กรมทางหลวงชนบทเตรียมซ่อมผิวทางลาดยาง ถนนสาย นย.2011 แยก ทล.หมายเลข 33-บ้านพรหมณี จ.นครนายก ยาว 10 กม.ตามแนวท่อก๊าซ ปตท. วงเงิน 234 ล้าน เสร็จปลายปี 64
นายปฐม เฉลยวาเรศ อธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) เปิดเผยว่า ทช.เตรียมดำเนินโครงการซ่อมสร้างผิวทางลาดยางและปรับปรุงผิวทางลาดยางเดิมนำกลับมาใช้ใหม่ (HOT MIX IN - PLACE RECYCLING แบบ RE - Paving) ถนนทางหลวงชนบทสาย นย.2011 แยกทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 33-บ้านพรหมณี อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก ระยะทาง 10 กม.
ทั้งนี้ สืบเนื่องจากที่ ทช.ได้อนุญาตให้ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ดำเนินการก่อสร้างโครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติเส้นที่ 4 (ระยอง-แก่งคอย) ในเขตทางของ ทช. ซึ่งได้ดำเนินการแล้วเสร็จ โดยพาดผ่านเส้นทางที่อยู่ในความดูแลของแขวงทางหลวงชนบทนครนายก จำนวน 3 สายทาง
ได้แก่ ถนนทางหลวงชนบทสาย นย.2011 กม.ที่ 0+000 ถึง กม.ที่ 10+094 ระยะทางประมาณ 10 กิโลเมตร, ถนนทางหลวงชนบทสาย นย.2003 กม.ที่ 0+800 ถึง กม.ที่ 4+250 ระยะทางประมาณ 3.5 กิโลเมตร และถนนทางหลวงชนบทสาย นย.2013 (ลอดผ่าน)
ทช.ได้ตรวจสอบพบว่าถนนทางหลวงชนบทสาย นย.2011 ได้รับผลกระทบจากการวางท่อก๊าซธรรมชาติ ทช.จึงได้สรุปแนวทางการซ่อมบำรุงถนนทางหลวงชนบทสาย นย.2011 โดยกำหนดรูปแบบวิธีการซ่อมบำรุงด้วยวิธีซ่อมสร้างผิวทางลาดยางและปรับปรุงผิวทางลาดยางเดิมนำกลับมาใช้ใหม่ (HOT MIX IN-PLACE RECYCLING แบบ RE-Paving) ซึ่งวิธีดังกล่าวนอกจากจะเป็นวิธีที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ มีความคุ้มค่า ไม่ส่งผลกระทบต่อแนวท่อก๊าซที่วางอยู่ในสายทางแล้ว การซ่อมบำรุงด้วยวิธีนี้จะทำให้การดำเนินงานเป็นไปด้วยความรวดเร็ว ประหยัดเวลา สามารถเปิดใช้การจราจรได้ทันที และส่งผลกระทบต่อการจราจรในพื้นที่น้อยที่สุด
โดยสายทางดังกล่าวเป็นเส้นทางการขนส่งสินค้าเชื่อมระหว่างอำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก กับ อำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา ส่งผลให้มีปริมาณการจราจรสูงถึง 8,300 คัน/วัน
ปัจจุบันโครงการดังกล่าวอยู่ระหว่างการเตรียมพื้นที่ในการซ่อมสร้าง ซึ่งจะใช้ระยะเวลาในการก่อสร้าง 500 วัน คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จประมาณปลายปี 2564 โดยใช้งบประมาณที่ได้รับการสนับสนุนจาก ปตท.รวมทั้งสิ้น 234.770 ล้านบาท
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ทช. และ ปตท.ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความเข้าใจ (MOU) ด้านการก่อสร้างและการวางระบบโครงข่ายก๊าซธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับกรมทางหลวงชนบทแบบบูรณาการร่วมกันภายใต้วัตถุประสงค์ กรอบความร่วมมือในเรื่องการศึกษาข้อมูลการจัดทำแผนงานโครงการที่เกี่ยวข้อง ศึกษาแนวทางการแก้ปัญหา เพื่อให้เกิดความสะดวก รวดเร็ว เพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานของทั้งสองฝ่าย โดยแนวทางดังกล่าวต้องมีมาตรการป้องกัน/ลดผลกระทบต่อทรัพย์สินทุกชนิดของ ทช. และต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ใช้เขตทางหลวงเป็นสำคัญ