xs
xsm
sm
md
lg

สร้างโอกาสเพื่อผู้ด้อยโอกาส : กลุ่ม ปตท. ร่วมสร้างคุณค่าและสังคมที่เท่าเทียม

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เพื่อสร้างโอกาสในการมีอาชีพและรายได้ที่มั่นคง พร้อมทั้งยกระดับคุณภาพชีวิตและส่งเสริมความเท่าเทียมแก่ผู้ด้อยโอกาสในสังคม กลุ่ม ปตท. ร่วมกับ หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน กองทัพเรือ เปิดร้าน คาเฟ่ อเมซอน เพื่อการสร้างโอกาส หรือ Café Amazon for Chance สาขาหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ซึ่งเป็นสาขาแรกที่ให้บริการโดยทหารผ่านศึกที่ได้รับบาดเจ็บจากการรบและครอบครัว เข้ามาทำงานเป็นบาริสต้า

โดย Café Amazon for Chance สาขาหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน นับเป็นสาขาที่ 8 ใน 9 สาขา ของ Café Amazon for Chance ที่ดำเนินงานโดยบริษัท สานพลัง วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด ที่จัดตั้งขึ้นโดย ปตท. และ 6 บริษัท Flagship เพื่อดำเนินงานด้าน Social Enterprise ของกลุ่ม ปตท. ซึ่งที่ผ่านมา ได้ช่วยให้ผู้ด้อยโอกาส ทั้งผู้พิการทางการได้ยิน, ผู้บกพร่องทางการเรียนรู้, ผู้สูงวัย รวมทั้งทหารผ่านศึกและครอบครัว มีงานทำและมีรายได้จากการเป็นบาริสต้า พร้อมทั้งมีแผนที่จะขยายให้ได้ 12 สาขา ภายในปี 2563 นี้

สำหรับร้าน Café Amazon for Chance สาขาหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน ได้มีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการไปเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2563 ที่ผ่านมา โดยมี พลเรือเอก ลือชัย รุดดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารเรือ กองทัพเรือ และภริยา ให้เกียรติเป็นประธานในพิธี

(จากซ้าย กฤษณ์ อิ่มแสง, พลเรือเอก ลือชัย รุดดิษฐ์ และภริยา)
กฤษณ์ อิ่มแสง ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย ปตท. กล่าวว่า บริษัท สานพลัง วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด ได้พัฒนาโครงการ Café Amazon for Chance ด้วยการนำรูปแบบทางธุรกิจที่ประสบความสำเร็จของร้านกาแฟ คาเฟ่ อเมซอน ของโออาร์ ที่มีจำนวนมากกว่า 3,000 สาขา ทั้งในและต่างประเทศ มาออกแบบเป็นธุรกิจเพื่อสังคมให้ผู้ด้อยโอกาสกลุ่มต่าง ๆ โดยผลกำไรจากการดำเนินงานจะนำไปใช้เพื่อขยายผลในการสร้างสาขาเพื่อผู้ด้อยโอกาสแห่งต่อไป

“กลุ่ม ปตท. ของเรา พร้อมที่จะดำเนินกิจการเพื่อสังคม เพื่อตอบโจทย์ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม และให้ผู้ด้อยโอกาสกลุ่มต่าง ๆ ได้มีโอกาสลืมตาอ้าปาก ร้าน Café Amazon for Chance ที่เราเปิดนี้ ถือว่าเป็นอีกหนึ่งโครงการในการยื่นความช่วยเหลือให้แก่ผู้ด้อยโอกาส ซึ่งเราเชื่อว่า อย่างน้อย ๆ เราจะใช้เครื่องมือนี้ในการช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม และให้พวกเขาสามารถหารายได้ด้วยตัวเอง เราไม่ประสงค์จะให้ปลา แต่เราประสงค์จะให้เบ็ดและสอนวิธีการตกปลาให้เขา นี่คือสิ่งที่จะทำให้เขาเกิดความภาคภูมิใจกับชีวิต นี่คือสิ่งที่เป็นความปรารถนาของกลุ่ม ปตท.”


ขณะที่ ดวงพร เที่ยงวัฒนธรรม ประธานกรรมการบริษัท สานพลัง วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด และ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กำกับดูแลองค์กรและกิจการสัมพันธ์ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า หนึ่งในเป้าหมายของโครงการ Café Amazon for Chance นอกจากจะช่วยเหลือสังคมในด้านการสร้างอาชีพและรายได้ที่มั่นคงให้กลุ่มผู้ด้อยโอกาสมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ยังนับเป็นสร้างกำลังใจและความภาคภูมิใจให้กับพวกเขาในแง่ของการสามารถพึ่งพาตนเองได้

“และที่สำคัญคือ ทำให้พวกเขาได้รับความรู้ ทักษะการเป็นบาริสต้า และการประกอบธุรกิจขายเครื่องดื่มตามมาตรฐานของร้านคาเฟ่ อเมซอน โดยต้องเรียนรู้และฝึกปฏิบัติจริงทุกขั้นตอนเป็นเวลากว่า 1 เดือน เพื่อให้พร้อมปฏิบัติหน้าที่ในทุกบทบาทภายในร้าน และสามารถต่อยอดเป็นอาชีพส่วนตัวได้ในอนาคต”


ทั้งนี้ สำหรับคาเฟ่ อเมซอน ฟอร์ ช้านส์ สาขาหน่วยบัญชาการนาวิกโยธินนี้ ยังจะนำผลกำไรส่วนหนึ่งไปช่วยเหลือสนับสนุนกิจกรรมการอนุบาลและรักษาเต่าทะเลบาดเจ็บที่ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล ซึ่ง ปตท.สผ. ให้การสนับสนุนการปรับปรุงอาคาร และอุปกรณ์และเครื่องทางการแพทย์ในการตรวจรักษาและผ่าตัดเต่าทะเลให้กับโรงพยาบาลเต่าทะเล ซึ่งตั้งอยู่ที่ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล บริเวณฐานทัพเรือแห่งนี้ด้วย

พงศธร ทวีสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปตท.สผ. เป็นหน่วยงานที่ถูกจัดตั้งมา เพื่อทำการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ซึ่งฐานปฏิบัติการของเรา หลัก ๆ จะอยู่ในท้องทะเล ปตท.สผ. นอกจากการทำธุรกิจแล้ว เราจะต้องดูแลผู้มีส่วนได้เสียที่ร่วมงานกับเรา นั่นจึงนำไปสู่ความคิดที่ว่า เราจะต้องอนุรักษ์ท้องทะเลไทย

“ร้าน Café Amazon for Chance แห่งนี้ มีคุณค่าสองทาง ประการแรกก็คือ ทหารผ่านศึกที่ได้รับความบาดเจ็บและครอบครัว ได้มีโอกาสในการทำงาน ประการที่สอง กำไรที่เราได้มา เราจะนำไปใช้กับการอนุรักษ์เต่าทะเล ณ ศูนย์อนุรักษ์เต่าทะเลที่หาดเตยงามแห่งนี้ เพราะว่าเต่าทะเลเป็นสายพันธุ์หนึ่งซึ่งจะช่วยสร้างความสมบูรณ์ของท้องทะเล การที่เราเข้ามาอนุรักษ์เต่าทะเล ก็เพื่อให้ท้องทะเลไทยของเราได้มีความสมบูรณ์มากขึ้น และศูนย์อนุรักษ์เต่าทะเล เราก็ได้เข้ามาปรับปรุง 3 ปีแล้วนะครับ เราช่วยปรับปรุงตัวอาคาร แล้วก็หาอุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อให้มีมาตรฐานสากล และก็ทำให้การอนุรักษ์เต่าทะเล สามารถอนุบาลและรักษาเต่าที่บาดเจ็บได้ด้วย” พงศธร ทวีสิน กล่าวทิ้งท้าย






กำลังโหลดความคิดเห็น