“สุริยะ” หารือเอกอัครราชทูตวิสามัญฯ แคนาดา โชว์ศักยภาพอีอีซี พร้อมรับนักลงทุนจากแคนาดา และร่วมมือด้านเทคโนโลยีการเกษตร พร้อมเตรียมประชุมพีพีพี พ.ย.นี้ รูปแบบออนไลน์
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังให้ นางซาราห์ เทเลอร์ เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งแคนาดาประจำประเทศไทย เข้าพบหารือในวาระเข้าดำรงตำแหน่งใหม่ ว่า ได้หารือประเด็นหารือที่สำคัญ ได้แก่ การเชิญชวนให้นักลงทุนแคนาดา เข้ามาลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เพิ่มขึ้น เนื่องจากมีสิทธิประโยชน์สำหรับการลงทุนที่น่าสนใจ รวมทั้งโครงสร้างพื้นฐานที่มีประสิทธิภาพ พร้อมกับได้หารือเกี่ยวกับโอกาสในการสร้างความร่วมมือกันในอนาคต เนื่องจากแคนาดาเป็นผู้ผลิตสินค้าเกษตรรายใหญ่เช่นเดียวกับประเทศไทย โดยสินค้าที่ผลิตมีความแตกต่างกัน แต่เชื่อว่าจะสามารถส่งเสริมซึ่งกันและกันได้ โดยแคนาดาจะสามารถแบ่งปันข้อมูล ประสบการณ์ และความรู้ให้ไทยได้
“ความร่วมมือด้านเทคโนโลยีการผลิตสินค้าเกษตรก็เพื่อให้ไทยได้รับองค์ความรู้ในด้านต่างๆ เพิ่มขึ้น เช่น การทำสมาร์ทฟาร์มมิง และ ออร์แกนิกฟาร์มมิง รวมถึงช่วยให้ไทยสามารถประยุกต์ไปสู่การแปรรูปอาหารและกระบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น อุตสาหกรรมการเกษตรถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทยที่แคนาดามีความเชี่ยวชาญ และไทยต้องการเชิญชวนมาลงทุน โดยเน้นการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง” นายสุริยะกล่าว
นอกจากนี้ยังมีการหารือกันถึงการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (พีพีพี) โดยแคนาดา มีการจัดประชุมด้านการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชนขนาดใหญ่เป็นประจำทุกปีในช่วงเดือน พ.ย. โดยปีนี้ก็จะจัดในช่วงเวลาเดียวกัน แต่เนื่องจากสถานการณ์โควิด คาดว่าในปีนี้จะจัดการประชุมเป็นแบบออนไลน์ ซึ่งการประชุมพีพีพีเป็นแนวทางที่เป็นประโยชน์ในการจัดหาแหล่งเงินทุนเพื่อสนับสนุนโครงการสิ่งก่อสร้างพื้นฐานและโครงการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะที่รัฐบาลทั่วโลกรวมทั้งไทยจำเป็นต้องใช้งบประมาณจำนวนมากในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ
“ปัจจุบันการร่วมลงทุนแบบพีพีพีเป็นประเด็นที่น่าสนใจและสำคัญมาก โดยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ได้มีการร่วมลงทุนโครงการในลักษณะพีพีพีเป็นจำนวนมาก เนื่องจากภาครัฐไม่สามารถลงทุนได้เองทั้งหมด ขณะเดียวกัน ภาคเอกชนยังมีประสิทธิภาพการทำงานในระดับสูงด้วย และจะเป็นประโยชน์หากไทยได้เรียนรู้ประสบการณ์จากแคนาดามากขึ้น สำหรับในประเทศไทย กระบวนการเกี่ยวกับพีพีพีค่อนข้างมีความซับซ้อนเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน และใช้เวลาในการดำเนินการยาวนาน แต่ปัจจุบันมีความพยายามในการลดขั้นตอนของโครงการลงทุนขนาดเล็กลง โดยที่ผ่านมาโครงการอีอีซีมีการประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนกับเอกชนหรือให้เอกชน เป็นผู้ลงทุนของโครงการเมกะโปรเจกต์ต่างๆ ซึ่งพบว่าผลการประมูลทำให้ภาครัฐได้ประโยชน์อย่างมาก เนื่องจากผู้ที่ชนะการประมูลซึ่งเป็นเอกชนให้ผลประโยชน์ต่อภาครัฐเป็นอย่างมาก” นายสุริยะกล่าว
ขณะเดียวกัน ได้มีการหารือถึงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมเป็นอย่างมาก โดยภายหลังการหารือฝ่ายแคนาดาได้รับทราบแนวทางของประเทศไทยในการป้องกันการระบาดในระยะที่ 2 และการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ซึ่งได้สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ไทย