กรมการค้าต่างประเทศเผยสหภาพยุโรป (อียู) ปรับกฎระเบียบว่าด้วยการปิดฉลากสินค้ายางรถยนต์และยางหล่อดอก เพื่อเพิ่มความปลอดภัยทางถนนและลดมลภาวะทางสิ่งแวดล้อม ย้ำผู้ส่งออกศึกษากฎระเบียบให้ชัดเจน ก่อนมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 พ.ค. 64
นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า สำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศ ณ กรุงบรัสเซลส์แจ้งว่า สหภาพยุโรปได้ยกเลิกระเบียบ (EC) No 1222/2009 และปรับปรุงระเบียบ EU 2017/1369 ว่าด้วยการปิดฉลากสินค้ายางรถยนต์ประเภท C1 C2 C3 และยางหล่อดอกทุกเส้น (re-treaded tyres) จะต้องผ่านการทดสอบสมรรถนะก่อนการใช้งาน เพื่อเพิ่มความปลอดภัยทางถนน ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากรถยนต์และมลภาวะทางเสียง ในการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพในสหภาพยุโรป โดยกำหนดให้ผู้ผลิตหรือผู้จัดจำหน่ายติดฉลากหรือแสดงเอกสารทางเทคนิคเพื่อให้ผู้บริโภคทราบคุณสมบัติของยางรถยนต์ ซึ่งมีผลต่ออัตราเชื้อเพลิงของยานพาหนะถึงร้อยละ 20-30 โดยกฎระเบียบดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 2564 เป็นต้นไป
สาระสำคัญของระเบียบฉบับใหม่ ได้แก่ 1. ผู้ผลิต ตัวแทนของผู้ผลิต (ที่ผลิตนอกสหภาพฯ) ผู้นำเข้า จะต้องจัดทำฉลากยางตามที่กำหนด เช่น รูปแบบสติกเกอร์ ขนาดฉลากต้องมองเห็นได้ชัดเจนและแสดงในจุดที่ใกล้กับราคา สำหรับการจำหน่ายในช่องทางที่ลูกค้าไม่เห็นผลิตภัณฑ์จริง และต้องแสดงฉลากยางในหน้าจอการโฆษณายางทางอินเทอร์เน็ต เพิ่มสัญลักษณ์สำหรับการกันลื่นหิมะและน้ำแข็งตามมาตรฐานสากล เป็นต้น โดยระเบียบฉบับนี้ได้เพิ่มเติมบทบาทหน้าที่ของ market surveillance ในการตรวจสอบฉลากอีกด้วย
2. ปรับระดับประสิทธิภาพการประหยัดเชื้อเพลิงโดยยกเลิกระดับต่ำสุด (F และ G) เหลือเพียงระดับ A ถึง E
3. ผู้จำหน่ายหรือตัวแทนต้องบันทึกข้อมูลยางล้อในฐานข้อมูลผลิตภัณฑ์ก่อนวางจำหน่ายในตลาด เช่น การติดต่อผู้จำหน่าย ชนิดยาง ฉลากยาง คุณสมบัติ และการทดสอบต่างๆ ในรูปแบบ electronics เป็นต้น สำหรับยางรถยนต์ที่ผลิตระหว่างวันที่ 25 มิ.ย. 2563-30 เม.ย. 2564 ผู้จัดจำหน่ายต้องบันทึกข้อมูลในฐานข้อมูลภายในวันที่ 30 พ.ย. 2564
อย่างไรก็ตาม การปรับปรุงกฎระเบียบดังกล่าวสะท้อนให้เห็นความมุ่งมั่นของสหภาพฯ เพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนงานเศรษฐกิจหมุนเวียนของสหภาพฯ ที่มุ่งเน้นการกำกับดูแลสินค้าที่จะก่อให้เกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม เช่น เครื่องนุ่งห่ม และยางรถยนต์ เพื่อให้สอดคล้องกับระเบียบด้านการขยายสินค้าทางไกลและการโฆษณาทางออนไลน์ มีแนวโน้มว่าสหภาพฯ จะเข้มงวดในการกำกับดูแลการจำหน่ายสินค้าออนไลน์ซึ่งเป็นช่องทางจำหน่ายที่ขยายตัวมากขึ้น
จากข้อมูลสถิติการส่งออก ไทยมีการส่งออกสินค้ากลุ่มยางรถยนต์ไปสหภาพยุโรปช่วงปี 2560-2562 มูลค่า 12,045.76 13,569.01 และ 15,041.20 ล้านบาท ตามลำดับ โดยในปี 2563 (ม.ค.-พ.ค.) มีมูลค่าการส่งออก 4,512.26 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 32.37 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน