xs
xsm
sm
md
lg

“หลี่ เค่อเฉียง” ประชุม MLC รับปากแบ่งปันข้อมูลน้ำโขง - จัดวัคซีนโควิดให้ประเทศลุ่มน้ำโขงก่อน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


(แฟ้มภาพซินหัว สื่อทางการจีน)
กลุ่มสื่อต่างประเทศรายงาน วันจันทร์ (24 ส.ค.) ในการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง (MLC) ครั้งที่ 3 ผ่านระบบการประชุมทางไกล นายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีนประกาศแบ่งปันข้อมูลอุทกวิทยาประจำปีของแม่น้ำล้านช้างให้กับประเทศในลุ่มแม่น้ำโขงนับตั้งแต่ปีนี้ไป

นายกรัฐมนตรีจีนระบุว่า นอกจากจีนจะดำเนินการตามแผนปฏิบัติการระยะ 5 ปี ภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง (2018 – 2022) แล้ว จีนจะจัดประชุมระดับรัฐมนตรี จัดเวทีความร่วมมือว่าด้วยทรัพยากรน้ำอย่างเป็นประจำ และสร้างแพลตฟอร์มแบ่งปันข้อมูลความร่วมมือด้านทรัพยากรน้ำฯ เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติจากอุทกภัยและภัยแล้ง

กรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้างเป็นกรอบความร่วมมือที่เกิดจากข้อริเริ่มของไทยเมื่อปี 2555 ประกอบด้วยประเทศสมาชิก 6 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม ไทยและจีน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันและสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจรวมทั้งลดช่องว่างทางเศรษฐกิจและการพัฒนาของประเทศสมาชิกลุ่มน้ำโขง

นอกจากนี้ จีนจะดำเนินโครงการความร่วมมือต่างๆ เช่น ความปลอดภัยของเขื่อน การเตือนภัยน้ำท่วม และปรับปรุงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ

นายหลี่ระบุว่า สมาชิกทั้ง 6 ประเทศของความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้างต่างบริโภคแม่น้ำสายเดียวกัน ถือว่ามีโชคชะตาร่วมกัน น้ำไม่เพียงแต่เป็นสาระสำคัญของความร่วมมือฯ แต่ยังช่วยเสริมความหมายทางจิตวิญญาณให้แก่กลไกนี้ ในการหาหนทางอยู่ร่วมกันอย่างเป็นมิตรและได้รับประโยชน์ร่วมกัน

นายกรัฐมนตรีจีนย้ำว่า จีนยินดีให้ความช่วยเหลือทุกประเทศในการบริหารทรัพยากรน้ำให้ดียิ่งขึ้น ทั้งนี้ ทุกประเทศควรเคารพสิทธิและผลประโยชน์ที่ถูกต้องตามกฎหมายในการพัฒนาและใช้ทรัพยากรน้ำอย่างสมเหตุผล ดูแลผลประโยชน์และข้อกังวลของกันและกัน และร่วมปรึกษาหารือในประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

ก่อนหน้านี้ จีนถูกนักวิชาการตะวันตกโจมตีเกี่ยวกับผลกระทบจากเขื่อนจีนที่มีต่อแม่น้ำโขง (จีนเรียกว่าแม่น้ำหลันชาง หรือล้านช้าง) ซึ่งมุ่งชี้ว่าเขื่อนจีนกักน้ำไว้ปริมาณมหาศาลในช่วงที่ประเทศลุ่มน้ำโขงประสบปัญหาภาวะภัยแล้งอย่างรุนแรงเมื่อปี 2562 ในขณะที่จีนโต้แย้งว่าการศึกษาดังกล่าวไม่ได้สะท้อนปริมาณกระแสน้ำในฤดูแล้งอย่างแท้จริง

ที่ผ่านมา จีนจึงพยายามส่งเสริมบทบาทที่สร้างสรรค์ของตนเองในกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้างมากขึ้น โดยในการประชุมกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้างครั้งนี้ จีนรับปากจะให้ความสำคัญกับการจัดสรรวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) แก่กลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขงก่อน เมื่อวัคซีนได้รับการพัฒนาจนสำเร็จและถูกนำไปใช้จริง

นอกจากนี้ จีนจะจัดตั้งกองทุนพิเศษเพื่อส่งเสริมภาคสาธารณสุขภายใต้กรอบความร่วมมือของกองทุนพิเศษแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง (LMC Special Fund) และจะเดินหน้าจัดสรรอุปกรณ์ป้องกันโรคระบาดและการสนับสนุนทางเทคนิคแก่กลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขงต่อไป




กำลังโหลดความคิดเห็น