xs
xsm
sm
md
lg

รฟม.สรุป “แทรมป์โคราช” 7.1 พันล้าน สัมปทาน 30 ปี เอกชนติง PPP-Net Cost เสี่ยงสูง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รฟม.จัด Market Sounding รถไฟฟ้านครราชสีมา มูลค่า 7.1 พันล้าน คาดชง ครม.กลางปี 64 สัมปทาน 30 ปี เปิดปี 68 ค่าโดยสาร 10-21 บาท เอกชนติงรูปแบบ PPP-Net Cost เสี่ยงสูง หวั่นไม่คุ้มค่า

นายธีรพันธ์ เตชะศิรินุกูล รองผู้ว่าการ (กลยุทธ์และแผน) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานจัดการประชุมเพื่อทดสอบความสนใจ (Market Sounding) ครั้งที่ 2 ของภาคเอกชน (กลุ่มนักลงทุนและผู้ประกอบการ) ในขั้นตอนการศึกษารายละเอียดความเหมาะสม ออกแบบ และจัดเตรียมเอกสารประกวดราคา โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดนครราชสีมา สายสีเขียว (ตลาดเซฟวัน-สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์) ว่า หลังจากนี้ รฟม.จะรวบรวมข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะทั้งหมด ประกอบการจัดทำแนวทางการร่วมลงทุนเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม.ภายใน 1-2 เดือนนี้ จากนั้นจะเสนอกระทรวงคมนาคม สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ประมาณเดือน พ.ค. 2564

จากนั้นจะจัดตั้งคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ ตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ปี 2562 ใช้เวลาประมาณ 1 ปี คาดว่าจะลงนามสัญญาในเดือน ก.ค. 2565 และเริ่มก่อสร้างประมาณเดือน ส.ค. 2565 เปิดให้บริการเดือน พ.ย. 2568

ทั้งนี้ คณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) มอบหมายให้ รฟม.ดำเนินการโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดนครราชสีมาในรูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) ซึ่งจากการศึกษา คาดว่าจะใช้รูปแบบ PPP-Net Cost ตามแผนจะใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี 3 เดือน (ส.ค. 65-พ.ย. 68) เปิดบริการ พ.ย. 2568 ระยะเวลาสัมปทาน 30 ปี

โครงการมีมูลค่าลงทุนรวม 7,115.48 ล้านบาท ประกอบด้วย ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 1,180.21 ล้านบาท (รัฐรับผิดชอบ) ส่วนเอกชนลงทุนค่าก่อสร้างงานโยธา 2,254.70 ล้านบาท ค่างานระบบรถไฟฟ้า 2,260.36 ล้านบาท ค่างานจัดหาขบวนรถไฟฟ้า 995.54 ล้านบาท ค่าจ้างที่ปรึกษาและควบคุมงานก่อสร้าง 176.59 ล้านบาท ค่า Provisional Sum 240.08 ล้านบาท

โดยเส้นทางสายสีเขียว (ตลาดเซฟวัน-สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์) ระยะทาง 11.15 กิโลเมตร มี 21 สถานี กำหนดอัตราค่าโดยสารเริ่มต้น 10 บาท + 1 บาท/กม. คาดสูงสุดไม่เกิน 21 บาท ประมาณการจำนวนผู้โดยสารที่ 9,920 คน /วันในปีแรกที่เปิดให้บริการ และเพิ่มเป็น 15,060 คน/วันในปี 2572 และ 28,340 คน/วันในปี 2597 (ปีที่ 30)

วิเคราะห์ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR) 13.11% ระยะเวลาคืนทุน 11 ปี ซึ่งเอกชนจะมีรายได้จากค่าโดยสาร, การพัฒนาเชิงพาณิชย์ในพื้นที่สถานีและอาคารจอดรถ ค่าบริการจอดรถ โครงการออกแบบเป็นระบบรถรางไฟฟ้ารางเบา (Tram) ซึ่งเปิดให้เอกชนสามารถเสนอเป็นแทรมป์ล้อเหล็ก หรือล้อยาง โดยล้อยางมีต้นทุนต่ำกว่าประมาณ 20% กำหนดจำนวน 10 ขบวนในปีเปิด และสูงสุด 17 ขบวน

ทั้งนี้ ภาคเอกชนมีความกังวลความเสี่ยงในการลงทุนรูปแบบ PPP-Net Cost และการกำหนดค่าโดยสารที่การศึกษาอาจยังไม่ชัดเจน แนวเส้นทางเริ่มจาก สถานีมิตรภาพ 1 สถานีสามแยกปักธงชัย สถานีมิตรภาพ 2 สถานีองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ สถานีสวนภูมิรักษ์ สถานีหัวรถไฟ สถานีเทศบาลนคร สถานีศาลเจ้าวัดแจ้ง สถานีโพธิ์กลาง สถานีอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี สถานีแยกประปา สถานีโรงเรียนสุรนารีวิทยา สถานีราชภัฏฯ สถานีราชมงคล สถานีบ้านเมตตา สถานีบ้านนารีสวัสดิ์ สถานีชุมพล สถานีศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา สถานีไปรษณีย์จอมสุรางค์ สถานีวัดแจ้งใน และสถานีดับเพลิง มีการเวนคืนที่ดินรวม 17 แปลง มี 2 จุด คือ ศูนย์ซ่อมบำรุงและศูนย์ควบคุมการเดินรถ บริเวณบ้านนารีสวัสดิ์ ประมาณ 25 ไร่ (40,000 ตารางเมตร) และจุดจอดแล้วจร (Park&Ride) ใกล้ตลาดเซฟวัน










กำลังโหลดความคิดเห็น