รถไฟทางคู่สายใต้ “นครปฐม-ชุมพร” เจอปัญหายืดเยื้อ บุกรุก, ปรับแบบสะพานขึง, ต้านสะพานข้ามจุดตัด ทำก่อสร้างล่าช้ากว่าแผน 8% รฟท.เคลียร์ยอมทำจุดตัดระดับดิน สปีดงาน มั่นใจเปิดได้ปี 65
นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ สายใต้ ระยะแรก ช่วงนครปฐม-ชุมพร ระยะทาง 421 กิโลเมตร วงเงิน 33,982 ล้านบาท ว่า ผลการก่อสร้างในภาพรวม ณ วันที่ 3 ก.ย. 63 มีความก้าวหน้าที่ 67.938% ล่าช้า 8.196% โดยแผนงานกำหนด 76.134% ซึ่งสาเหตุที่การก่อสร้างไม่เป็นไปตามเป้า มาจากหลายสาเหตุ เช่น ผู้บุกรุกในพื้นที่ก่อสร้าง การปรับแบบเนื่องจากพบลูกระเบิดในแม่น้ำแม่กลอง จังหวัดราชบุรี บริเวณสะพานรถไฟจุฬาลงกรณ์ ที่ยังไม่สามารถเก็บกู้ได้
ทั้งนี้จะพยายามเร่งรัดการก่อสร้างเพราะความล่าช้าจะส่งผลต่อการเดินรถในปัจจุบันที่ต้องชะลอในช่วงที่ก่อสร้าง ทำให้ล่าช้ากว่าตารางเดินรถ โดยยังสามารถเร่งรัดงานโยธาให้เสร็จตามแผนในปี 2564 และติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ เปิดให้บริการต้นปี 2565
ปรับแบบทางคู่สายใต้ ชาวบ้านไม่เอาสะพานข้าม
นายสุชีพ สุขสว่าง วิศวกรใหญ่ฝ่ายโครงการพิเศษและก่อสร้าง รฟท.กล่าวว่า กรณีผู้บุกรุก รฟท.แก้ปัญหาตามหลักมนุษยธรรม ขณะที่ ประชาชนในพื้นที่จ.เพชรบุรี มีการคัดค้าน ไม่ต้องการสะพานรถยนต์ข้ามทางรถไฟ (Overpass) ซึ่งมีจุดตัดทางรถไฟประมาณ 10 จุด โดยได้สรุป ว่าจะทำเป็นทางผ่านเสมอระดับดิน แบบมีเครื่องกั้น พร้อมพนักงานเพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุด ประมาณ 3 จุด ส่วนสะพานรถไฟจุฬาลงกรณ์ ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบสะพานข้ามแม่น้ำแม่กลอง จากเดิมที่วางเสาในแม่น้ำ เป็นสะพานขึงชนิด (Extradose Bridge) ทำให้ขณะนี้แก้ปัญหาได้หมดแล้ว
“รถไฟทางคู่ มีเป้าหมายที่จะพยายามลดจุดตัดทางรถไฟให้มากที่สุด. เพื่อไม่ให้มีอุบัติเหตุ แต่เมื่อมีการก่อสร้างพบปัญหาอุปสรรคซึ่ง วิธีสุดท้ายคือ การเป็นทางตัดเสมอระดับดิน และติดเครื่องกั้น เพื่อให้สามารถเดินหน้าก่อสร้างได้”
สำหรับโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายใต้ ระยะแรก ช่วงนครปฐม-ชุมพร แผนงาน 76.134% มีความคืบหน้ารวม 67.938% ช้ากว่าแผน 8.196% โดยงานก่อสร้างแบ่งเป็น 5 สัญญา ได้แก่
1. ช่วงนครปฐม-หนองปลาไหล ระยะทาง 93 กม. ค่าก่ดสร้าง 8,198 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้าง 36เดือน แผนงาน 69.448% มีความคืบหน้า 69 % เร็วกว่าแผน 0.448 % มีบริษัท เอ.เอส.แอสโซซิเอท เอนยิเนียริ่ง 1964 จำกัด เป็นผู้รับจ้าง
2. ช่วงหนองปลาไหล-หัวหิน ระยะทาง 76 กม.ค่าก่อสร้าง 7,520 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้าง 36เดือน แผนงานสะสม 69.618% มีความคืบหน้า 72.111% เร็วกว่าแผน 2.493% มี บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น เป็น ผู้รับรับจ้าง 3. ช่วงหัวหิน -ประจวบคีรีขันธ์ ระยะทาง 84 กม.ค่าก่อสร้าง 5,807 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้าง 30. เดือน แผนงาน 74.50% มีความคืบหน้า 74.750 % เร็วกว่าแผน 0.250 % มี บมจ.อิตาเลียนไทย เป็นผู้รับจ้าง
4. ช่วงประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร สัญญาที่ 1 (ประจวบคีรีขันธ์-บางสะพานน้อย) ระยะทาง 88 กม.ค่าก่อสร้าง 6,465 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้าง 33 เดือน แผนงาน 96.039 % มีความคืบหน้า 66.561 % ช้า กว่าแผน 29.478 % มี กิจการร่วมค้า เคเอส-ซี เป็นผู้รับจ้าง 5. ช่วงประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร สัญญาที่ 2. (บางสะพานน้อย-ชุมพร ) ระยะทาง 79 กม. ค่าก่อสร้าง 5,992 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้าง 36 เดือน แผนงาน 73.567% มีความคืบหน้า 56.131% ช้ากว่าแผน 17.436%