คุณรู้หรือไม่ว่าปั๊มน้ำมันของไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก ทั้งพื้นที่ที่มีขนาดใหญ่ ห้องน้ำสะอาด ร้านอาหาร ร้านค้าต่างๆ มีไว้บริการอย่างครบครัน มีจำนวนปั๊มมากกว่า 10,000 แห่ง อยากแวะต้องได้แวะ ที่สำคัญเวลาจะเติมน้ำมันยังมีให้เลือกถึง 10 ชนิด มากที่สุดในโลก โดยมีกลุ่มเบนซินถึง 6 ชนิด ได้แก่ เบนซิน 95, แก๊สโซฮอล์พรีเมียม, แก๊สโซฮอล์ 95, แก๊สโซฮอล์ 91, แก๊สโซฮอล์ E20 และ แก๊สโซฮอล์ E85 ส่วนกลุ่มดีเซลมี 4 ชนิด ทั้งหัวจ่ายดีเซลพรีเมียม, ดีเซล B7, ดีเซล B10 และดีเซล B20
ปัญหาดังกล่าวส่งผลให้ผู้บริโภคเองก็สับสนไม่รู้ว่าน้ำมันชนิดไหนเหมาะกับรถตนเองหรือไม่ เลยทำให้การใช้เชื้อเพลิงไม่ตรงกับเครื่องยนต์ที่ออกแบบมา กลายเป็นความสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ พิสูจน์ได้ในวันนี้ก็จะเห็นชัดเจนในแง่จำนวนรถยนต์เบนซินที่มีประมาณ 6.4 ล้านคัน ส่วนใหญ่สามารถใช้แก๊สโซฮอล์ E20 ได้แต่กลับพบว่า E20 มีส่วนแบ่งการตลาดเพียง 22% เท่านั้น สาเหตุหลักที่ผู้ขับขี่รถไม่นิยมใช้เพราะมองว่าเครื่องยนต์ไม่แรง
ขณะที่สภาพปัญหาของผู้ค้าน้ำมันเองก็ต้องแบกรับภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นทั้งถังเก็บน้ำมันที่หลากหลายชนิด การขนส่งรวมถึงหัวจ่ายน้ำมัน เหล่านี้ที่ผ่านมาจึงมีเสียงเรียกร้องต่อเนื่องจากผู้ค้าน้ำมันทั้งรายใหญ่ รายเล็ก ให้มีการลดชนิดน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศลง โดยเฉพาะรายกลางและรายเล็กที่เสียงดังขึ้นต่อเนื่องด้วยเหตุที่มีได้แค่ 5-6 หัวจ่ายเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ในปี 2557 สถาบันปิโตรเลียมได้เสนอผลศึกษาให้ยกเลิกแก๊สโซฮอล์ 91 และให้ E20 และ E85 เป็นเพียงน้ำมันทางเลือก แต่จนแล้วจนรอดขณะนี้การยกเลิกแก๊สโซฮอล์ 91 ก็ยังคงไม่ประสบความสำเร็จ
แม้ว่าแผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิงของประเทศระยะยาว ปี พ.ศ. 2558-2570 หรือ Oil Plan 2015 จะกำหนดให้ลดชนิดน้ำมันของกลุ่มเบนซินและแก๊สโซฮอล์ลงมาเพื่อผลักดันการใช้เอทานอลโดยกระทรวงพลังงานได้มุ่งเป้าการยกเลิกจำหน่ายแก๊สโซฮอล์ 91 วันที่ 1 ม.ค. 2561 อีกครั้งต่อมา แต่ที่สุดก็ต้องเจอโรคเลื่อนต่อเนื่องด้วยปัจจัยหลักๆ ส่วนใหญ่ที่ปริมาณเอทานอลมีไม่เพียงพอ ต่อมากระทรวงพลังงานได้ปรับแนวทางใหม่ด้วยการไม่ประกาศการยกเลิก แต่ใช้กลไกการตลาดให้ผู้บริโภคเป็นผู้ตัดสินใจด้วยการถ่างส่วนต่างราคาแก๊สโซฮอล์ 91 ให้ถูกกว่าแก๊สโซฮอล์ 95 ซึ่งปัจจุบันต่างกันเพียง 27 สตางค์ต่อลิตร ทำให้ผู้ใช้รถยนต์และมอเตอร์ไซค์ต่างหันมาเติมกันเพิ่มขึ้น
ความพยายามยกเลิกแก๊สโซฮอล์ 91 เริ่มกลับมาอีกครั้ง เมื่อนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เข้ามาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ซึ่งเน้นนโยบายพลังงานบนดิน เป็นการต่อยอดจากแผนพลังงานเดิมทั้งแผนพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP 2018) และแผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิงระยะยาว (Oil Plan2018) ที่มุ่งส่งเสริมการใช้เอทานอล และไบโอดีเซล (B100) เพื่อยกระดับราคาพืชผลทางการเกษตรทั้งอ้อย มันสำปะหลัง ที่เป็นวัตถุดิบสำคัญการผลิตเอทานอล และปาล์มที่เป็นวัตถุดิบผลิต B100
ด้วยจังหวะราคาปาล์มที่ตกต่ำของไทยทำให้นายสนธิรัตน์เร่งเครื่องเพื่อช่วยเหลือราคาปาล์มตามนโยบายที่วางไว้จนนำมาสู่การประกาศให้น้ำมันดีเซล B10 เป็นน้ำมันพื้นฐานกลุ่มดีเซลตั้งแต่ 1 มกราคม 2563 แทนดีเซล B7 ที่กลายเป็นน้ำมันทางเลือกสำหรับรถเก่าและรถยุโรปที่ยังรองรับไม่ได้ และมีดีเซล B20 เป็นทางเลือกสำหรับรถบรรทุกขนาดใหญ่ โดยมีเป้าหมายการใช้ไบโอดีเซลเพิ่มขึ้นเป็น 7 ล้านลิตรต่อวันในปี 2563 จากขณะนี้เฉลี่ยอยู่ที่ราวกว่า 5 ล้านลิตรต่อวัน
ขณะที่ทางฟากของกลุ่มเบนซินเพื่อส่งเสริมการใช้เอทานอลเพิ่มขึ้น นายสนธิรัตน์ได้กำหนดที่จะยกเลิกการจำหน่ายแก๊สโซฮอล์ 91 เพื่อผลักดันการประกาศให้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 เป็นน้ำมันพื้นฐานกลุ่มเบนซิน ซึ่งครั้งนั้นกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) ได้หารือร่วมกับโรงกลั่นและได้สรุปที่จะกำหนดให้โรงกลั่นน้ำมันเลิกการผลิตน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 ตั้งแต่ 1 มิถุนายน 2563 และให้ผู้ค้าน้ำมันปรับตัวในการยกเลิกการจำหน่ายหน้าปั๊มน้ำมันมีผลวันที่ 1 กันยายน 2563
หลายคนอาจสงสัยเหตุใดจึงยังไม่ยกเลิกแก๊สโซออล์ 95 ก่อน นั่นก็เพราะรถในกลุ่มนี้ต้องหันไปเติมเบนซินออกเทน 95 แทนซึ่งมีราคาแพงกว่าจะทำให้กลายเป็นภาระที่มากเกินไป กระทรวงพลังงานจึงต้องหลีกเลี่ยงไม่ให้กระทบต่อประชาชน ในเบื้องต้นจนกว่าจะมีการปรับโครงสร้างราคาให้สามารถแข่งขันได้ และเหตุผลที่ไม่ยกเลิกแก๊สโซฮอล์ E85 ทันทีก่อนทั้งที่จำนวนปั๊มเวลานี้แทบจะหายากมากอยู่แล้ว นั่นเป็นเพราะกระทรวงพลังงานเองก็ให้เหตุผลที่ว่าน้ำมันชนิดนี้เปรียบเสมือนสัญลักษณ์การเดินหน้าน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพ หากการใช้น้อยลงเรื่อยๆ ในอนาคตก็จะนำไปสู่การยกเลิกได้เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม แผนงานที่วางไว้ต้องสะดุดอีกรอบเมื่อไทยต้องปิดประเทศหรือล็อกดาวน์เพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และนำมาซึ่งความต้องการหน้ากากอนามัย แอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อ หรือผลิตภัณฑ์เจลทำความสะอาดมือเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดจำนวนมากจนนำไปสู่การขาดแคลนในระยะแรกๆ กระทรวงพลังงานจึงร่วมมือกับกระทรวงการคลังในการปลดล็อกให้นำเอาเอทานอลที่ใช้ในน้ำมันเชื้อเพลิงไปใช้ในทางการแพทย์ด้วยการนำไปผลิตเป็นแอลกอฮอล์ 70% สำหรับใช้ฆ่าเชื้อ ซึ่งผู้ผลิตเอทานอลสามารถดึงกำลังการผลิตเอทานอลส่วนเกินกว่า 1 ล้านลิตร ออกมาใช้ได้หมด เครื่องจักรที่เคยเดินเครื่องการผลิตอยู่ที่ 60-70% ก็ผลิตได้ถึง 80-90%
นโยบายดังกล่าวยังคงค้างคาหลังจากนายสนธิรัตน์ได้ลาออกจากตำแหน่ง ขณะที่ร่างแผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2561-80 (Oil Plan 2018) ฉบับปรับปรุงได้เสร็จสิ้นแล้วและได้กำหนดแผนการส่งเสริมเชื้อเพลิงชีวภาพและวางไทม์ไลน์การลดประเภทชนิดน้ำมันลงได้แก่ ส่งเสริมการใช้แก๊สโซฮอล์ E 20 เป็นน้ำมันเบนซินพื้นฐาน (ปริมาณการใช้ E20 ไม่ต่ำกว่า 50% ของความต้องการใช้น้ำมันกลุ่มเบนซินภายในปี 2564), ยกเลิกจำหน่ายแก๊สโซฮอล์ 91 ในปี 2564 ยกเลิกแก๊สโซฮอล์ E85 ในปี 2565 ยกเลิกแก๊สโซฮอล์ 95 ในปี 2570 ยกเลิกดีเซลบี 7 ในปี 2575 และยกมาตรฐานน้ำมันสู่มาตรฐานยุโรป ระดับ 5 (ยูโร 5 ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2567) ทั่วประเทศ
อย่างไรก็ตาม ภายใต้ Oil Plan ดังกล่าวยังได้กำหนดเป้าหมายการใช้ไบโอดีเซลที่ 8 ล้านลิตรต่อวัน และเอทานอลที่ 7.5 ล้านลิตรต่อวัน ในปี 2580 พร้อมกับกำหนดให้มีการศึกษาเพื่อลดต้นทุนการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพและแนวทางการกำหนดราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพ รวมถึงทบทวนการกำหนดโครงสร้างราคาน้ำมันเชื้อเพลิงให้มีความเหมาะสม
“แผนการส่งเสริมให้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ อี 20 เป็นน้ำมันเกรดพื้นฐานกลุ่มเบนซินที่เดิมกำหนดไว้ภายในไตรมาส 3 ปีนี้ตามนโยบายของนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ขณะนี้กรมฯ ก็ได้เตรียมเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน คนใหม่เห็นชอบ” น.ส.นันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) กล่าว
อธิบดี ธพ.ได้อธิบายให้เห็นไทม์ไลน์ว่า หากรัฐมนตรีเห็นชอบจะใช้เวลา 9 เดือนหลังจากที่แผนได้รับการอนุมัติโดยช่วง 3 เดือนแรกจะหนุนให้ประชาชนหันมาเติม E20 เพิ่มขึ้นโดยอาจจะมีทั้งแคมเปญต่างๆ มาเชิญชวนและการใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมาสนับสนุนเรื่องราคาจูงใจ จากนั้นช่วงระยะเวลา 3-6 เดือนจะกำหนดให้โรงกลั่นน้ำมันหยุดทำการผลิตน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 พร้อมกับจะใช้กลไกราคาทำให้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 กับแก๊สโซฮอล์ 95 มีราคาเท่ากัน พร้อมทำส่วนต่างระหว่างแก๊สโซฮอล์ E20 ให้ถูกกว่าแก๊สโซฮอล์ 95 จูงใจการใช้ E20 และเมื่อดำเนินการครบ 9 เดือนก็สามารถประกาศให้ E20 เป็นน้ำมันพื้นฐานกลุ่มเบนซินอย่างเป็นทางการ
สำหรับการจัดทำ Oil Plan ดังกล่าวได้มีการพยากรณ์ความต้องการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในภาคขนส่งหลังมีมาตรการอนุรักษ์พลังงานแล้ว ปลายปี 2580 การใช้น้ำมันกลุ่มเบนซินจะอยู่ที่ 39.83 ล้านลิตรต่อวัน จากปี 2562 อยู่ที่ 32.30 ล้านลิตรต่อวัน เติบโตน้อยกว่ากลุ่มดีเซล ที่คาดว่าปลายปี 2580 การใช้จะอยู่ที่ 90.56 ล้านลิตรต่อวัน จากปี 2562 อยู่ที่ 67.41 ล้านลิตรต่อวัน เนื่องจากได้มีการประมาณการความต้องการใช้ยานต์สมัยใหม่และยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่จะเข้ามาแทนที่รถยนต์เบนซิน มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าความต้องการใช้พลังงานในภาพรวมปัจจุบันได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจที่ถดถอยจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ทั่วโลกยังคงมีผู้ติดเชื้อสะสมเพิ่มขึ้นมาสู่ระดับกว่า 18 ล้านคนและยังคงมีทิศทางที่ยังเพิ่มต่อเนื่อง ขณะที่บางประเทศหลังคลายล็อกดาวน์กลับมาระบาดรอบสอง ภาพเหล่านี้ล้วนสะท้อนมายังการใช้พลังงานของไทยให้ลดต่ำลงซึ่งแม้แต่ ธพ.เองก็ได้คาดการณ์ว่าปี 2563 ยอดใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในไทยจะ -8.7% หรือลดลงมากสุดเป็นประวัติการณ์มากกว่าวิกฤติต้มยำกุ้ง
ความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจโลก การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้ชีวิตของคนไทยหลังโควิด-19 และการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยียังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงและท้าทายต่อการวางแผนบริหารจัดการด้านพลังงานในอนาคต ซึ่งแน่นอนว่าแผนพลังงงานต่างๆ ที่รอค้างเพื่อเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยเฉพาะแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือ PDP 2018 ฉบับปรับปรุงคงต้องมาลุ้นกันว่าจะเข้าสู่การพิจารณาหรือจะถูกดึงกลับมาเพื่อทบทวนใหม่เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์โควิด-19 หรือเดินหน้าต่อก็ต้องมาลุ้นกัน
ขณะที่ร่าง Oil Plan ฉบับปรับปรุงที่รอเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ซึ่งเป็นที่แน่ชัดแล้วว่านายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนใหม่จะทำหน้าที่ประชุมหัวโต๊ะนั้นก็รอให้เคาะเห็นชอบและปักหมุดการยกเลิกแก๊สโซฮอล์ 91 อีกครั้ง