8 วิสาหกิจชุมชนภาคตะวันออก-อีสานรุดยื่นหนังสือที่กระทรวงพลังงาน เรียกร้องให้รัฐบาลที่กำลังฟอร์มทีมเศรษฐกิจใหม่ให้เดินหน้าโรงไฟฟ้าชุมชน ยันยกเลิกชาวบ้านลำบากเหตุเตรียมพื้นที่ไว้หมดแล้ว และยังคาดหวังรายได้ชุมชนไม่ต่ำกว่า 6 ล้านบาท/ปี
วันนี้ (23 ก.ค.) เวลาประมาณ 13.30 น. ที่ ก.พลังงาน ตัวแทนวิสาหกิจชุมชน 8 แห่งจากภาคตะวันออก และ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้เดินทางมาที่กระทรวงพลังงาน โดยยื่นหนังสือถึง นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีและรักษาการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เพื่อขอให้เร่งรัดโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก
นางนฤชล พฤกษา ประธานวิสาหกิจชุมชนวิสาหกิจชุมชน กลุ่มผู้เลี้ยงโคขุนสร้างอาชีพตลาดไทร จังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า จากการที่มีการปรับเปลี่ยนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนใหม่ก็ยังวิตกกังวลว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงโรงไฟฟ้าชุมชน ซึ่งโครงการนี้เป็นความหวังของกลุ่มผู้เลี้ยงโคขุนใน อ.ชุมพวงที่ประสบปัญหาภัยแล้งจึงหันมาปลูกหญ้าเนเปียร์เพื่อจำหน่ายแก่โรงไฟฟ้าโดยรวมกลุ่มวิสาหกิจชุมชน 290 ค และได้ประสานงานกับภาคีเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเลี้ยงโคเนื้อบ้านหนองคู่ อำเภอลำทะเมนชัย จังหวัดนครราชสีมา ที่อยู่ใกล้เคียง มาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้การปลูกหญ้า และร่วมกันส่งหญ้าเพื่อสร้างความมั่นใจกับโรงไฟฟ้าที่จะมาตั้งในอนาคต
นายวิโรจน์ เลินไธสง ประธานวิสาหกิจชุมชนศูนย์กลางเรียนรู้ผู้ผลิตสินค้า อ.ห้วยแถลง จ.นครราชสีมา กล่าวว่า พื้นที่ห้วยแถลงไม่สามารถทำนาได้เพราะประสบภาวะภัยแล้งจึงหันมาปลูกหญ้าเนเปียร์ ทั้งเป็นพืชอาหารสัตว์ขายได้ 900-1,100 บาท/ตัน และจะแบ่งส่วนหนึ่งมาขายแก่โรงไฟฟ้า 500 บาท/ตัน ซึ่งที่ผ่านมาก็คาดหวังโครงการจะเกิดได้
"โครงการนี้ต้องร่วมมือกันตั้งแต่ ผู้ลงทุนสร้างโรงไฟฟ้า, เกษตรกรผู้ปลูกพืชพลังงาน, ผู้ดำเนินการตัดและนำส่งพืชพลังงานถึงโรงไฟฟ้า วิสาหกิจชุมชน บริหารรายได้โดยไม่ต้องอาศัยงบจากรัฐ ผลิตไฟฟ้าขนาด 3 เมกะวัตต์ แต่ละพื้นที่คาดจะมีการปลูกหญ้าเนเปียร์ 3,000 ไร่ จะมีเงินส่วนแบ่งรายได้ 0.25 บาท/หน่วย หรือ 6 ล้านบาท/ปีเข้ากองทุนหมู่บ้าน ซึ่งประเมินขั้นต่ำราว 120 ล้านบาท ในช่วงระยะเวลาสัญญาขายไฟ 20 ปี (หรือ 500,000 บาทต่อเดือน เป็นเวลา 20 ปี) ในขณะเดียวกันก็จะมีปุ๋ยจากโครงการโรงไฟฟ้าชีวภาพในการนำไปใช้ในพื้นที่เกษตรอีกด้วย" นายวิโรจน์กล่าว
นายสุรเชษฐ์ ภูมิศรีแก้ว ประธานวิสาหกิจชุมชนวิสาหกิจชุมชนเพื่อการท่องเที่ยว โดยชุมชนบ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี กล่าวว่า ชุมชนบ้านเชียงเป็นแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมมากว่า 5,000 ปี มีการแบ่งและควบคุมพื้นที่ของชุมชนบ้านเชียงออกเป็น 3 วง เพื่อรักษามรดกโลกไว้อย่างหวงแหน ก็ยังมีความสนใจที่จะเข้าร่วมโครงการ โดยจัดสรรพื้นที่รอบนอกในการปลูกพืชเศรษฐกิจเพื่อป้อนโรงไฟฟ้า และนำรายได้จากส่วนแบ่งมาช่วยรักษามรดกโลกไว้อีกทางหนึ่งด้วย
นายธนพงศ์ เนื่องมาก ประธานวิสาหกิจชุมชนวิสาหกิจกลุ่มผู้เลี้ยงโคเนื้อ ต.หนองบัว จ.บุรีรัมย์ กล่าวว่า คาดหวังว่า รมว.พลังงานคนใหม่จะสานต่อโรงไฟฟ้าชุมชน ซึ่งในพื้นที่ก็เริ่มมีการปลูกหญ้าเนเปียร์แล้ว เพราะหวังว่าจะเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่จะสร้างรายได้เสริมเก่เกษตรกร