เชลล์ย้ำลงทุนต่อเนื่องในไทยและอาเซียน ตั้งเป้าเปิดปั๊มใหม่ในไทยปีละ 30 แห่ง คาดสิ้นปีนี้แตะ 660 แห่ง พร้อมลุยติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปในปั๊ม 100 แห่งในปีหน้า ชี้โครงการ import terminal มาบตาพุด เสร็จปีหน้าทำให้เชลล์นำเข้าน้ำมันต่างประเทศสร้างความมั่นคงทางพลังงานไทย
นายปนันท์ ประจวบเหมาะ ประธานกรรมการ บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด เปิดเผยว่า เชลล์ให้ความสำคัญต่อการลงทุนในไทยและภูมิภาคอาเซียน โดยในไทยเชลล์มีการลงทุนอย่างต่อเนื่องในการขยายสถานีบริการน้ำมันเพิ่มขึ้น 30 ปั๊มต่อปี คาดว่าสิ้นปีนี้จะมีสถานีบริการน้ำมันอยู่ที่ 660 ปั๊มจากปัจจุบันมีอยู่ 639 ปั๊ม รวมทั้งมีการลงทุนในธุรกิจนอนออยล์ทั้งร้านสะดวกซื้อเชลล์ ซีเล็ค และร้านกาแฟ เดลี่คาเฟ่เพิ่มขึ้นด้วย
นอกจากนี้ เชลล์ได้มีการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคา(โซลาร์รูฟท็อป) ในสถานีบริการน้ำมันบางแห่ง รวมทั้งติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปที่สำนักงานใหญ่ของเชลล์และคลังน้ำมันด้วย โดยมีเป้าหมายในปี 2564 จะมีการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปในสถานีบริการน้ำมันเชลล์เพิ่มขึ้นเป็น 100 สถานี โดยจะดำเนินการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปให้ครอบคลุมมากที่สุด ส่วนรูปแบบการลงทุนนั้นก็มีหลากหลาย โดยบริษัทจะร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อติดตั้งให้ครอบคลุมมากที่สุด
รวมทั้งมีการติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า (EV Charger) ในบางสถานีฯ ได้เริ่มทดลองติดตั้งเพื่อรองรับกระแสการเข้ามาของรถยนต์ไฟฟ้าในไทย ซึ่งเชลล์มีการเตรียมพร้อมรองรับการเปลี่ยนผ่านพลังงาน ซึ่งในยุโรปและสิงคโปร์เชลล์ได้มีการติดตั้ง EV Charger แล้ว ส่วนการเพิ่มจุดติดตั้ง EV Charger ในไทยขึ้นอยู่กับนโยบายรัฐและความต้องการของผู้บริโภค
สำหรับโครงการ import terminal ที่มาบตาพุด จังหวัดระยอง คาดว่าจะแล้วเสร็จกลางปี 64 เพื่อตอบสนองความต้องการทางพลังงานของประเทศ ทำให้เชลล์สามารถนำผลิตภัณฑ์น้ำมันจากต่างประเทศได้ นอกจากนี้ที่ตั้งยังอยู่ในมาบตาพุด ซึ่งเป็นพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งเชลล์ก็พร้อมสนับสนุนนโยบายรัฐจัดหาพลังงานผ่านเทอร์มินัลพื้นที่ EEC
นายปนันท์กล่าวถึงยอดขายน้ำมันในปีนี้ว่า ตามข้อมูลของกรมธุรกิจพลังงาน ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 63 ภาพรวมอุตสาหกรรมน้ำมันในประเทศลดลง 10% จากผลกระทบการแพร่ระบาดของโควิด-19 และคาดว่าทั้งปี 2563 จะลดลงประมาณ 5% ขณะนี้แนวโน้มปริมาณการใช้น้ำมันดีขึ้น โดยดูจากข้อมูลกระทรวงคมนาคม พบว่าในช่วงต้นปีนี้ปริมาณรถยนต์ที่เข้า-ออกกรุงเทพฯ และปริมณฑลอยู่ที่ 2.5 ล้านคันต่อวัน แต่ช่วงล็อกดาวน์เดือน มี.ค.-เม.ย. 63 ปริมาณลดลงเหลือ 1 ล้านคันต่อวัน และปลายเดือน มิ.ย. 63 พบว่ากลับขึ้นมาใกล้เคียงอยู่ที่ 2.5 ล้านคันต่อวัน ดังนั้น หากไทยมีการเปิดประเทศและการท่องเที่ยวกลับมา ปริมาณการใช้น้ำมันก็น่าจะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย จึงมั่นใจว่ายอดการใช้น้ำมันในครึ่งหลังปีนี้จะดีกว่าครึ่งแรกปี 2563 ซึ่งยอดขายน้ำมันเชลล์สอดคล้องกับภาพรวมตลาดน้ำมัน ปัจจุบันเชลล์มีส่วนแบ่งตลาด 11.3% อันดับ 4 ของประเทศ
ส่วนการขยายสถานีบริการฯ ที่เน้นขายน้ำมันพรีเมียมนั้น ยังอยู่ระหว่างพิจารณาความเหมาะสมและความต้องการของผู้บริโภค หลังจากได้ดำเนินการไปแล้วที่สถานีบริการสาขาอโศกและสาขาพระราม 9 พบว่ายอดขายถือว่าอยู่ในเกณฑ์พึงพอใจ
ทั้งนี้ เชลล์ได้ประกาศเจตนารมณ์ของบริษัทในการเป็นพันธมิตรที่ไว้วางใจได้ Trusted Partner for Better Life ตอบโจทย์ด้านพลังงานและพร้อมอยู่เคียงข้างสังคมไทย เปิดตัวแนวคิดใหม่ #EnergyAmbition พลังงานดี ชีวิตมีสุข เพื่อส่งมอบพลังงานที่ช่วยสร้างคุณค่าให้กับชีวิต ในระยะฟื้นฟูหลังการระบาดของโควิด-19 ซึ่งแนวคิดใหม่นี้จะเป็นแผนการดำเนินงานหลักของเชลล์ในช่วงปี 63-65 เพื่อตอบสนองต่อสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปหลังโควิด-19 เชลล์ยังคงเดินหน้าขับเคลื่อนธุรกิจ พร้อมร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อการส่งมอบพลังงานที่สะอาดขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพ และดีต่อสิ่งแวดล้อม
โดยแนวคิดใหม่สำหรับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจระยะฟื้นฟูหลังโควิด-19 ให้ความสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจใน 5 ด้าน ดังนี้
A = Advanced Energy การใช้นวัตกรรมพลังงานที่มีประสิทธิภาพ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า ทั้งส่วนธุรกิจ และค้าปลีก
B = Brand Trust การเป็นแบรนด์ที่ได้รับความไว้วางใจ โดยทำงานร่วมกับทุกภาคส่วน ทั้งรัฐบาล คู่ค้าทางธุรกิจ และสังคม เพื่อทำความเข้าใจและปรับตัวให้สอดคล้องกับความต้องการด้านพลังงานของสังคม เชลล์เป็นพันธมิตรที่ได้รับความไว้วางใจจากรัฐบาลและคู่ค้าในไทยมาอย่างยาวนาน ซึ่งเห็นได้จากการดำเนินโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด โครงการวางท่อน้ำมันใหม่ไปในเส้นทางภาคเหนือและภาคอีสาน การยกระดับการเดินทางและคมนาคมเพื่อเมืองแห่งอนาคต นอกจากนี้ เชลล์ยังได้พัฒนาโครงการต่างๆ เพื่อส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีให้แก่คนไทย
C = Carbon Footprint การดำเนินงานที่เป็นรูปธรรมเพื่อลดผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตลอดการดำเนินงานทั้งห่วงโซ่อุปทาน ควบคู่ไปกับการมองหาโอกาสในการส่งมอบพลังงานสะอาดรูปแบบต่างๆ และพลังงานทางเลือกใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง
D = Digitalisation การนำเสนอเทคโนโลยีดิจิทัลและอีคอมเมิร์ซโซลูชันใหม่ๆ โดยคำนึงถึงความปลอดภัยและการเสริมสร้างสุขอนามัยที่ดี เช่น ความร่วมมือระหว่างเชลล์กับลาซาด้า ที่ช่วยให้ลูกค้าสามารถสั่งน้ำมันเครื่องผ่านลาซาด้า พร้อมนัดวันเวลา เลือกสถานีบริการน้ำมันเชลล์ที่จะทำการเปลี่ยนน้ำมันเครื่องเชลล์ได้อย่างสะดวกสบาย เป็นต้น