กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เตรียมจัดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจออนไลน์กับผู้นำเข้าจากทั่วโลกสินค้าลำไยและผลิตภัณฑ์ วันที่ 16-17 ก.ค.นี้ เพื่อช่วยระบายผลผลิตลำไยที่กำลังออกสู่ตลาด พร้อมโชว์ผลจัดกิจกรรมขายผลไม้ออฟไลน์และออนไลน์ช่วงก่อนหน้านี้ได้ยอดขายแล้ว 814 ล้านบาท
นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เปิดเผยว่า กรมฯ จะจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายผลไม้ไทย โดยวันที่ 16-17 ก.ค. 2563 มีกำหนดจัดงาน Online Business Matching เจรจาจับคู่ธุรกิจกับผู้นำเข้าจากทั่วโลกในสินค้าลำไยและผลิตภัณฑ์ ผ่านออนไลน์ด้วยโปรแกรม Zoom โดยมีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน เพื่อช่วยระบายผลผลิตลำไยที่กำลังออกสู่ตลาด และเพิ่มช่องทางการจำหน่ายให้แก่เกษตรกร โดยมั่นใจว่าการจัดงานครั้งนี้จะเพิ่มยอดการส่งออกลำไยสดและผลิตภัณฑ์ลำไยได้เพิ่มขึ้น
ส่วนการเร่งเปิดตลาดลำไยไปอินโดนีเซีย ได้รับแจ้งจากทางทูตพาณิชย์ว่ามีผู้นำเข้าอินโดนีเซีย 3 รายได้รับใบรับรองการนำเข้า (RIPH) แล้ว และอยู่ระหว่างยื่นขอใบอนุญาตนำเข้า (SPI) โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2563 มี 1 รายได้รับใบอนุญาตสำหรับนำเข้าลำไยแล้ว และอยู่ระหว่างกระบวนการนำเข้า ซึ่งถือเป็นข่าวดีสำหรับการส่งออกลำไยของไทย
ทั้งนี้ กรมฯ ยังได้ติดตามและแก้ไขปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการส่งออกผลไม้ไทยอย่างใกล้ชิดด้วย โดยล่าสุดได้รับแจ้งว่าด่านท่าเรือกวนเหล่ย (เชียงแสน-กวนเหล่ย) มีแนวโน้มจะกลับมาเปิดทำการ ด่านบ่อหาน (จีน)-บ่อเต็น (ลาว) รัฐบาลจีนและ สปป.ลาวได้ก่อสร้างช่องทางพิเศษใหม่สำหรับการขนส่งสินค้าเท่านั้น คาดว่าจะเปิดใช้อย่างเป็นทางการเร็วๆ นี้ และด่านท้องถิ่นเหมิงหลง (หลักเขตแดน 240) เขตสิบสองปันนา ซึ่งเป็นด่านที่ใช้ขนส่งสินค้าอุปโภคบริโภคจากไทยไปทางด่านเชียงแสน-พม่า (ด่านสบหรวย)-เขตปกครองพิเศษที่ 4 พม่า (รัฐฉาน)-จีน (ด่านท้องถิ่นต้าเหมิงหลง) อยู่ระหว่างยกระดับให้เป็นด่านสากล
นายสมเด็จกล่าวว่า สำหรับผลการจัดกิจกรรมการกระจายผลไม้ไทยไปตลาดต่างประเทศ ตามวิสัยทัศน์ “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” ในช่วงที่ผ่านมา ได้จัดทำกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการส่งออกสินค้าเกษตรศักยภาพของไทย โดยเฉพาะผลไม้ไปยังประเทศเป้าหมายต่างๆ ทั่วโลก โดยได้ดำเนินการทั้งผ่านทางออฟไลน์ ออนไลน์ และไฮบริดไลน์ มีกำหนดช่วงเดือน เม.ย.-ต.ค. 2563 จำนวนรวม 47 กิจกรรม ซึ่งล่าสุดได้มีการดำเนินการตามแผนไปแล้วหลายโครงการ มียอดการซื้อผลไม้ไทยรวม 814.24 ล้านบาท
การขยายตลาดส่งออกผลไม้ไทย ในด้านออฟไลน์ มีแผนดำเนินการ 36 กิจกรรม โดยจะร่วมกับผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ หรือทูตพาณิชย์ จัดกิจกรรมส่งเสริมการขายผลไม้ไทยร่วมกับห้างสรรพสินค้า ร้านค้าปลีกสมัยใหม่ และซูเปอร์มาร์เกต โดยได้ดำเนินการไปแล้วในจีน และฮ่องกง เกาหลี ญี่ปุ่น อาเซียน เช่น กัมพูชา สิงคโปร์ มาเลเซีย และอินเดีย รวมทั้งมีแผนที่จะประชาสัมพันธ์ผลไม้ไทยในงานแสดงสินค้า MIHAS 2020 ที่มาเลเซีย SIAL 2020 ที่ฝรั่งเศส BIOFACH 2021 ที่เยอรมนี GULFOOD 2021 ที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และ FOODEX 2021 ที่ญี่ปุ่น
ส่วนช่องทางออนไลน์ มีแผนดำเนินการ 9 กิจการ ส่วนใหญ่เป็นการเจรจาการค้าผ่านทางออนไลน์ โดยมีกิจกรรมที่ได้ดำเนินการไปแล้ว ได้แก่ การเจรจากับห้าง ITO Yokado เฉิงตู, Tmall เซี่ยงไฮ้, HKTVmall ฮ่องกง, ECOOR เฉิงตู, Lotus มหานครฉงชิ่ง, Hema เฉิงตู, TV Shop Channel ญี่ปุ่น, Redmart/Lazada สิงคโปร์ และสินค้าผลไม้ (มะม่วงน้ำดอกไม้ และมังคุด) เกาหลี
สำหรับกิจกรรมไฮบริด มี 2 กิจกรรม กำลังอยู่ระหว่างการเตรียมการ คือ งานแสดงสินค้าอาหาร THAIFEX-ANUGA ASIA 2020 ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี วันที่ 22-26 ก.ย. 2563 และงานแสดงสินค้าอาหารเสมือนจริง THAIFEXporter : Virtual Trade Show กำหนดจัดเดือน ก.ค.-ก.ย. 2563