สนข.สรุปนำร่องรถโดยสาร 3 เส้นทาง ใน 3 จังหวัดอีอีซี “ฉะเชิงเทรา-ชลบุรี-ระยอง” ชงบอร์ดอีอีซี เคาะผุดแทรมป์-รถเมล์ไฟฟ้า เปิดรัฐลงทุนร่วมองค์กรท่องถิ่นและภาคเอกชน แนะขยายเส้นทางเชื่อมสถานีไฮสปีด และสนามบินอู่ตะเภา
เมื่อวันที่ 10 ก.ค. สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้จัดสัมมนาและรับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 2 โครงการศึกษาจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะกลุ่มจังหวัด ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง เพื่อรองรับการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก โดยมีผู้แทนหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้ประกอบการเดินรถโดยสารสาธารณะ ผู้มีส่วนได้เสียในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดชลบุรี จังหวัดระยอง เข้าร่วม จำนวน 120 คน
โดยได้มีการนำเสนอผลการศึกษาขั้นสุดท้ายและผลการวิเคราะห์ความเหมาะสมทางเศรษฐกิจ รูปแบบการลงทุน และวิธีการนำไปสู่การปฏิบัติ โดยการลงทุนนั้น รัฐบาลจะร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ เทศบาล องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และบริษัทเอกชน ตามความเหมาะ โดยในเบื้องต้นรูปแบบของรถโดยสารจะเป็นรถโดยสารไฟฟ้า EV BUS รถโดยสารขนาดเล็ก EV minibus และรถไฟฟ้าล้อยาง Trambus
โดย สนข.ได้คัดเลือกโครงการนำร่องจังหวัดละ 1 เส้นทางวงเงินลงทนรวมประมาณ 1,867 ล้านบาท ซึ่งจะนำความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ จากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในทุกภาคส่วน เพื่อจัดทำเป็นรายงานฉบับสมบูรณ์ และ นำเสนอกระทรวงคมนาคมและคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) เพื่อดำเนินการในขั้นต่อไป
สำหรับผลการศึกษา จังหวัด ฉะเชิงเทรา จำนวน 5 เส้นทางประกอบด้วย เส้นทางที่ 1 HSR ฉะเชิงเทรา-โรงเรียนเบญจมฯ-ตะวันออกคอมเพล็กซ์ แนวเส้นทางที่ 2 HSR ฉะเชิงเทรา-วัดโสธรฯ แนวเส้นทางที่ 3 รอบเมืองฉะเชิงเทรา แนวเส้นทางที่ 4 HSR ฉะเชิงเทรา-บางคล้า และแนวเส้นทางที่ 5 HSR ฉะเชิงเทรา-บ้านโพธิ์-บางปะกง
โดยคัดเลือกแนวเส้นทางที่ 1 HSR ฉะเชิงเทรา-โรงเรียนเบญจมฯ-ตะวันออกคอมเพล็กซ์ เป็นโครงการนำร่อง ระยะทาง 7.97 กม.
จังหวัดชลบุรี ศึกษา 8 เส้นทาง ประกอบด้วย แนวเส้นทางที่ 1 HSR ชลบุรี-เมืองชลบุรี-(นิคมฯ อมตะซิตี้ชลบุรี) แนวเส้นทางที่ 2 HSR ชลบุรี-บางแสน/ตัดช่วง HSR ชลบุรี-หนองมน แนวเส้นทางที่ 3 HSR ชลบุรี-บ้านบึง-EECi แนวเส้นทางที่ 4 HSR ศรีราชา-แหลมฉบัง แนวเส้นทางที่ 5 HSR ศรีราชา-EECd แนวเส้นทางที่ 6 เมืองศรีราชา-HSR ศรีราชา-นิคมฯ อมตะซิตี้ระยอง (ปลวกแดง) แนวเส้นทางที่ 7 HSR พัทยา-แหลมบาลีฮาย และ แนวเส้นทางที่ 8 HSR พัทยา-สวนนงนุช
โดยคัดเลือกแนวเส้นทางที่ 6 เมืองศรีราชา-HSR ศรีราชา-นิคมฯ อมตะซิตี้ระยอง (ปลวกแดง) ระยะทาง 42 กม. เป็นโครงการนำร่อง
จังหวัดระยอง ศึกษา 6 เส้นทาง ประกอบด้วย แนวเส้นทางที่ 1 นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด-นิคมอุตสาหกรรม IRPC แนวเส้นทางที่ 2 แหลมเจริญ-สามแยกขนส่ง แนวเส้นทางที่ 3 HSR อู่ตะเภา-ระยอง-บ้านเพ แนวเส้นทางที่ 4 ระยอง-บ้านค่าย-EECi แนวเส้นทางที่ 5 นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด-นิคมพัฒนา-ปลวกแดง และแนวเส้นทางที่ 6 HSR อู่ตะเภา-ระยอง-EECi
โดยได้คัดเลือกแนวเส้นทางที่ 1นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด-นิคมอุตสาหกรรม IRPC ระยะทาง 18.10 กม. เป็นโครงการนำร่อง
ทั้งนี้ ได้มีการเสนอข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะต่างๆ อย่างกว้างขวาง เช่น ขยายเส้นทางสำหรับนักท่องเที่ยวจากสนามบินอู่ตะเภา, เชื่อมต่อการเดินทางระหว่างสถานีรถไฟความเร็วสูง สนามบินอู่ตะเภา และท่าเรือสัตหีบ รวมถึงให้พิจารณาแก้กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ผู้ประกอบการ/สหกรณ์เดินรถโดยสารประจำทางเดิมเข้ามามีส่วนร่วมในกิจการเดินรถใหม่