xs
xsm
sm
md
lg

“เซ็นกรุ๊ป” เขย่าพอร์ตยุบแบรนด์ย่อย ปรับแผนควบทีม ชูคลาวด์คิตเชนฟื้นกำไร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการรายวัน 360 - “เซ็นกรุ๊ป” ปรับกลยุทธ์รุกตลาดอาหาร ควบทุกแบรนด์ใช้เป็นทีมเดียวลดต้นทุน ยุบบางแบรนด์ พร้อมปรับครัวบางแบรนด์เป็นคลาวด์คิตเชน มั่นใจปีนี้ยังมีกำไร

นายบุญยง ตันสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้ปรับโครงสร้างและปรับยุทธศาสตร์การทำธุรกิจของเซ็นกรุ๊ปใหม่ หลักๆ คือ อดีตจะแยกเป็นทีมเฉพาะแต่ละแบรนด์ แต่โครงสร้างใหม่ที่จะเริ่ม 1 สิงหาคมนี้ จะรวมทุกแบรนด์มาอยู่ภายใต้ทีมเดียวกันทั้งหมด ทั้งการปฏิบัติการสาขา และการตลาด มีซีโอโอ กับซีเอ็มโอดูแลรวมไม่ได้แยกเป็นทีมแบรนด์แล้ว

นอกจากนั้นจะปรับพอร์ตโฟลิโอในเครือทั้งหมดใหม่ที่มีอยู่ประมาณ 14 แบรนด์ แต่จะเน้นขยายสาขาเป็นแบรนด์หลักเพียง 7 แบรนด์ คือ ร้านเซ็น มี 44 สาขา เป็นแบรนด์รายได้หลักกว่า 60%, 2. ร้านอากะ มี 25 สาขา, 3. ร้านออนเดอะเทเบิ้ล มี 25 สาขา จะเปิดสาขาใหม่ที่เดอะมอลล์งามวงศ์วานอีก 2 เดือน, 4. ร้านตำมั่ว, 5. ร้านเขียง, 6. ร้านดินส์ และ 7. ร้านลาวญวน และอีก 2 แบรนด์จะเป็นกลุ่มพรีเมียม คือ ร้านเท็ตสึ กับร้านซีบายยูคาร์นิวัล

โดยเฉพาะแบรด์เขียง ช่วง 5 เดือนแรกเปิดสาขาเขียงเพิ่มขึ้น 20 แห่ง ปัจจุบันมีสาขารวมกว่า 70 แห่ง และคาดว่าสิ้นปีนี้จะขยายเพิ่มเป็นประมาณ 100 สาขา


ส่วนที่เหลือจะเป็นแบรนด์รองที่ไม่ได้เน้นขยายสาขามากนัก แต่ปรับโมเดลมาทำเป็นครัวกลางหรือคลาวด์คิตเชน (Cloud Kitchen) ควบคู่ไปด้วย เช่น ร้านเซ็นบ๊อกซ์, ร้านมุฉะ, ร้านแจ่วฮ้อน, ร้านเฝอ เป็นต้น เพื่อรองรับแผนบริษัทฯ ที่จะเน้นกลยุทธ์ทำคลาวด์คิตเชนและดีลิเวอรีควบคู่ไปกับธุรกิจหน้าร้านด้วย ที่เป็นเทรนด์ใหม่ของตลาดอาหาร เช่น ร้านลาวญวน หรือร้านตำมั่วบางสาขาที่ปรุงอาหารแบรนด์เขียงได้

ส่วนบางแบรนด์ก็ยกเลิกปรับเป็นแบรนด์อื่น เช่น ร้านฟู สาขาเอมควอเทียร์ ปรับเป็นร้านออนเดอะเทเบิ้ล และสาขาเซ็นทรัลลาดพร้าวเป็นร้านดินส์ หรือแม้แต่ร้านมุฉะ ที่มี 3 สาขา และร้านแจ่วฮ้อนที่มี 4 สาขา ก็ปรับมาเน้นเป็นครัวกลางมากขึ้น โดยในคลาวด์คิตเชน 1 จุดจะมีการปรุงอาหารประมาณ 2-3 แบรนด์ และมีเมนูเฉลี่ย 10 เมนูต่อแบรนด์ที่ทำได้ ซึ่งจะช่วยให้ลดต้นทุนการขยายสาขาขนาดใหญ่แต่สามารถสร้างรายได้ไม่แพ้กัน ขณะนี้มีคลาวด์คิตเชนประมาณ 30 จุดในกรุงเทพฯ ซึ่งอยู่ในเครือร้านอาหารเราทั้งหมด มีรายได้เฉพาะคลาวด์คิตเชนเฉลี่ย 2 ล้านกว่าบาทต่อเดือน สิ้นปีนี้คาดว่าจะเพิ่มเป็น 60 จุด


ปัจจุบันมีร้านอาหารในเครือที่เป็นของบริษัทรวม 154 สาขา แต่เปิดบริการได้ 148 สาขา ส่วนที่เหลือยังปิดบริการอยู่เพราะโควิดตามเมืองท่องเที่ยวทั้ง ภูเก็ต พัทยา หัวหิน เป็นต้น ขณะที่สาขาของแฟรนไชส์มีรวม 171 สาขา

“การเกิดโรคระบาดโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างมาก และเป็นตัวเร่งที่ทำให้ทุกอย่างมีการปรับตัวเร็วขึ้น ทั้งในภาพรวมและในส่วนของเซ็นกรุ๊ปเองด้วย ไม่ว่าจะเป็นการสั่งแบบทำเว็บออเดอริ่ง การปรับโครงสร้าง การทำคลาวด์คิตเชน เพราะถ้าไม่ทำจะไม่เติบโตและไม่มีกำไร ซึ่งช่วง 2 เดือนที่ปิดบริการในร้าน ยอดขายหายไปมากกว่า 400 ล้านบาท แต่โชคดีที่ทำดีลิเวอรีในช่วงโควิด-19 เติบโตมาก คาดว่าปีนี้จะมีรายได้จากดีลิเวอรีกว่า 300 ล้านบาท เพิ่มจากปีที่แล้วที่ทำได้ 120 ล้านบาท

“ตั้งแต่ทำธุรกิจมาเราไม่เคยกู้เงินเลย แต่ช่วงโควิดเราต้องกู้เงินมารวม 90 ล้านบาท แต่ก็โชคดีที่ไม่ได้ใช้อะไรมาก พอปลดล็อกแล้ว ธุรกิจดีขึ้น พบว่าร้านอาหารส่วนใหญ่ทั้งในและนอกศูนย์การค้ามีลูกค้ากลับมาใช้บริการนั่งรับประทานภายในร้านเฉลี่ย 80-85% เมื่อเทียบกับช่วงปกติ ถือว่าฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว เราจึงคืนหนี้ไปหมดแล้ว” นายบุญยงกล่าว

ปีนี้คาดว่าจะใช้เงินลงทุนรวมกว่า 100 ล้านบาท ลดลงจากแผนเดิมที่ตั้งไว้ที่ 200 ล้านบาท เพราะการปรับกลยุทธ์ดัวกล่าว และมั่นใจว่าสิ้นปีนี้จะมีผลกำไร แต่รายได้รวมอาจจะไม่เท่ากับปีที่แล้ว โดยสัดส่วนรายได้มาจาก กลุ่มร้านอาหารญี่ปุ่น 70% กลุ่มอาหารไทย 30%

โดยผลประกอบการปี 2562 มีรายได้ 3,144 ล้านบาท กำไรสุทธิ 106 ล้านบาท ส่วนไตรมาส 1/63 มีรายได้ 644 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 44 ล้านบาท








กำลังโหลดความคิดเห็น