ฉะเชิงเทรา - ยืนยันตรงกัน! ชาวบ้าน 2 อำเภอ จ.ฉะเชิงเทรา คัดค้านโครงการจัดหาและผลิตน้ำ รวมทั้งการก่อตั้งสถานีสูบน้ำจากแม่น้ำบางปะกงใน ต.บางโรง ของบริษัทเอกชนหวั่นกระทบวิถีชีวิตดั้งเดิม
วันนี้ (15 ก.ย.) บริษัท วอเตอร์เวิร์ค คอร์เปอร์เรชั่น จำกัด ได้เข้ามาจัดเวทีประชาคมหมู่บ้านเพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนใน 2 พื้นที่ ม.5 ต.บางโรง อ.คลองเขื่อน และ ม.10 ต.บางขนาก จ.ฉะเชิงเทรา เพื่อรับฟังความเห็นในการจัดตั้งโครงการจัดหาและผลิตน้ำในพื้นที่ และจะมีการก่อตั้งสถานีสูบน้ำจากแม่น้ำบางปะกง ในพื้นที่ ม.5 ต.บางโรง บนเนื้อที่ 27 ไร่ โดยอยู่ห่างจากปากอ่าว รวมระยะทางประมาณ 110 กิโลเมตร
โดยจะนำน้ำไปเก็บไว้ยังพื้นที่สำรองน้ำในพื้นที่ ม.10 ต.บางขนาก อ.บางน้ำเปรี้ยว ในปริมาณ 140 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี หรือประมาณ 300,000 ลบ.ม.ต่อวัน ซึ่งจะใช้วิธีการสูบน้ำไปกักเก็บไว้แต่เฉพาะในช่วงฤดูน้ำหลากเท่านั้น
ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นดังกล่าวว่า เป็นไปอย่างคึกคัก และยังมีประชาชนเกือบ 2,000 คนเดินทางเข้าร่วมเสนอข้อคิดเห็นเป็นจำนวนมาก จนทำให้เก้าอี้ที่จัดเตรียมไว้สำหรับให้ประชาชนนั่งรับฟังการบรรยายโครงการของผู้จัดตั้งโครงการฯ ไม่เพียงพอนั่ง จนทำให้ประชาชนบางส่วนต้องนั่งฟังคำบรรยายตามโคนต้นไม้ และยืนเรียงรายโดยรอบศาลาธรรมสังเวช ภายในวัดประจำรัง อ.บางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา
และจากการรับฟังความเห็น พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ต่างพากันคัดค้านการก่อตั้งสถานีสูบน้ำ พร้อมสะท้อนให้เห็นถึงปัญหา และผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชาวบ้าน ทั้งด้านความเป็นอยู่และการประกอบอาชีพต่างๆ หลังก่อนหน้านี้ ได้มีบริษัทบริหารและจัดการทรัพยากรน้ำแห่งหนึ่งเข้ามาก่อตั้งสถานีสูบน้ำในพื้นที่ใกล้เคียงกันจนก่อให้เกิดผลกระทบตามมามากมาย
ชาวบ้านรายหนึ่งเผยว่า ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ชาวบ้านในพื้นที่ต้องประสบกับปัญหาภัยแล้งอย่างรุนแรงอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ทำให้ชาวนาไม่มีน้ำสำหรับทำนาจนต้องหาซื้อน้ำจากเอกชน ขณะที่เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งและปลาประสบปัญหาไม่มีน้ำเติมบ่อกุ้ง บ่อปลา รวมทั้งขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค
เช่นเดียวกับ นายวิชาญ พานแก้ว ซึ่งระบุว่าตนเองเป็นตัวแทนชาวบ้านใน อ.บางน้ำเปรี้ยว ซึ่งกล่าวในที่ประชุมว่าแม่น้ำบางปะกง มีจุดเริ่มต้นตั้งแต่ อ.บางปะกง ไหลผ่าน อ.บ้านโพธิ์ อ.เมืองฉะเชิงเทรา อ.บางคล้า อ.คลองเขื่อน ,
อ.บางน้ำเปรี้ยว และ อ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี แต่บริษัทกลับเลือกที่จะจัดเวทีประชาคมรับฟังความคิดเห็นแค่เพียงประชาชนใน 2 ตำบล จึงไม่ได้อยู่ในหลักของธรรมาภิบาลในการรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ หรือมีส่วนได้ส่วนเสีย จึงไม่เห็นด้วยกับโครงการที่จะเกิดขึ้น
ขณะที่ตัวแทนบริษัท วอเตอร์เวิร์ค คอร์เปอร์เรชั่น จำกัด ได้แถลงแนวทางการเข้ามาบริหารจัดการใช้น้ำในพื้นที่และการจัดตั้งสถานีสูบน้ำว่า จากประสบการณ์ของผู้บริหารซึ่งส่วนใหญ่เคยเป็นข้าราชการในส่วนของงานบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในระดับประเทศมาแล้วจะสามารถบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา ได้เกิดประโยชน์สูงสุด และจะทำให้ประชาชนมีน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภคอย่างเพียงพอ
รวมทั้งยังสามารถรองรับโครงการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ได้เป็นอย่างดี หลังในช่วงตลอดหลายปีที่ผ่านมา จ.ฉะเชิงเทรา ประสบปัญหาในเรื่องระบบการบริหารจัดการน้ำยังมีไม่เพียงพอ จนทำให้การประปาใน อ.เมืองฉะเชิงเทรา อ.บางปะกง และ อ.บางคล้า มีน้ำไม่เพียงพอและยังส่งผลให้น้ำประปามีคุณภาพค่อนข้างต่ำ
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังการประชุมรับฟังความเห็นเสร็จสิ้น ชาวบ้านส่วนใหญ่ต่างพากันแสดงความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกัน คือ คัดค้านการก่อตั้งโครงการสถานีสูบน้ำ พร้อมให้ความเห็นว่าผู้นำเสนอโครงการพูดแต่เรื่องของการจัดหาน้ำและการสูบน้ำไปไว้เพื่อรองรับภาคอุตสาหกรรม และการพัฒนาพื้นที่พิเศษ (อีอีซี)
แต่ไม่เคยพูดถึงผลกระทบที่จะเกิดกับชาวบ้านผู้ใช้น้ำชาว อ.เมือง อ.บางคล้า อ.บางน้ำเปรี้ยว และ อ.คลองเขื่อน