“สกพอ.” รับโควิด-19 ส่งผลให้แผนปั้นบุคลากรให้ตรงกับอุตสาหกรรมเป้าหมายรองรับความต้องการของนักลงทุนในพื้นที่อีอีซี 5 ปี ชะลอออกไป 6 เดือน แต่ยังคงเป้าพัฒนา 4.75 แสนคน เหตุมั่นใจลงทุนจะทยอยกลับมา พร้อมเร่งปั้นแรงงานรับ 4 อุตฯ มาแรงหลังโควิด-19 ทั้ง 5G โลจิสติกส์ การแพทย์ และอาหาร
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าแผนปฏิบัติการการพัฒนาบุคลากร การศึกษา การวิจัย และเทคโนโลยีรองรับการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ว่า จากผลกระทบโควิด-19 ขณะนี้ส่งผลให้แผนดังกล่าวซึ่ง สกพอ.ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพัฒนาบุคลากรรองรับให้ตรงกับความต้องการในอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) ระยะเวลา 5 ปี (ปี 2562-2566 )อาจต้องชะลอออกไป 6 เดือนตามทิศทางการลงทุน แต่เป้าหมายการพัฒนาแรงงานยังคงอยู่ที่ 475,000 คนใน 5 ปี
“ขณะนี้การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 5 โครงการมีความชัดเจนที่อนุมัติการลงทุนแล้ว 3 โครงการรวม 905,480 ล้านบาทคิดเป็น 53% ของเป้าหมาย 1.7 ล้านล้านบาท และที่เหลืออีก 2 โครงการจะเป็นปีหน้า และเมื่อรวมกับอุตสาหกรรมเป้าหมายจะมีเงินลงทุนรวมอีก 700,000-800,000 ล้านบาท ดังนั้น การพัฒนาแรงงานอาจชะลอแค่ระยะแรก จากนั้นก็มั่นใจว่าจะกลับมาทำให้เรายังคงเป้าหมายเดิมไว้ อย่างไรก็ตาม โควิด-19 เราก็อาศัยช่วงนี้เร่งพัฒนาเมื่อหมดโควิดแล้วการลงทุนกลับมาแรงงานก็จะพร้อมทันที เพราะการลงทุนแม้ว่าจะเป็นเรื่องสำคัญแต่หากขาดซึ่งแรงงานก็ไม่อาจขับเคลื่อนไปได้” นายคณิศกล่าว
ขณะเดียวกัน สกพอ.ยังคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิดของผลกระทบโควิด-19 เพื่อที่จะปรับเปลี่ยนรายละเอียดของความต้องการแรงงานให้ตรงกับความต้องการที่อาจเปลี่ยนไปซึ่งบางอุตสาหกรรมอาจต้องการเร็วขึ้น แต่บางอุตสาหกรรมอาจต้องเลื่อนออกไป โดยเบื้องต้นพบว่าหลังโควิด-19 อุตสาหกรรมที่มีความต้องการแรงงานที่เพิ่มและมาเร็ว ได้แก่ อุตสาหกรรมดิจิทัล โดยเฉพาะเทคโนโลยี 5G โลจิสติกส์ อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับดูแลสุขภาพหรือการแพทย์ และอาหาร ส่วนอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะมาช้าและทำให้ความต้องการแรงงานจะล่าช้าออกไป เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ แต่ที่ช้าสุดจะเป็นอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับอากาศยาน
ทั้งนี้ แผนพัฒนาบุคลากร 475,000 คนดังกล่าว ทาง สกพอ.ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงอุดมการศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงแรงงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เบื้องต้น สกพอ.จะพัฒนาให้ได้ผลชัดเจน 10% ของแผนเพื่อเป็นโมเดลในการขยายผลให้กับมหาวิทยาลัยอื่นๆ ทั่วประเทศเพื่อดำเนินการพัฒนาหลักสูตร โดยในปีงบ 2564 จะพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับ 30,000 คนซึ่งกำลังขอรับงบประมาณ 120 ล้านบาท ภายใต้ พ.ร.บ.เงินกู้ 400,000 ล้านบาท และเอกชนจะสมทบ 120 ล้านบาท โดยเอกชนที่เข้าร่วมสามารถนำไปหักลดหย่อนภาษี 2.5 เท่า ขณะนี้มีเอกชนเข้าร่วมแล้ว 150 ราย