xs
xsm
sm
md
lg

โควิด-19 พ่นพิษ ขนส่ง 3 แสนรายงานหด 50% วอนรัฐช่วยก่อนเลิกกิจการ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้ประกอบการขนส่งรายกลางและเล็ก (เอสเอ็มอี) 3 แสนรายหวั่นเลิกกิจการสูงหลังโควิด-19 พ่นพิษทำเศรษฐกิจชะลอตัวงานหด 50% ยังไร้วี่แววกระเตื้อง หวังทีมเศรษฐกิจใหม่จะสานต่อมาตรการช่วยเหลือและเยียวยา หลัง “อุตตม” เตรียมช่วยเหลือแต่ลาออกเสียก่อน

นายทองอยู่ คงขันธ์ ประธานที่ปรึกษาสหพันธ์ขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย
เปิดเผยว่า ผู้ประกอบการรถขนส่งในประเทศที่เป็นรถรับจ้างสาธารณะไม่ประจำทางซึ่งเป็นรายขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) ส่วนใหญ่เป็นของคนไทยประมาณ 3 แสนรายยังคงประสบปัญหามีงานขนส่งเฉลี่ยเพียง 40-50% เนื่องจากเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ที่ฉุดการเติบโตชะลอตัว ซึ่งหากรัฐไม่หามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหรือดูแลผู้ประกอบการเหล่านี้มีโอกาสสูงที่จะต้องปิดกิจการลง โดยก่อนหน้านี้ผู้ประกอบการได้ไปยื่นข้อเสนอถึง นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อขอการช่วยเหลือ แต่ต่อมานายอุตตมได้ลาออกจากตำแหน่งทำให้ยังคงต้องรอทีมเศรษฐกิจใหม่ที่จะเข้ามาสานต่อความช่วยเหลือ

“ก่อนหน้านี้ขนส่งเอสเอ็มอีไม่มีงานเลย 3-4 เดือนจากผลกระทบโควิด-19 ทางเราได้เข้าไปยื่นหนังสือต่อนายอุตตมให้ช่วยเหลือ และนายอุตตมได้หารือกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (สสว.) ที่จะหามาตรการเข้ามาดูแล แต่ล่าสุดก็ยังไม่ได้คืบหน้าเพราะนายอุตตมได้ลาออกเสียก่อนก็คงจะต้องรอคนใหม่หรือทีมเศรษฐกิจใหม่มาแก้เร่งด่วน เพราะสิ่งที่กังวลคือช่วง ส.ค.-ต.ค.มาตรการยืดการชำระหนี้จะหมดลงดอกเบี้ยจะกลับมาสู่ปกติ ผู้ประกอบการคงไม่มีความสามารถในการชำระหนี้โอกาสถูกยึดรถ และเลิกกิจการจะมีสูง และยังส่งผลให้พนักงานขับรถบรรทุกตกงานกว่า 4 ล้านคน” นายทองอยู่กล่าว

ปัจจุบันรถบรรทุกมีประมาณ 1.4 ล้านคัน (6 ล้อขึ้นไป) ซึ่งรายใหญ่และกลางที่ผ่านมาถูกต่างชาติเข้ามาซื้อกิจการ (เทกโอเวอร์) ไปเกือบทั้งหมดแล้ว เหลือที่เป็นคนไทยที่เป็นรายย่อยและส่วนใหญ่เป็นการรับงานต่อจากรายใหญ่ ซึ่งมาตรการที่ผู้ประกอบการต้องการให้รัฐช่วยเหลือ เช่น การปรับลดภาษีหัก ณ ที่จ่ายลง จาก 1% เหลือ 0.5% เพื่อคงการจ้างงานพนักงานขับรถไว้ การจัดตั้งกองทุนวงเงิน 2-3 หมื่นล้านเพื่อช่วยเหลือด้านการเงิน รวมไปถึงระยะยาวรัฐควรพิจารณาช่วยเหลือในรูปแบบแพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อเข้ามาช่วยดูแลระบบขนส่งของธุรกิจ เป็นต้น

นายยู เจียรยืนยงพงศ์ ประธานผู้ก่อตั้งสหพันธ์การขนส่งทางรถบรรทุกอาเซียน กล่าวว่า ขณะนี้ธุรกิจภาคขนส่งรายใหญ่ของโลกล้วนเข้ามาดำเนินธุรกิจในไทยหลังจากที่ไทยมีการเปิดเขตการค้าเสรี (FTA) กับหลายประเทศ โดยเข้ามาลักษณะ 2 รูปแบบ ได้แก่ ซื้อบริษัทขนาดเล็กแล้วให้คนไทยบริหาร กับการเข้ามาซื้อบริษัทแล้วบริหารเองทั้งหมด ทั้งนี้เนื่องจากภูมิศาสตร์ของไทยเป็นศูนย์กลางด้านการขนส่งในภูมิภาคอาเซียนที่มีแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง และยังเชื่อมโยงการขนส่งทางบกไปยังมาเลเซียสิงคโปร์ รวมถึงอินเดีย

“ขนส่งรายใหญ่ของโลก 10 รายล้วนมาดำเนินธุรกิจในไทยหมดแล้วเพราะเรามีภูมิศาสตร์ที่เป็นศูนย์กลางภูมิภาคอาเซียนและยังเชื่อมไปยังอินเดีย จีน ประกอบกับเรามีถนนที่ดีสุดในอาเซียน ธุรกิจขนส่งของไทยจริงๆ เหลือแค่รายเล็ก และเมื่อโควิด-19 มาครั้งนี้ขนส่งของไทยก็อาจจะเหลือน้อยลงไปอีก” นายยูกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น