ปตท.คาดความต้องการใช้ก๊าซฯ ปีนี้หดตัว 9-10% ตามภาวะเศรษฐกิจที่หดตัวจากผลกระทบโควิด-19 ลุ้นปีหน้ากลับสู่ภาวะปกติ ส่วนการนำเข้า LNG Spot ปีนี้ต่ำกว่าที่ตั้งไว้ 11 ลำเรือ เหลือเพียง 7 ลำเรือ เหตุราคาตลาดจรขยับเพิ่มขึ้นแตะ 4 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู
นายวุฒิกร สติฐิต รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บมจ.ปตท. (PTT) เปิดเผยว่า ในปี 2563 ความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติในไทยคาดว่าจะอยู่ที่ 4,500-4,600 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน ปรับลดลง 9-10% จากปีที่แล้วอยู่ระดับเกือบ 5,000 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน หลังการใช้ก๊าซฯ ในภาคการผลิตไฟฟ้า ซึ่งเป็นพอร์ตใหญ่ที่สุดของความต้องการใช้ไฟฟ้าลดลง 8-9% ตามภาวะเศรษฐกิจไทยที่หดตัวลงหลังได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แม้ว่าขณะนี้สถานการณ์โควิด-19 มีแนวโน้มคลี่คลายแต่ความต้องการใช้ก๊าซฯ ยังไม่ฟื้นตัวมากนัก
อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ คาดว่าความต้องการใช้ก๊าซฯ จะกลับสู่ภาวะปกติในกลางปีถึงปลายปี 2564 หลังประเมินเศรษฐกิจและภาคการผลิตกลับมาก็จะฟื้นตัวได้รวดเร็ว จากการประเมินของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สคช.) คาดการณ์อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ไทยปีนี้หดตัว -7.5% ขณะที่แบงก์ชาติคาดการณ์จีดีพีไทย -8.1% และปีหน้าบวก 5%
นายวุฒิกรกล่าวต่อไปว่า จากความต้องการใช้ก๊าซฯ ที่ลดลง ประกอบกับสถานการณ์ราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ในตลาดจร (spot) ที่ลดต่ำลงมาก ทำให้ ปตท.ในฐานะที่เป็นผู้ซื้อก๊าซฯ หลักของประเทศ จำเป็นต้องเกลี่ยการเรียกรับซื้อก๊าซฯ จากแหล่งในอ่าวไทยเพื่อนำเข้า LNG spot เข้ามาทดแทนเพื่อให้ต้นทุนผลิตไฟฟ้าลดต่ำลง แต่การเรียกรับซื้อก๊าซฯ จากในประเทศนั้นยังเป็นไปตามเงื่อนไขสัญญาซื้อขายก๊าซฯ ระยะยาวที่มีการกำหนดปริมาณขั้นต่ำในการรับก๊าซฯ ไว้ล่วงหน้าตามสัญญา (DCQ) ซึ่งในช่วงครึ่งแรกปีนี้ บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ดำเนินการแหล่งก๊าซฯหลักในอ่าวไทย ได้รับผลกระทบจากการถูกเรียกรับซื้อก๊าซฯ ในปริมาณที่ลดลง
นายวุฒิกรกล่าวว่า ตั้งแต่ต้นปีนี้จนถึงปัจจุบัน ปตท.นำเข้า LNG spot เข้ามาแล้ว 7 ลำเรือ คิดเป็นปริมาณ 4-5 แสนตัน โดยมีราคานำเข้าเฉลี่ย 2.50 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู จากเป้าหมายที่จะนำเข้า 11 ลำเรือในปีนี้ หรือกว่า 7 แสนตัน แต่คาดว่านับจากนี้ถึงสิ้นปี 2563 การนำเข้า LNG อาจไม่มีความจำเป็น และราคา LNG spot ช่วงนี้ได้ปรับตัวขึ้นแรงมาที่กว่า 4 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู เป็นผลมาจากโครงการผลิต LNG บางแห่งในออสเตรเลียหยุดดำเนินการ แต่อย่างไรก็ตามยังต้องดูสภาพตลาดและนโยบายภาครัฐประกอบกันด้วย ซึ่งหาก ปตท.ไม่นำเข้า LNG spot เข้ามาเพิ่มเติมก็จะทำให้ไม่มีความจำเป็นต้องลดการเรียกรับก๊าซฯ จากอ่าวไทยเพิ่มเติมด้วยเช่นกัน
"ยังตอบไม่ได้ว่าจะนำเข้าหรือไม่นำเข้า อาจจะอยู่ที่นโยบายด้วย และดีมานด์ ถ้ากลับมาหรือราคาลงไปอีก แต่ถ้าสถานการณ์ปกติเราก็มอนิเตอร์ตลอด ถ้าถามวันนี้ ราคาแบบนี้ เราก็ว่าไม่น่าสนใจ ราคาก๊าซฯอ่าวไทยประมาณ 6 เหรียญ/ล้านบีทียู ใกล้เคียงกับ LNG ตามสัญญาระยะยาว ราคาใกล้เคียงกันทั้งก๊าซฯ พม่า เดิมที่เคยประเมินการนำเข้าก๊าซฯ ไว้ 11 ลำก็ประมาณแค่เดือนกันยายน เพราะปลายปี พฤติกรรมราคา LNG ช่วงไตรมาสสุดท้ายเป็นหน้าหนาวราคาสูง" นายวุฒิกรกล่าว
ปัจจุบันการจัดหาก๊าซฯ ของ ปตท.จะมาจาก 3 ส่วน ได้แก่ ก๊าซฯ ในอ่าวไทยราว 70%, ก๊าซฯ จากพม่า ราว 12-15% ส่วนที่เหลือเป็นการนำเข้า LNG ในส่วนสัญญาระยะยาวยังคงเป็นไปตามแผนนำเข้า 5.2 ล้านตัน/ปี ซึ่งในปีนี้ก็นำเข้ามาเกือบทั้งหมดแล้ว หรือคิดเป็นปริมาณราว 700 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน และนำเข้า LNG spot ราว 4-5 แสนตัน หรือราว 56-70 ล้านลูบาศก์ฟุต/วัน ซึ่งเป็นปริมาณที่ไม่มากนัก
ส่วนความคืบหน้าการก่อสร้างสถานีรับ-จ่าย LNG ที่หนองแฟบ จ.ระยอง เพื่อรองรับการนำเข้า LNG ในปริมาณ 7.5 ล้านตัน/ปี ซึ่งจะแล้วเสร็จในปี 2565 เมื่อรวมกับสถานีรับ-จ่าย LNG แห่งแรกที่มาบตาพุด ก็จะทำให้ ปตท.มีขีดความสามารถในการรับ-จ่าย LNG รวม 19 ล้านตัน/ปี หรือราว 2,660 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน เพียงพอรองรับความต้องการใช้ก๊าซฯ ในช่วงเวลาดังกล่าว รวมถึงกรณีมีปัญหาจากการเปลี่ยนผ่านผู้ดำเนินการของแหล่งก๊าซฯ เอราวัณ ที่จะสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในช่วงปี 2565-66 จนทำให้การผลิตก๊าซฯ อาจไม่ต่อเนื่องและล่าช้าก็ตาม