xs
xsm
sm
md
lg

โควิด-19 พ่นพิษทำคนตกงานแล้ว 3.3 ล้านคน กังวลทั้งปีอาจแตะ 7-8 ล้านคน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ส.อ.ท.” เผยแนวโน้มการตกงานของคนไทยขณะนี้อยู่ระดับ 3.3 ล้านคน ยอมรับทั้งปีจะถึง 7-8 ล้านคนมีโอกาสสูง เหตุโควิด-19 ทั่วโลกยังไร้วี่แววลดลง ยื่น 7 ข้อเสนอรัฐแก้ไข โดยเฉพาะลดเงินสมทบประกันสังคมทั้งฝั่งนายจ้างและลูกจ้างเหลือร้อยละ 1 โดยให้มีผลจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563

นายสุชาติ จันทรานาคราช ประธานคณะอนุกรรมการมาตรการแรงงาน COVID-19 สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)
เปิดเผยว่า ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้สถานประกอบการใช้มาตรา 75 หยุดกิจการชั่วคราวตั้งแต่ ต.ค. 62-ก.ค. 63 โดยมีสถานประกอบการหยุดกิจการชั่วคราว 4,458 แห่ง ส่งผลกระทบต่อลูกจ้างสูงถึง 896,330 คน และลูกจ้างที่ว่างงานจากกรณีลาออก เลิกจ้างจากการปิดกิจการ 332,060 คน รวมทั้งมีผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ที่ใช้สิทธิประโยชน์กรณีว่างงานฯ 62% กว่า 1,369,589 คำร้อง และคาดจะมีเพิ่มขึ้นอีกในช่วงเดือนสิงหาคม ถึงเดือนตุลาคม 2563 หากมีการขยายมาตรการฯ กว่าอีก 800,000 คน รวมจะมีลูกจ้างในระบบที่ได้รับผลกระทบแล้วกว่า 3,397,979 คน

“นี่คือแรงงานว่างงานชั่วคราว 3.3 ล้านคนขณะนี้ แต่ก็ยังมีความสุ่มเสี่ยงว่าโอกาสที่จะตกงาน 7-8 ล้านคนจากที่หลายๆ สำนักคาดการณ์ไว้ในปีนี้ก็ยังมีอยู่เพราะเหตุการณ์ก็เปลี่ยนทุกวันก็ต้องมาดูเศรษฐกิจภาพรวม และนักท่องเที่ยวจะเข้ามาได้เมื่อไหร่มันก็จะเป็นโดมิโนได้” นายสุชาติกล่าว

อย่างไรก็ตาม จากการสอบถามสมาชิก ส.อ.ท. 45 กลุ่มอุตสาหกรรม พบว่าการปรับตัวของธุรกิจหลังคลายล็อกดาวน์มากขึ้นทำให้ภาคธุรกิจหันมาดำเนินการปกติ แต่การปรับตัวด้านแรงงานพบว่า 37.5% ยังคงจ้างแรงงานปกติ จำนวน 23.21% ลดเวลาทำงานลง ส่วนเลิกจ้างอยู่ที่ 7.14% โดยแนวโน้มการลดเวลาทำงานลงเริ่มมีทิศทางที่สูงขึ้นต่อเนื่อง

ปัจจุบันประเทศไทยมีประชากรทั้งหมด 66.5 ล้านคน แบ่งออกเป็นผู้มีงานทำจำนวน 37.3 ล้านคน (ภาคบริการ 47%, ภาคเกษตรกรรม 30% และภาคการผลิต 23%), ผู้ว่างงานจำนวน 0.39 ล้านคน และผู้รอฤดูกาลจำนวน 0.49 ล้านคน (ข้อมูล ณ เดือนมีนาคม 2563) โดยคาดว่าธุรกิจการขายส่ง-ปลีก การผลิต และโรงแรมจะมีความเสี่ยงการว่างงานสูงที่สุด

“การคลายล็อกดาวน์เฟส 6 ที่จะทำให้ต่างชาติ 4 กลุ่มเข้ามา ดูจากมาตรการแล้วไม่น่าจะมีปัญหาเพราะส่วนใหญ่เป็นแรงงานที่เคยดำเนินการอยู่แล้ว และถือเป็นนโยบายที่ดีแต่ขั้นตอนปฏิบัติก็ต้องออกมาให้เร็ว” นายสุชาติกล่าว

ปัจจุบันไทยมีประชากรทั้งหมด 66.5 ล้านคน แบ่งออกเป็นผู้มีงานทำ จำนวน 37.3 ล้านคน (ภาคบริการ 47%, ภาคเกษตรกรรม 30% และภาคการผลิต 23%), ผู้ว่างงานจำนวน 0.39 ล้านคน และผู้รอฤดูกาลจำนวน 0.49 ล้านคน (ข้อมูล ณ เดือนมีนาคม 2563) โดยคาดว่าธุรกิจการขายส่ง-ปลีก การผลิต และโรงแรมจะมีความเสี่ยงการว่างงานสูงที่สุด

สำหรับสถานการณ์การว่างงานและเลิกจ้าง พบว่ามีแรงงานที่ถูกพักงานจากสถานประกอบการที่ใช้มาตรา 75 หยุดกิจการชั่วคราว จำนวน 4,458 แห่ง ส่งผลกระทบต่อลูกจ้าง จำนวน 896,330 คน และมีแรงงานที่ว่างงานจากกรณีลาออก เลิกจ้าง สิ้นสุดสัญญาจ้าง ณ เดือนพฤษภาคม 2563 จำนวน 332,060 คน โดย 3 อันดับแรกของกิจการที่ใช้มาตรา 75 คือ ภาคการผลิต, โรงแรมและภัตตาคาร และบริการด้านอสังหาริมทรัพย์ให้เช่าและบริการทางธุรกิจ ตามลำดับ โดยภาครัฐควรพิจารณาออกมาตรการช่วยเหลือนายจ้างและลูกจ้างเพิ่มเติมเพื่อลดปัญหาการว่างงานและการเลิกจ้าง

ทั้งนี้ ส.อ.ท.ได้เสนอแนวทางเพื่อลดผลกระทบ 7 ข้อ ได้แก่ 1. ลดเงินสมทบประกันสังคมทั้งฝั่งนายจ้างและลูกจ้างเหลือร้อยละ 1 โดยให้มีผลจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563 2. เพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัย จาก 90 วัน เป็น 150 วัน และขยายระยะเวลาการขอรับสิทธิประโยชน์ จากเดิมวันที่ 31 สิงหาคม 2563 เป็นจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563

3. เร่งพิจารณาการอนุมัติให้สามารถปรับการจ้างงานเป็นรายชั่วโมงได้ โดยคิดค่าจ้างในอัตราชั่วโมงละ 40-41 บาทต่อชั่วโมง ระยะเวลาจ้างขั้นต่ำ 4-8 ชั่วโมงต่อวัน 4. ขอให้ภาครัฐเร่งพิจารณาการรับรองการอบรมออนไลน์เป็นส่วนหนึ่งของวิธีการจัดอบรม ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2545
5. ขอปรับอัตราเงินสมทบกองทุนเงินทดแทน ตาม พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ. 2537 เหลือร้อยละ 0.01 6. โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบ ดอกเบี้ยร้อยละ 0.1 ต่อปี และ 7. จัดสรรกองทุนเยียวยาผู้ประกอบการเพื่อรักษาเสถียรภาพการจ้าง โดยให้เงินเยียวยาแก่ลูกจ้างผ่านนายจ้าง

นอกจากนี้ ขอให้สํานักงานเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พิจารณาบรรจุโครงการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาประสิทธิภาพแรงงาน Upskill/Reskill ให้อยู่ภายใต้กรอบนโยบายการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ (งบ 400,000 ล้านบาท) เพื่อรับรองการเปลี่ยนแปลงในยุค New Normal


กำลังโหลดความคิดเห็น