พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าร่วมการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง (Mekong-Lancang Cooperation : MLC) ครั้งที่ 3 ผ่านวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล โดยมีผู้นำ 6 ประเทศสมาชิกเข้าร่วม
ในช่วงแรกของการประชุม นายทองลุน สีสุลิด นายกรัฐมนตรี สปป.ลาว ในฐานะประธานร่วม ได้กล่าวเปิดการประชุม ว่า รู้สึกเป็นเกียรติที่ได้เป็นประธานร่วมในการประชุมนี้ ขอบคุณความช่วยเหลือระหว่างกันในช่วงโควิด-19 และชื่นชมมาตรการเพื่อป้องกันและควบคุมโรคของทุกประเทศ เชื่อมั่นว่ากรอบ MLC จะช่วยส่งเสริมความรุ่งเรืองในอนุภูมิภาค พัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ท่ามกลางความท้าทายและร่วมกันปรับตัวเพื่อฟื้นฟูภายหลังช่วงโควิด-19
จากนั้น นายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีน ในฐานะประธานร่วม กล่าวขอบคุณความร่วมมือของผู้นำทุกประเทศ ความร่วมมือ MLC เกิดจากความช่วยเหลือ ร่วมมือกันผ่านแหล่งน้ำอนุภูมิภาคนี้จึงควรร่วมมือกันพัฒนาเศรษฐกิจผ่านการเชื่อมโยงทางการค้า แม้จะประสบกับความท้าทายโควิด-19 ความร่วมมือยังดำเนินต่อเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนต่อไป
ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทย กล่าวถ้อยแถลงแสดงความยินดีและชื่นชมที่กรอบ MLC มีพัฒนาการและมีความร่วมมือเพิ่มขึ้นตามลำดับ แม้การประชุมครั้งนี้จะเป็นการหารือผ่านระบบทางไกล แต่แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของทุกฝ่ายที่จะสานต่อความร่วมมืออย่างต่อเนื่อง ในภาวะที่ทุกประเทศต้องเผชิญกับความท้าทายจากสถานการณ์โควิด-19 และถือเป็นอีกวาระหนึ่งที่จะร่วมกันพลิกวิกฤตให้กลายเป็นโอกาสที่จะยกระดับความร่วมมือและความเป็นหุ้นส่วนระหว่างกัน พร้อมเชื่อมั่นว่า ปฏิญญาเวียงจันทน์จะสามารถย้ำเจตนารมณ์ร่วมของประเทศสมาชิก ทั้งด้านการเมือง ความมั่นคง เศรษฐกิจและการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะกองทุนพิเศษในกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ซี่งไทยได้รับอนุมัติทั้งหมด 10 โครงการในปีนี้
ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำถึงสาขาความร่วมมือที่ไทยให้ความสำคัญและมีความพร้อมทั้งหมด 4 สาขา ได้แก่ การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ไทยสนับสนุนข้อริเริ่มในการติดตามประเมินผลความร่วมมือด้านการบริหารจัดการน้ำ ที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณลุ่มน้ำโขง ความมั่นคงด้านสาธารณสุข ไทยได้รับการยอมรับการจัดการ และควบคุมสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งไทยพร้อมให้ความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาวัคซีนกับนานาชาติภายใต้กรอบ WHO โดยจะเร่งพัฒนาขีดความสามารถของไทยในการเป็นฐานการผลิตยาและวัคซีนของอนุภูมิภาค รวมทั้งเห็นพ้องกับประเทศสมาชิกว่า เมื่อผลิตวัคซีนสำเร็จ ประชาชนทุกภาคส่วนควรจะสามารถเข้าถึงได้ ยกระดับความเชื่อมโยงในอนุภูมิภาค ผ่านความร่วมมือในทุกมิติ โดยต้องคำนึงถึงความสมดุลและความมั่นคงทางสาธารณสุขควบคู่กัน โดยเฉพาะด้านคมนาคมและลอจิสติกส์ พลังงาน ดิจิทัล และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อกระจายรายได้ไปสู่พื้นที่ที่ห่างไกลจากระเบียงเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง การฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19 เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งนายกรัฐมนตรีเห็นว่าปัจจัยสำคัญที่จะเป็นการวางรากฐานทางเศรษฐกิจที่มั่นคงและยั่งยืน คือ การสร้างความยืดหยุ่นให้ภาคเอกชน ผ่านการสนับสนุนภาคธุรกิจเอกชน โดยเฉพาะกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดเล็กและรายย่อย (MSMEs) พร้อมช่วยพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศสมาชิกและสนับสนุนให้ประเทศใน MLC ร่วมกันกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจระหว่างกัน
ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรี เน้นย้ำว่า การประชุมครั้งนี้ถือเป็นการร่วมแสดงเจตจำนงและความแน่วแน่ร่วมกันของประเทศสมาชิกที่จะเผชิญหน้ากับความท้าทายต่าง ๆ โดยเปลี่ยนวิกฤตที่ทุกประเทศกำลังเผชิญอยู่ให้เป็นโอกาสในการร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด สร้างสรรค์ และต่อเนื่อง เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเจริญเติบโต เสถียรภาพ ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและเพื่อการพัฒนาและความมั่งคั่งของพลเมือง โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง