การตลาด - โควิด-19 ฟาดหางแรง นายกสมาคมการตลาดฯ ชี้นักการตลาดต้องปรับตัว ปรับวิธีคิดทำตลาดใหม่ ชี้เทรนด์การตลาดกลายพันธุ์จะมาแรงในยุคที่ต้องทำธุรกิจสู้กับโควิด
โควิด-19 ส่งผลกระทบทุกอย่างในโลกนี้อย่างสาหัส ทั้งการใช้ชีวิตและการทำธุรกิจจนต้องเข้าสู่ยุคที่เรียกว่า นิวนอร์มัล (New Normal)
การปรับตัวเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะกับการทำธุรกิจ เพราะโควิด-19 เป็นปัจจัยลบที่สร้างวิกฤตหนักที่สุดด้วย
ธุรกิจต้องปรับตัวกันให้วุ่น ใครอยู่เฉยก็มีแต่ตายกับตาย บางรายปรับตัวแล้วก็ยังไม่รอดก็ยังมี
นายอนุวัตร เฉลิมไชย นายกสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย ให้ความเห็นว่า นี่คือปัจจัยลบที่หนักที่สุด วิกฤตที่สุด และไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในชีวิตและทั่วโลก
เขาชี้ว่า การทำตลาดในยุคนิวนอร์มัลนี้ต้องปรับเปลี่ยนและเปลี่ยนแปลงกันใหม่อย่างสิ้นเชิง ชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ อะไรที่ไม่เคยทำก็ต้องทำ อะไรที่ไม่เคยคิดว่ามันจะเกี่ยวข้องกันก็ต้องทำให้ได้
เทรนด์การตลาดแบบใหม่ที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้จึงเป็นที่มาของคำว่า การตลาดกลายพันธ์ุ (Market Mutation)
กลยุทธ์การตลาดกลายพันธุ์เริ่มมีเกิดขึ้นในช่วงโควิด-19 ระบาดหนักที่ผ่านมาแล้วประปราย เขายกตัวอย่างว่า เช่นกรณีของร้านชาบูหรือสุกี้บางแบรนด์ที่เปิดร้านขายไม่ได้เลยในช่วงล็อกดาวน์ ก็ดิ้นสู้หันมาทำเป็นดีลิเวอรี แต่ที่น่าสนใจกว่านั้นคือ การคิดนอกกรอบด้วยการแถมหม้อส่งผลให้คนหันมาซื้อกันมากมายไปรับประทานที่บ้าน เป็นต้น หรือแบรนด์ระดับโลกอย่างแฟชั่นก็ปรับตัวหันมาทำหน้ากากผ้าขาย
“ตอนนี้ต้องคิดนอกกรอบและทำตลาดแบบกลายพันธ์ุเท่านั้นจึงจะอยู่ได้ในช่วงที่โควิดยังอยู่” นายอนุวัตร ย้ำ
การตลาดที่อาศัยอาวุธเดิม 4P คือ Product, Price, Place, Promotion แทบจะไม่พอแล้ว และเป็นสิ่งที่เข้ามาเสริมเท่านั้นเอง
เพราะช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมานี้เป็นสถานการณ์ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากในโลกธุรกิจ ทั้งในแง่ของรูปแบบการทำการตลาด และ skillset ของบุคลากรคนทำธุรกิจ ซึ่งความท้าทายหลักที่ภาคธุรกิจต้องรับมือนั้นมาจากหลายสาเหตุ คือ
• New Crisis ทั้งเรื่องโควิด-19 และเรื่องสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ที่แย่ลงทุกวัน
• New Normal เมื่อผู้บริโภคก้าวสู่โลก digital lifestyle เต็มตัว นักการตลาดก็ต้องปรับกระบวนทัพตามอย่างรวดเร็ว
• New Technology เข้ามามีบทบาทเปลี่ยนโลกการตลาดแบบเดิมๆ ซึ่งโลก analog เริ่มหายไป ถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ ทั้ง AI, Mixed Reality, 5G ฯลฯ นักการตลาดต้องปรับตัวให้ทัน
• New Consumers แบ่งผู้บริโภคเป็น 2 กลุ่มที่ต่างกันจนสุดขั้ว คือ กลุ่ม Generation Z กับกลุ่ม Silver Generation นักการตลาดยุคนี้ต้องให้ความสำคัญต่อเรื่อง generation marketing มากขึ้น ซึ่งความท้าทายนี้สามารถสร้างโอกาสใหม่ๆ ได้
• ความไม่แน่นอน (Uncertainty) จากเหตุการณ์ต่างๆ ที่ผ่านมาจึงมีการเปลี่ยนแปลงมากมายในวงการธุรกิจและการตลาด ทั้งเรื่องเทคโนโลยีดิจิทัลที่เข้ามามีบทบาทมากขึ้น รวมถึงวิกฤตและความท้าทายต่างๆ ทำให้นักการตลาดในยุคนี้ต้องปรับตัวให้ทันกับโลกการตลาดยุคใหม่อยู่เสมอ
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการรับมือกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตที่แทบไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นที่จะส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ช่องทางการทำตลาดการขายสินค้า วิธีการขายสินค้า หรือแม้แต่ความต้องการของลูกค้าที่ขึ้นอยู่กับตัวบุคคลเป็นหลักและแตกต่างกันไปตามเจเนอเรชันอีกต่างหาก ทำให้นักการตลาดต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิดใหม่
นอกจากนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับพันธกิจหลักในการเติมความรู้ด้านการตลาดยุคใหม่ให้แก่นักการตลาดที่ต้องการ Re-Skill & Up-Skill สมาคมการตลาดฯ จึงพัฒนา 4 แกนความรู้หลักสำคัญที่นักการตลาดมองข้ามไม่ได้ คือ
1. Strategic marketing การวางกลยุทธ์ที่ชัดเจนก่อนออกเดินทางในโลกธุรกิจ
2. Martech & Innovations การเรียนรู้ที่จะนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาปรับใช้เพื่อสร้างสรรค์ผลลัพธ์ที่แตกต่าง
3. Storytelling การสื่อสารอย่างมีศิลปะ เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายในโลกที่เต็มไปด้วยสารจากหลายแบรนด์
4. Marketing integrity & Sustainability การเติบโตอย่างยั่งยืน บนพื้นฐานของธรรมาภิบาลที่ดี
ทั้งนี้ สมาคมการตลาดฯ จะมีการพัฒนาหลักสูตรและเนื้อหาต่างๆ ที่ตอบโจทย์ทั้ง 4 ด้าน (4R) เพื่อเป็นการเรียนรู้ (Learning Pillars) ใหม่ของสมาคมฯ ในการช่วยพัฒนาศักยภาพนักการตลาดไทย ด้วยการ
1. Reskill & Upskill สร้างโอกาสตัวเอง ให้มีศักยภาพพร้อมก้าวสู่โลกการตลาดยุคใหม่
2. Response สามารถตอบโจทย์และปรับตามสถานการณ์อย่างทันท่วงที
3. Recover กลับสู่สภาวะการดำเนินธุรกิจตามปกติหลังสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย
4. Renew พัฒนาธุรกิจ โดยนำโอกาสใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นจากวิกฤตมาใช้เพื่อการเติบโตในระยะยาว
“หากองค์กรและนักการตลาดมีการปรับตัวและเติมความรู้ใหม่ๆ จะนำไปสู่ผลลัพธ์ 3S คือ Survive, Strong และ Sustainable ไม่ใช่แค่ให้ธุรกิจอยู่รอด แต่สามารถเติบโตอย่างแข็งแรงและยั่งยืน”