“พพ.” เผยร่างกฎกระทรวงว่าด้วย BEC รอประกาศราชกิจจานุเบกษา คาดบังคับใช้ได้ ม.ค. 2564 นำร่องกับอาคารใหม่หรือดัดแปลง 9 ประเภท ขนาดตั้งแต่ 10,000 ตารางเมตรขึ้นไป ต้องออกแบบและก่อสร้างให้เป็นไปตามเกณฑ์ประหยัดพลังงานตามที่กำหนด ปี 65 อาคารขนาดตั้งแต่ 5,000 ตารางเมตร ปี 2566 ตั้งแต่ 2,000 ตารางเมตร หวังเร่งเครื่องแผนอนุรักษ์พลังงาน
นายสาร์รัฐ ประกอบชาติ ผู้อำนวยการกองกำกับและอนุรักษ์พลังงาน กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) และในฐานะโฆษก พพ. เปิดเผยว่า หลังจากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2563 มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดประเภทหรือขนาดของอาคาร และมาตรฐาน หลักเกณฑ์ และวิธีการในการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. ...หรือ Building Energy Code (BEC) ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนรอประกาศราชกิจจานุเบกษา เมื่อประกาศแล้วจากนั้นจะมีผลบังคับภายใน 120 วัน ซึ่งคาดว่าจะเป็นช่วง ม.ค. 2564
“พพ.ได้ทำหนังสือไปยัง นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รมว.พลังงาน เพื่อลงนามในการนำไปสู่การลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป ซึ่งขณะเดียวกันก็จะต้องมีการออกประกาศกฎกระทรวง 2 ฉบับว่าด้วยหลักเกณฑ์วิธีการคำนวณ และขั้นตอนดำเนินการ ซึ่งก็จะต้องทำให้เสร็จก่อนที่จะมีผลบังคับใช้ 120 วันประกอบด้วย ที่ผ่านมายอมรับว่าอาจจะล่าช้าแต่จำเป็นต้องให้ทุกฝ่ายเกิดการยอมรับในทางปฏิบัติเพราะเกี่ยวข้องกับหลายส่วน โดยนโยบายดังกล่าวเป็นไปตามแผนอนุรักษ์พลังงานของประเทศ (EEP) และแผนปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน” นายสาร์รัฐกล่าว
สำหรับสาระสำคัญของร่างกฎกระทรวงฉบับนี้เกี่ยวข้องกับการปรับปรุงกฎกระทรวงกำหนดประเภท หรือขนาดของอาคาร และมาตรฐานหลักเกณฑ์ และวิธีการในการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2552 ที่บังคับใช้กับอาคารที่จะก่อสร้างใหม่หรือดัดแปลง 9 ประเภท ได้แก่ สถานพยาบาล สถานศึกษา สำนักงาน อาคารชุด อาคารชุมนุมคน (หอประชุม) โรงมหรสพ โรงแรม อาคารสถานบริการ และอาคารศูนย์การค้า หรือห้างสรรพสินค้า
โดยให้เริ่มดำเนินการกับอาคารพื้นที่ 10,000 ตารางเมตรขึ้นไปในปีแรก (ปี 2564) และเพิ่มเติมเกี่ยวกับการตรวจรับรองแบบอาคาร โดยกำหนดให้การตรวจรับรองแบบอาคารให้กระทำโดยผู้ได้รับใบประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมหรือสถาปัตยกรรมควบคุม และผ่านการทดสอบหลักสูตรที่ พพ.ให้การรับรอง จากนั้นในปีที่ 2 (ปี 2565) ให้บังคับกับอาคารขนาดตั้งแต่ 5,000 เมตรขึ้นไป ปีที่ 3 (ปี 2566) บังคับกับอาคารขนาดตั้งแต่ 2,000 ตารางเมตร
“BEC จะต้องออกแบบอาคารให้ลดความร้อนเข้าสู่อาคารและเลือกใช้วัสดุอุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะมีเกณฑ์ประเมิน ได้แก่ ระบบกรอบอาคารด้วยการลดความร้อนเข้าสู่ตัวอาคาร ระบบแสงสว่าง ส่งเสริมใช้หลอดประหยัดไฟ ระบบปรับอากาศ ส่งเสริมใช้เครื่องปรับอากาศเบอร์ 5 ระบบผลิตน้ำร้อน และเกณฑ์การใช้พลังงานรวม” นายสาร์รัฐกล่าว