รฟม.แก้ทีโออาร์ ปรับเงื่อนไข คัดเลือกเอกชน PPP รถไฟฟ้าสายสีส้ม วงเงิน 1.2 แสนล. ผูกซองเทคนิค-การเงิน รวมคะแนนสัดส่วน 30-70 พร้อมเลื่อนยื่นซองออกไปอีก 45 วัน เป็นวันที่ 6 พ.ย. 63 “ภคพงศ์” ยืนยันเป็นไปตามประกาศคณะ กก.PPP ที่สงวนสิทธิ์ให้ปรับได้ และไม่ทำให้ได้เปรียบเสียเปรียบ
นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนตามมาตรา 36 แห่งพ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2562 โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม ตะวันตก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-บางขุนนนท์ และเดินรถไฟฟ้าสายสีส้มตลอดเส้นทาง บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี มูลค่า 1.2 แสนล้านบาท วันนี้ (21 ส.ค.) ได้สรุปว่า จะปรับเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกใหม่ โดยใช้เกณฑ์พิจารณาโดยรวมคะแนนข้อเสนอซองที่ 2 ด้านเทคนิค (สัดส่วน 30 คะแนน) และข้อเสนอซองที่ 3 ด้านการเงิน (สัดส่วน 70 คะแนน)
และจะมีการขยายเวลายื่นเอกสารประกวดราคาจาก 60 วัน เพิ่มอีก 45 วันหรือจากกำหนดให้ยื่นเอกสารประกวดราคาในวันที่ 23 ก.ย. 2563 เป็นวันที่ 6 พ.ย. 2563 เพื่อให้เอกชนมีเวลาในการปรับปรุงข้อเสนอใหม่ให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ในการพิจารณาใหม่ ซึ่งจะทำให้การเซ็นสัญญา จะล่าช้าไปประมาณ 1 เดือนครึ่ง โดย ภายในสัปดาห์หน้า รฟม.จะออกเอกสารแจ้งเพิ่มเติมให้เอกชนผู้ซื้อเอกสารประกวดราคารับทราบหลักเกณฑ์ในการพิจารณาคัดเลือกที่ปรับใหม่
ซึ่งสาเหตุที่ต้องปรับปรุงหลักเกณฑ์การพิจารณาใหม่ เพื่อให้ตรงกับประกาศคณะกรรมการนโยบายการลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) ที่กำหนดรายละเอียดหลักเกณฑ์ วิธีดำเนินการต่าง ๆ ในโครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ซึ่ง รฟม.ยืนยันว่า การพิจารณา โดยนำข้อเสนด้านเทคนิคและข้อเสนอด้านราคา ให้คะแนนประกอบการคัดเลือก จะเป็นประโยชน์กับโครงการมากที่สุด
“การปรับเกณฑ์พิจารณา เพื่อให้ตรงกับประกาศของคณะกรรมการนโยบาย PPP เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. 2563 เพราะคณะกรรมการมาตรา 36 ได้สรุปเงื่อนไขทีโออาร์ไปตั้งแต่เดือนพ.ค. ก่อนที่มีประกาศดังกล่าว แต่ยอมรับว่าก่อนจะเสนอร่างประกาศ ออกเชิญชวน รฟม.อาจจะยังไม่ได้ตรวจสอบให้ชัดเจนอีกครั้ง ทำให้คิดไม่ครบถ้วน แต่มีการสงวนสิทธิ์ให้สามารถปรับเปลี่ยนเงื่อนไขหรือยกเลิกได้ แม้ว่าจะเปิดขายทีโออาร์ไปแล้ว”
ซึ่งบมจ.อิตาเลียนไทยฯ ได่มีหนังสือร้องเรียนไปยังสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(สคร.) เมื่อวันที่ 6 ส.ค. ถึงการประเมินข้อเสนอการร่วมลงทุนฯ ว่าไม่ควรพิจารณาข้อเสนอการเงินสูงสุดเท่านั้น แต่ควรพิจารณาผู้ที่ให้ประโยชน์สูงสุดแก่รัฐในภาพรวมที่จะทำให้โครงการประสบความสำเร็จ ทางคณะกรรมการฯได้นำมาพิจารณา เพื่อให้ได้ข้อเสนอที่ดีและเป็นประโยชน์กับรัฐมากสุด
ส่วนกรณีที่บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS ยื่นหนังสือถึงรฟม.กรณีปรับเกณฑ์การพิจารณาขัดต่อพ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯนั้น ผู้ว่าฯรฟม. ยืนยันไม่ขัด พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ เนื่องจากในพ.ร.บ.จัดซื้อฯ ได้ระบุถึงวิธีการจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ที่มีความซับซ้อน และต้องใช้เทคโนโลยีชั้นสูง ให้สามารถนำข้อเสนอด้านเทคนิคมาเป็นส่วนหนึ่งของการประเมินได้ ซึ่ง ที่ผ่านมาในการจัดจ้าง วิศวกรที่ปรึกษา รฟม.ได้เกณฑ์ข้อเสนอทางเทคนิค รวมกับข้อเสนอด้านการเงินและประเมินผล (Price & Performance) มาก่อนแล้ว
”คณะกรรมการมาตรา 36 ได้หารือถึงประเด็นถึงความได้เปรียบเสียเปรียบ ซึ่งยืนยันว่าไม่มี และเป็นวิธีที่ไม่ขัดต่อกฎหมายและระเบียบใดๆ มีประเด็นเรื่องเวลาในการทำข้อเสนอ จึงได้ขยายให้อีก 45 วัน จากกำหนดเดิม หรือนับจากนี้ไป เอกชนจะมีเวลาอีก 70 วัน ในการปรับปรุงข้อเสนอใหม่ ซึ่งน่าจะเพียงพอ”
นายภคพงศ์กล่าวว่า ข้อเสนอยังคงเป็น 4 ซองเหมือนเดิม คือ 1.ซองทั่วไป เดิมเกณฑ์พิจารณาผ่าน/ไม่ผ่าน ซึ่งยังใช้เหมือนเดิม
2. ซองข้อเสนอด้านเทคนิค เดิมกำหนดคะแนนขั้นต่ำและประเมินผ่าน/ไม่ผ่าน หากผ่านก็ทิ้งคะแนนส่วนนี้ไป ส่วนเกณฑ์ใหม่ จะไม่ทิ้งคะแนน เพราะมีประเด็นว่า หากเกณฑ์เทคนิคกำหนดคะแนนผ่านที่ 80 คะแนน มีรายที่ได้ 86 คะแนนกับอีกรายได้ 99 คะแนน ภาพรวมถือว่าผ่านเทคนิคเหมือนกัน แล้วมาตัดสินที่ราคา แต่หากพิจารณารายที่ได้คะแนนเทคนิค 99 กับ 86 คุณภาพงานน่าจะต่างกันพอสมควร
3 . ซองข้อเสนอทางการเงิน 4. ซองข้อเสนอพิเศษ
สำหรับ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) เป็นโครงการร่วมลงทุน PPP Net Cost ในลักษณะความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน โดย เอกชนลงทุนงานออกแบบและก่อสร้างงานโยธาโครงการฯ ส่วนตะวันตก (สถานีบางขุนนนท์ - สถานีศูนย์วัฒนธรรมฯ) รวมถึงงานออกแบบ จัดหา ผลิต ติดตั้ง และทดสอบการทำงานของอุปกรณ์งานระบบรถไฟฟ้า รวมทั้งงานให้บริการการเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุงรักษาตลอดทั้งเส้นทางของโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 35.9 กม. วงเงิน 1.28 แสนล้านบาท ระยะเวลา 30 ปี โดยรัฐสนับสนุนเงินลงทุนเอกชนไม่เกินค่างานโยธา 96,012 ล้านบาท เป็นระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 10 ปี
แนวเส้นทาง แบ่งเป็นส่วนตะวันออก (ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ– มีนบุรี) ระยะทาง 22.5 กม.จำนวน 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10 สถานี และ สถานียกระดับ 7 สถานี) และส่วนตะวันตก (ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมฯ) ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย)
โดยมีเอกชนสนใจซื้อเอกสารข้อเสนอฯ สายสีส้มฯ รวมทั้งสิ้น 10 ราย ได้แก่
1. บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM
2. บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC
3. บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS
4. บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC
5. บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD
6. บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH
7. บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK
8. บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF
9. ซิโนไฮโดร คอร์ปอเรชั่น ลิมิเต็ด
10. บริษัท วรนิทัศน์ ดีเวลอปเมนท์ จำกัด