เงินเฟ้อ ก.ค. 63 ติดลบ 0.98% ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน หลังราคาพลังงานเริ่มทรงตัว อาหารสดราคาขยับขึ้นในรอบ 3 เดือน จากการเปิดเรียนและคลายล็อกดาวน์ มาตรการลดค่าน้ำ-ค่าไฟสิ้นสุด และผู้ประกอบการลดจัดโปรโมชัน คาดเงินเฟ้อยังทรงตัวในแดนลบ หลังฐานราคาน้ำมันปีนี้ยังต่ำ คาดทั้งปีลบ 1.1%
น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือน ก.ค. 2563 ลดลง 0.98% เป็นการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 จากที่เคยติดลบหนักตั้งแต่เดือน เม.ย.-มิ.ย. 2563 โดยลดลง 2.99%, 3.44% และ 1.57% ตามลำดับ จึงไม่น่ากังวลในเรื่องเงินเฟ้อที่ขยายตัวติดลบ โดยมองว่าเงินเฟ้อจะยังทรงตัวอยู่ในระดับนี้ต่อไป ซึ่งถือว่าสอดคล้องกับทิศทางของเศรษฐกิจในประเทศ และเงินเฟ้อรวม รวม 7 เดือนของปี 2563 (ม.ค.-ก.ค.) ลดลง 1.1% ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐาน ที่หักอาหารสดและพลังงานออก เดือน ก.ค. 2563 สูงขึ้น 0.39% เฉลี่ย 7 เดือน สูงขึ้น 0.34%
ปัจจัยที่ทำให้เงินเฟ้อเดือน ก.ค. 2563 ฟื้นตัวดีขึ้นมาจากราคาพลังงานที่เริ่มทรงตัว ส่งผลให้การหดตัวของราคาพลังงานในเดือนนี้ลดลง จากเดิมที่ราคาพลังงานจะเป็นตัวฉุดเงินเฟ้อสำคัญ, อาหารสดกลับมาเพิ่มขึ้นในรอบ 3 เดือน จากการเปิดภาคเรียน การคลายล็อกดาวน์ที่ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาเป็นปกติ และราคาเนื้อสุกรในประเทศสูงขึ้น จากความต้องการของเพื่อนบ้าน, มาตรการลดค่าไฟฟ้าและประปาสิ้นสุดลง และผู้ประกอบการจัดโปรโมชันลดราคาสินค้าน้อยลง ทำให้ราคากลับมาเป็นปกติ
ทั้งนี้ ในเดือน ก.ค. 2563 มีสินค้าที่มีราคาสูงขึ้น 210 รายการ เช่น ข้าวสารเหนียว เนื้อสุกร ซี่โครงหมู ข้าวราดแกง กับข้าวสำเร็จรูป อาหารเช้า น้ำมันพืช น้ำอัดลม และค่าเช่าบ้าน เป็นต้น ไม่เปลี่ยนแปลง 75 รายการ และลดลง 137 รายการ เช่น น้ำมัน ทั้งเบนซิน และดีเซล ก๊าซหุงต้ม ส้มเขียวหวาน พริกสด และเงาะ เป็นต้น
สำหรับแนวโน้มเงินเฟ้อในเดือนต่อไป คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นจากมาตรการที่รัฐบาลส่งเสริมและกระตุ้นให้มีการท่องเที่ยวในประเทศ และราคาพลังงานเริ่มทรงตัว แต่อาจจะยังอยู่ในแดนลบ เพราะราคาพลังงานเมื่อเทียบกับปีก่อนยังต่ำ และยังต้องติดตามการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ราคาพลังงานโลก เศรษฐกิจโลก ซึ่งยังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ยังวางใจไม่ได้ โดยกระทรวงพาณิชย์ยังคงคาดการณ์เงินเฟ้อทั้งปี 2563 อยู่ที่ติดลบ 0.7% ถึงลบ 1.5% มีค่ากลางอยู่ที่ลบ 1.1% มีปัจจัยสนับสนุนจากจีดีพีติดลบ 7.6% ถึงลบ 8.6% น้ำมันดิบดูไบ 35-45 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยน 30.5-32.5 บาทต่อเหรียญสหรัฐ