xs
xsm
sm
md
lg

ถึงเวลาหรือยัง? ยกระดับวินัยการเงินคนไทย ดัน “ค่ามือถือ-ค่าน้ำ-ค่าไฟ-เงินกู้ กยศ.” เข้าเครดิตบูโร

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ยกระดับวินัยทางการเงินของคนไทย ดัน กสทช.ส่งข้อมูลคนเบี้ยวค่ามือถือเชื่อมเครดิตบูโร รวมถึงค่าน้ำ ค่าไฟ และข้อมูลกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา ควรส่งผลพิจารณาเครดิตลูกหนี้

เครดิตบูโร หรือรายงานข้อมูลเครดิต เปรียบเสมือน “ถังข้อมูลพฤติกรรมหนี้” ที่ใหญ่ที่สุดของระบบการเงินไทย และอีกนัยหนึ่งก็ยังเป็น “สัญญาณเตือนภัยเศรษฐกิจ”...หากเพราะ เครดิตบูโร สามารถนำข้อมูลมาใช้วิเคราะห์ระบบการเงิน รวมทั้งยังสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการอ่านสัญญาณเศรษฐกิจของสถาบันต่างๆ เพื่อป้องกันการเกิดความล่มสลายได้อีกด้วย ในขณะที่วงการโทรคมนาคมก็ประสบปัญหาการเบี้ยวหนี้เป็นอย่างมาก ซึ่งพฤติกรรมหนี้แบบตั้งใจไม่จ่ายนั้นสะสมมากขึ้นทุกปี ปีละหลายพันล้านบาท สร้างความเสียหายให้ระบบเศรษฐกิจ และสะท้อนถึงเครดิตส่วนบุคคล ที่ถึงยุคเชื่อมโยงข้อมูลกับเครดิตบูโร ดังนั้น หากคุณคิดจะทำบัตรเครดิต ซื้อบ้าน ออกรถ ขอสินเชื่อ ทำบัตรกดเงินสด ซื้อมือถือแบบผ่อนชำระ เบี้ยวค่าน้ำ ค่าไฟ ข้อมูลจะเชื่อมโยงกันหมด

ทั้งนี้ ถือเป็นการเข้าสู่ยุคบิ๊กดาต้าที่ข้อมูลเชื่อมโยงกันทั้งหมด โดยผลักดันการตั้งบริษัทกลางที่ทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลเครดิตจากผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือหลายๆ แห่งที่มีสมาชิก โดยนำมารวบรวมประมวลผลเป็นข้อมูลเครดิตในภาพรวมของเจ้าของข้อมูลแต่ละราย และเชื่อมโยงกับสถาบันการเงินหรือลูกค้าเจ้าของข้อมูลต้องการเรียกดูรายงานข้อมูลเครดิตภายใต้ขอบเขตที่กฎหมายกำหนด บริษัทข้อมูลเครดิตก็จะเปิดเผยข้อมูลเครดิตนั้นในรูปของรายงานข้อมูลเครดิต เพื่อยกระดับความมีวินัยทางการเงินของคนไทย ทั้งนี้ ในอดีตเครดิตบูโรไม่มีการจัดเก็บข้อมูลการชำระ หรือค้างชำระเกี่ยวกับสาธารณูปโภคทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น เบอร์โทรศัพท์ รายการบัญชีเงินฝาก ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า หรือข้อมูลทรัพย์สินเงินฝากแต่อย่างใด เพราะกฎหมายไม่อนุญาตให้ดำเนินการจัดเก็บ ใครฝ่าฝืนจะมีโทษในทางอาญา และปัจจุบันยังไม่มีการนำส่งข้อมูลจากกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษาเข้ามาในระบบข้อมูลเครดิตอีกด้วย ทำให้คนใช้ช่องโหว่นี้ในการเบี้ยวหนี้ ทำให้เกิดหนี้เสียมหาศาลในแต่ละปี จะเห็นได้จากกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา ที่คนไทยมักคิดว่า ไม่จ่ายก็ไม่เป็นไร จึงเกิดคำถามว่า หากไม่เชื่อมโยงข้อมูลเครดิตบูโร คนเบี้ยวหนี้เหล่านี้ ยังสมควรไปสร้างหนี้ใหม่แล้วไม่จ่ายอีกหรือไม่ ดังนั้น การเชื่อมโยงข้อมูลเครดิตของลูกหนี้ รวมถึงค่าสาธารณูปโภคต่างๆ จะทำให้เห็นพฤติกรรม หากใช้การวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytics) ทำให้เห็นประวัติและพฤติกรรมอย่างชัดเจน ทั้งนี้ ปัจจุบัน กยศ.ระบุว่ามีนักเรียนเบี้ยวหนี้กว่า 2.2 ล้านราย มูลค่ากว่า 7.4 หมื่นล้านบาท

นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เปิดเผยว่า สาเหตุที่นักเรียนหรือนักศึกษาที่เรียนจบแล้วแต่ผิดนัดชำระหนี้ หรือไม่ยอมจ่ายหนี้คืน กยศ.แบ่งได้ 3 ประเภท คือ

กลุ่มที่ 1 นักเรียนนักศึกษาที่ยากจนจริงๆ เมื่อจบการศึกษาไปแล้วยังไม่มีงานทำ หรือไปทำงานอยู่ในภาคเกษตรแต่อาจประสบปัญหาสภาพคล่องด้านเงินทุนและเป็นหนี้ภาคเกษตรจึงไม่อาจชำระหนี้ได้ นักเรียนนักศึกษาประเภทนี้จำนวนน้อยมากๆ
กลุ่มที่ 2 "ขาดจิตสำนึก" แม้มีงานทำและมีรายได้แต่ไม่ยอมจ่ายหนี้คืน กยศ.
และ กลุ่มที่ 3 "ขาดวินัยทางการเงิน" หลังจากเรียนจบและมีงานทำแล้ว แต่ไม่ยอมใช้หนี้คืน กยศ.เพราะขาดวินัยทางการเงิน

ดังนั้น หากมีการเชื่อมโยงข้อมูลจะทำให้ลูกหนี้มีการพิจารณาการสร้างหนี้อย่างรอบคอบ และลดปัญหาหนี้เสียให้แก่ผู้ประกอบการ รวมถึงความสามารถในการปล่อยกู้ให้แก่ลูกหนี้ที่มีพฤติกรรมที่ดีในอนาคตอีกด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น