ส.อ.ท.เผยผลสำรวจจ้างงานพบหลังโควิด-19 กลุ่มอุตสาหกรรมกว่า 55.6% ของ ส.อ.ท.ยังคงการจ้างงานเท่าเดิม ขณะที่ 14 กลุ่มอุตฯ หรือ 31% จ้างงานลดลง โดยอุตสาหกรรมดิจิทัลยืนหนึ่งจ้างงานเพิ่ม และนายจ้างงานมุ่งเน้นลดขนาดองค์กรและนำเทคโนโลยีมาใช้มากสุดคิดเป็น 32.2%
นายสุชาติ จันทรานาคราช ประธานคณะอนุกรรมการมาตรการแรงงาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ส.อ..ท.ได้สำรวจสถานการณ์การจ้างงานในช่วงวิกฤตไวรัสโควิด-19 และแนวทางการปรับการจ้างงานในอนาคต จากกลุ่มตัวอย่างใน 45 กลุ่มอุตสาหกรรมของ ส.อ.ท. ว่า ช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 มีกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการลดเวลาทำงาน สลับเวลาทำงาน เลิกจ้างบางส่วน จำนวน 20 กลุ่ม คิดเป็น 44.4% และมีกลุ่มอุตสาหกรรมที่ยังสามารถคงการจ้างงานเท่าเดิม จำนวน 25 กลุ่ม คิดเป็น 55.6% ส่วนความต้องการแรงงานภายหลังโควิด-19 มีกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความต้องการแรงงานลดลงจำนวน 14 กลุ่ม คิดเป็น 31% มีกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความต้องการแรงงานเพิ่มขึ้น จำนวน 1 กลุ่ม คิดเป็น 2.2% และมีกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความต้องการแรงงานเท่าเดิม จำนวน 30 กลุ่ม คิดเป็น 66.7%
“อุตสาหกรรมที่มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นในเบื้องต้นจากผลสำรวจหลังโควิด-19 ได้แก่อุตสาหกรรมดิจิทัลซึ่งเป็นไปตามทิศทางของโลกที่กำลังมุ่งสู่ยุคดิจิทัล แม้ว่าหลังโควิด-19 บริษัททุกขนาดยังคงมีแนวโน้มการจ้างงานลดลงแต่มีอัตราส่วนที่น้อยลงเมื่อเทียบกับช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 และคาดว่าการจ้างงานเพิ่มขึ้นในระยะต่อไปน่าจะเพิ่มขึ้นในระดับ 4-10%” นายสุชาติกล่าว
นอกจากนี้ คณะอนุกรรมการมาตรการแรงงานยังได้ผลสำรวจแนวทางการปรับตัวการจ้างงานในอนาคต พบว่ากลุ่มอุตสาหกรรมได้ให้ความสำคัญต่อการลดขนาดองค์กรและนำเทคโนโลยีมาใช้งานให้มากขึ้นเป็นอันดับ 1 คิดเป็น 32.2% ส่วนอันดับ 2 ได้แก่ การจ้างค่าจ้างเพิ่มเพื่อให้ได้แรงงานที่มีทักษะหลากหลาย (Multi Skills) คิดเป็น 19.5% อันดับ 3 ได้แก่ การปรับรูปแบบการจ้างงานให้มีความยืดหยุ่น เช่น จ้างรายชั่วโมง 17. % อันดับ 4 การลดการจ้างลูกจ้างประจำและมาใช้ outsource แทน 15.5% อันดับ 5 อื่นๆ ได้แก่ เน้นตลาดออนไลน์ ปรับฐานเงินเดือน 6. การแชร์หรือแลกเปลี่ยนแรงงานระหว่างอุตสาหกรรม 4.6% และ 7. ลดการใช้แรงงานต่างด้าว 1.2%
ทั้งนี้ จากผลสำรวจยังระบุว่าช่วงโควิด-19 บริษัทขนาดย่อม (รายได้ไม่เกิน 100 ล้านบาท/แรงงานไม่เกิน 50 คน) บริษัทขนาดกลาง (รายได้ระหว่าง 100-500 ล้านบาท/แรงงาน 51-200 คน) มีการจ้างงานลดลงกว่า 50% ขณะที่บริษัทขนาดใหญ่ (รายได้มากกว่า 500 ล้านบาท/แรงงานมากกว่า 200 คนขึ้นไป) มีการลดการจ้างงานลงประมาณ 1 ใน 4 ซึ่งจะเห็นว่าบริษัทขนาดเล็กและกลางได้รับผลกระทบมากกว่ารายใหญ่ และประเมินว่าหลังโควิด-19 การจ้างงานของบริษัทขนาดย่อมจะเพิ่มขึ้น 6.5% ขนาดกลาง 10.6% และขนาดใหญ่ 4.1%