“ถาวร” ร่วมประชุมระดับรัฐมนตรีกรอบความร่วมมือลุ่มแม่น้ำโขง 4 ประเทศ และญี่ปุ่นด้านเศรษฐกิจ การค้า อุตสาหกรรม ครั้งที่ 12 เผยไทยเสนอพัฒนามาตรการก่อสร้างทางหลวงและสะพาน หนุนการค้า ข้ามแดนสะดวก ปลอดภัย พร้อมตั้งระบบคัดกรองโควิด-19
วันที่ 27 ส.ค. นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ในฐานะผู้แทนรัฐมนตรีประจำกรอบความร่วมมือลุ่มแม่น้ำโขง-ญี่ปุ่นด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของไทย ร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีกรอบความร่วมมือลุ่มแม่น้ำโขง-ญี่ปุ่นด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม ครั้งที่ 12 (the 12th Mekong-Japan Economic Ministers’ Meeting) ผ่านระบบการประชุมทางไกล ณ ห้องราชดำเนิน กระทรวงคมนาคม โดยมีนายฮิโรชิ คาจิยามะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น (METI) รัฐมนตรี และผู้แทนรัฐมนตรีประจำกรอบความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของประเทศลุ่มแม่น้ำโขง จำนวน 4 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว พม่า และเวียดนาม
ในการนี้ ที่ประชุมได้เห็นชอบร่างแถลงข่าวร่วมการประชุมฯ (Joint Media Statement) และการปรับปรุงแผนปฏิบัติการแนบท้าย (Work Program) วิสัยทัศน์การพัฒนาอุตสาหกรรมในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงในระยะที่ 2 (ปี 2562-2566) หรือ “MIDV 2.0” ซึ่งมุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ผ่านความเชื่อมโยงหลัก 3 ด้าน ได้แก่ ด้านความเชื่อมโยงด้านอุตสาหกรรม โครงสร้างพื้นฐาน และกฎระเบียบ ด้านนวัตกรรมเชิงดิจิทัล และด้านการดำเนินการตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)
นายถาวร เสนเนียม ได้ให้ความเห็นต่อการปรับปรุงแผนปฏิบัติการแนบท้ายเพื่อขับเคลื่อนวิสัยทัศน์ MIDV 2.0 ในระยะที่ 2 ถือเป็นการดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อรับมือต่อผลกระทบการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 เพื่อไม่ให้การเชื่อมต่อห่วงโซ่มูลค่าระหว่างประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงและญี่ปุ่นขาดช่วง
นอกจากนี้ ประเทศไทยได้นำเสนอโครงการความร่วมมือกับญี่ปุ่นและประเทศลุ่มแม่น้ำโขง คือ “การถ่ายทอดองค์ความรู้ระหว่างไทยกับประเทศลุ่มแม่น้ำโขงในการร่วมกันพัฒนามาตรฐานและรายละเอียดการก่อสร้างทางหลวงและสะพานเพื่อการอำนวยความสะดวกการค้าและการลงทุน” ซึ่งจะเป็นประโยชน์ร่วมกันในการข้ามแดนของคนและสินค้า โดยเฉพาะเร่งหารือในเรื่องมาตรฐานการข้ามแดนอย่างปลอดภัย และจัดตั้งระบบการคัดกรองด้านสุขภาพที่เป็นมาตรฐานเพื่อชะลอผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19
และขอขอบคุณรัฐบาลญี่ปุ่นที่ให้ความร่วมมือในโครงการศึกษาการอำนวยความสะดวกด้านคมนาคมขนส่งเพื่อเชื่อมโยงห่วงโซ่มูลค่าระหว่างไทยกับกัมพูชา บริเวณด่านอรัญประเทศ-ปอยเปต ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาการเชื่อมโยงการผลิตอุตสาหกรรมระหว่างสองประเทศต่อไป
สำหรับการพัฒนาภายใต้เสาหลัก “การดำเนินการตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” ประเทศไทย โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติอยู่ระหว่างขับเคลื่อนและผลักดันการดำเนินงานตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (SDGs) ผ่านการติดตามและประเมินผลโครงการลำดับความสำคัญสูงภายใต้แผนปฏิบัติการแนบท้ายวิสัยทัศน์ MIDV 2.0 เพื่อผลักดันการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ COVID-19 และขอให้ประเทศลุ่มแม่น้ำโขงร่วมกันขับเคลื่อนการดำเนินการตามเป้าหมาย SDGs ต่อไป
ทั้งนี้ กรอบความร่วมมือลุ่มแม่น้ำโขง-ญี่ปุ่นด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม มุ่งสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจระหว่างญี่ปุ่นกับประเทศลุ่มแม่น้ำโขงซึ่งเป็นฐานการผลิตของญี่ปุ่น ประเทศไทยจำเป็นต้องเร่งให้ญี่ปุ่นถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ไทยมีความเข้มแข็ง เช่น ยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งกลุ่มอุตสาหกรรม S-Curve ในพื้นที่ EEC ซึ่งคาดว่าญี่ปุ่นจะเป็นกลุ่มลงทุนหลัก ในขณะเดียวกันประเทศไทยจะต้องมุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างนวัตกรรม รวมทั้งปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาในทุกระดับเพื่อรองรับการลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อเพิ่มมูลค่า
การประชุมระดับรัฐมนตรีกรอบความร่วมมือลุ่มแม่น้ำโขง-ญี่ปุ่นด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม ครั้งที่ 13 กำหนดจัดขึ้นในปี 2564 ณ บรูไนดารุสซาลาม ในโอกาสการประชุมระดับรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน ครั้งที่ 53