ให้มีความเชื่อมั่นในสินค้าเครื่องมือแพทย์ รวมถึงการสร้างตราสินค้าเครื่องมือแพทย์ของไทย

2. การส่งเสริมช่องทางการเข้าสู่ตลาด ให้มีการใช้เครื่องมือแพทย์ที่ผลิตในประเทศให้มากขึ้น โดยกำหนดสิทธิประโยชน์หรือแรงจูงใจเพิ่มเติมในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างสำหรับโรงพยาบาลของรัฐ ส่งเสริมให้โรงเรียนแพทย์มีการใช้เครื่องมือแพทย์ของไทยเพื่อให้แพทย์มีความเชื่อมั่นในการใช้เครื่องมือแพทย์ที่ผลิตในประเทศไทย ฯลฯ และ 3. การส่งเสริม/เตรียมความพร้อมด้านปัจจัยสนับสนุน มีการสร้างปัจจัยสนับสนุนในการยกระดับการผลิตเครื่องมือแพทย์ โดยส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา (R&D) และการต่อยอดงานวิจัยไปสู่เชิงพาณิชย์ พัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ สร้างผู้เชี่ยวชาญด้านกลไกควบคุมกำกับดูแลเครื่องมือแพทย์ (Regulatory expert) และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะเชิงเทคนิค (Technical expert) ฯลฯ
กำลังโหลดความคิดเห็น