xs
xsm
sm
md
lg

รถไฟฟ้าตอบโจทย์! ลดโลกร้อน สนข.ดันเร่งเปิด 10 สายพร้อมฟีดเดอร์เชื่อมต่อสะดวก

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นางวิไลรัตน์ ศิริโสภณศิลป์ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร  (สนข.)
สนข.เผยรถไฟฟ้าช่วงลดโลกร้อนลงทุนคุ้มค่า ประเมินหลังเปิดรถไฟฟ้า 6 สายช่วยลดการใช้พลังงานน้ำมัน 224.3 พันตัน ดันแผนเร่งเปิดครบ 10 สายตามแผนแม่บท พร้อมเชื่อมต่อการเดินทางกับขนส่งอื่น และคุมค่าโดยสารเพื่อจูงใจ

นางวิไลรัตน์ ศิริโสภณศิลป์ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการสัมมนาเพื่อเผยแพร่โครงการ ครั้งที่ 2 โครงการติดตามประเมิน (Tracking) การใช้พลังงานที่ลดได้จากมาตรการภาคขนส่งด้วยการพัฒนาระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนภายใต้การสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน และจราจร ว่า จากการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 21 (COP-21) เมื่อวันที่ 30 พ.ย. 2558 ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ซึ่ง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ร่วมกล่าวถ้อยแถลงแสดงเจตนารมณ์ว่า

“ประเทศไทยมีความตั้งใจที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 20-25% จากระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกรณีปกติ ภายในปี 2573 (ค.ศ. 2030)”

โดยผลการประชุมมีมติเห็นชอบความตกลงปารีส หรือ Paris Agreement ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 4 พ.ย. 2559 ที่ผ่านมา ภาคคมนาคมขนส่งจึงได้จัดทำแผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ปี พ.ศ. 2564-2573 สาขาคมนาคมขนส่ง เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานตามแผนที่นำทางลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย และเพื่อเป็นไปตามเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกที่ 20% หรือที่ 111 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (MtCO2e) ภายในปี 2573 โดยภาคคมนาคมขนส่งได้ทำการประเมินศักยภาพในการลดก๊าซเรือนกระจกรวมทั้งสิ้น 35.42 MtCO2e ภายในปี 2573

ทั้งนี้ สนข.ได้จัดทำโครงการติดตามประเมิน (Tracking) การใช้พลังงานที่ลดได้จากมาตรการภาคขนส่งด้วยการพัฒนาระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน ภายใต้การสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการอนุรักษ์พลังงานภาคการขนส่ง เพื่อตอบสนองต่อค่าเป้าหมายการลดความเข้มการใช้พลังงาน ตามแผนอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2558-2579 (EEP 2015) และค่าเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ตามแผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ปี พ.ศ. 2564-2573 สาขาคมนาคมขนส่ง

จากการดำเนินโครงการภายใต้แผนการดำเนินงานของโครงการ ระยะเวลา 12 เดือน ผลการประเมินพลังงานที่ลดได้ด้วยการติดตามประเมิน (Tracking) ที่สามารถตรวจวัด รายงาน และทวนสอบ (Measurement, Reporting and Verification : MRV) ได้ ในปี 2563 พบว่ามาตรการภาคขนส่งด้วยการพัฒนาระบบรถไฟฟ้า 6 เส้นทางที่เปิดให้บริการในปัจจุบัน ได้แก่ สายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สำโรง, ช่วงสำโรง-สมุทรปราการ สายสีเขียว ช่วงสนามกีฬาแห่งชาติ-บางหว้า สายสีน้ำเงิน ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง และต่อขยาย ช่วงบางซื่อ-ท่าพระ รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ และสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-เตาปูน สามารถช่วยลดปริมาณการใช้พลังงานได้ประมาณ 224.3 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ (ktoe)
และหากดำเนินการทุกเส้นทางในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลตามแผนแม่บท M-Map จะสามารถช่วยลดปริมาณการใช้พลังงานได้ประมาณ 1,375.5 ktoe ในปี 2579 และหากเปรียบเทียบกับแผนอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2558-2579 (EEP 2015) ที่คาดการณ์ไว้ที่ 4,823 ktoe ถือว่าผลที่ประเมินได้ค่อนข้างแตกต่างกัน

ขณะที่พบว่าในปี 2563 ที่มีรถไฟฟ้า 6 เส้นทางเปิดให้บริการ สามารถช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณ 0.64 MtCO2e และในปี 2573 หากสามารถเปิดให้บริการรถไฟฟ้าครบ 10 สาย ตามแผนแม่บท M-Map จะช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 2.65 MtCO2e ซึ่งสูงกว่าแผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ปี 2564-2573 สาขาคมนาคมขนส่งได้เคยประเมินไว้ที่ 1.06 MtCO2e

ทั้งนี้ จากที่บริษัทที่ปรึกษาได้ลงสำรวจข้อมูลพื้นฐานจากประชาชนในพื้นที่ให้บริการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงบางซื่อ-ท่าพระ และสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต กรณีที่ตัดสินใจไม่ใช้รถไฟฟ้า โดยข้อมูลก่อนที่จะมีการเปิดให้บริการรถไฟฟ้า พบว่าเดินทางโดยรถเมล์ 34.74% รถแท็กซี่ 29.50% รถส่วนตัว 16.13% รถตู้ 6.05% สองแถว สามล้อ 5.55% จักรยานยนต์ 4.54% จักรยานยนต์รับจ้าง 0.05% เดิน 1.93% เรือ 1.06%

หลังเปิดบริการรถไฟฟ้า ประชาชนใช้รถไฟฟ้า 57.89% รถเมล์ 9.94% รถสองแถว สามล้อ 9.68% รถส่วนตัว 7.64% รถจักรยานยนต์ 5.73% เดิน 5.30% รถไฟ 1.90% รถไฟ 1.91% แท็กซี่ 1.27% จักรยานยนต์รับจ้าง 0.64% โดยเหตุผลที่ยังไม่ใช้รถไฟฟ้า ประมาณ 59% เห็นว่าต้องเดินทางต่อหลายระบบกว่าจะถึงปลายทาง และ 18% เห็นว่ามีค่าโดยสารสูง ส่วนกลุ่มที่เปลี่ยนมาใช้รถไฟฟ้า ส่วนใหญ่ 63% เห็นว่าช่วยประหยัดเวลา

อย่างไรก็ตาม ผลลัพธ์จากการดำเนินงานภายใต้การผลักดันทางด้านนโยบายของภาครัฐ โดยภาครัฐจะมีข้อมูลพื้นฐานและค่าการลดการใช้พลังงานและก๊าซเรือนกระจกที่ชัดเจนมากขึ้น และสามารถตัดสินใจหรือวางนโยบายเพิ่มการลดก๊าซเรือนกระจกได้ตามเป้าหมายได้อย่างเหมาะสม รวมถึงหน่วยงานปฏิบัติมีความพร้อมในการดำเนินงาน สามารถกำหนดหน้าที่รับผิดชอบและแนวทางในการดำเนินงานโครงการด้านการคมนาคมขนส่งได้อย่างชัดเจน เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายของการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศและการพัฒนาระบบขนส่งที่ยั่งยืนได้ต่อไป






กำลังโหลดความคิดเห็น