กรมการค้าต่างประเทศเผยอียูปรับเงื่อนไขการนำเข้าสินค้าอาหารประกอบ 3 กลุ่ม โดยกำหนดสินค้าที่นำเข้าจะต้องมีหนังสือรับรองและต้องผ่านการตรวจสอบตามเงื่อนไขเพื่อป้องกันความเสี่ยงด้านสาธารณสุขและสุขภาพสัตว์ แนะผู้ส่งออกไทยควรศึกษารายละเอียดให้ชัดเจน ก่อนมีผลบังคับใช้ เม.ย. 64
นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า สำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศ ณ กรุงบรัสเซลส์ แจ้งว่า สหภาพยุโรป (EU) ได้ออกระเบียบที่ EU 2020/692 เพื่อปรับเงื่อนไขของระเบียบที่ 2016/429 เกี่ยวกับการกำหนดสินค้าอาหารประกอบ (Composite Product) เป็น 3 กลุ่ม ตามความเสี่ยงด้านสาธารณสุขและสุขภาพสัตว์ ได้แก่ 1. สินค้าที่ไม่สามารถเก็บรักษาในอุณหภูมิห้อง ต้องมีแหล่งกำเนิดจากประเทศที่ได้รับอนุญาตให้ส่งออกผลิตภัณฑ์แปรรูปจากสัตว์แต่ละรายการเป็นส่วนผสมไปยัง EU และต้องแสดงหนังสือรับรอง (Official Certificate) จากหน่วยงานผู้มีอำนาจของประเทศผู้ผลิต 2. สินค้าที่มีส่วนผสมของเนื้อสัตว์แปรรูปที่สามารถเก็บรักษาในอุณหภูมิห้อง ต้องมีแหล่งกำเนิดจากประเทศที่ได้รับอนุญาตให้ส่งออกสินค้าเนื้อแปรรูปเป็นส่วนผสมไปยัง EU และต้องแสดงหนังสือรับรอง (Official Certificate) จากหน่วยงานผู้มีอำนาจของประเทศผู้ผลิต และ 3. สินค้าที่ไม่มีส่วนผสมของเนื้อสัตว์แปรรูปที่สามารถเก็บรักษาในอุณหภูมิห้อง ต้องมีแหล่งกำเนิดจากประเทศที่รับอนุญาตให้ส่งออกสินค้าเนื้อสัตว์ หรือผลิตภัณฑ์จากนม หรือผลิตภัณฑ์ประมง หรือผลิตภัณฑ์จากไข่ไปยัง EU และต้องแสดงใบรับรอง (Private Attestation) ซึ่งระบุข้อมูลเกี่ยวกับสาธารณสุขและสุขภาพสัตว์ตามที่กำหนดในระเบียบที่เกี่ยวข้อง โดยระเบียบฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 21 เมษายน 2564 เป็นต้นไป
นอกจากนี้ สินค้าอาหารประกอบทั้งสามกลุ่มข้างต้นจะต้องผ่านการตรวจสอบ Veterinary Check ณ ด่านชายแดน ก่อนนำเข้ามายัง EU สำหรับสินค้าที่มีความเสี่ยงต่ำ EU จะมีการประกาศข้อยกเว้นเพิ่มเติม ซึ่งอาจกำหนดให้ตรวจสอบ ณ จุดหมายปลายทางแทนได้ แต่อย่างไรก็ดี EU อยู่ระหว่างการพิจารณารูปแบบของ Official Certificate และ Private Attestation สินค้าอาหารประกอบเป็นสินค้าอาหารมนุษย์ที่มีส่วนผสมของวัตถุดิบที่มาจากทั้งพืช (Plant Origin) และผลิตภัณฑ์แปรรูปจากสัตว์ (Processed Products of Animal Origin) โดยในปัจจุบันการส่งออกสินค้าอาหารประกอบไปยัง EU จะต้องปฏิบัติตามระเบียบ 2016/429 ซึ่งกำหนดเงื่อนไขการส่งออกเป็นไปตามสัดส่วนและชนิดของสินค้าอาหารประกอบ ซึ่งปัจจุบันไทยได้รับอนุญาตให้ส่งออกผลิตภัณฑ์จากสัตว์บางชนิด เช่น สัตว์ปีก สัตว์น้ำ คอลลาเจน/เจลาตินจากปลาไปยัง EU ได้
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการ/ผู้ส่งออก หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งผู้ที่สนใจสามารถศึกษาและตรวจสอบเงื่อนไขรายละเอียดสำหรับสินค้าอาหารประกอบที่ EU จำแนกใหม่ 3 กลุ่มข้างต้นเพิ่มเติมได้ที่ Official Journal of The European Union: Regulation (EU) 2019/625 of 4 March 2019 เว็บไซต์: https://eur-lex.europa.eu/eli/reg_impl/2020/625/oj , Offficial Journal of The European Union: Regulation (EU) 2020/692 of 30 January 2019 เว็บไซต์: https://eur-lex.europa.eu/legal-content/EN/TXT/PDF/?uri=CELEX:32020R0692&from=EN และ https://docs.wto.org/dol2fe/Pages/SS/directdoc.aspx?filename=q:/G/SPS/GEN1786.pdf&Open=True เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้สามารถปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องได้อย่างไม่เป็นอุปสรรคทางการค้า