โทรมาตร เป็นเครื่องมือวัดค่าต่างๆ ในลำน้ำ เช่น ปริมาณฝน ปริมาณน้ำท่า อัตราการไหลของน้ำ ระดับน้ำ คุณภาพน้ำ เป็นต้น แล้วส่งข้อมูลทางไกล ณ ช่วงเวลาขณะนั้น (Real Time) เข้าสู่ระบบฐานข้อมูล เพื่อใช้สำหรับประมวลผลประกอบการตัดสินใจ
เป็นการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) แทนคนในการบันทึกจัดเก็บข้อมูล ซี่งคนมีข้อจำกัดทุกด้าน ไม่อาจบันทึกข้อมูล ความถูกต้อง และไม่ทันเวลาต่อการใช้งาน ในขณะระบบโทรมาตรออกแบบให้บันทึกข้อมูลได้หลากหลาย ความถี่ในการบันทึก และความแม่นยำ เป็นต้น
ปัจจุบันประเทศไทยมีสถานีโทรมาตรติดตั้งกว่า 5,700 แห่ง เป็นของหลายหน่วยงานหลักๆ ได้แก่ กรมทรัพยากรน้ำ 2,000 แห่ง กรมชลประทาน 1,200 แห่ง กรมอุตุนิยมวิทยา 1,000 แห่ง สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) 500 แห่ง เป็นต้น
“แต่ใช้การได้จริงไม่ถึงครึ่งหนึ่ง” ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าว
เป็นผลจากการที่ สทนช.เข้าไปบูรณาการข้อมูลจากระบบโทรมาตร เพื่อใช้ประโยชน์ในการบริหารจัดการน้ำทันท่วงที เน้นป้องกันล่วงหน้า มากกว่าแก้ปัญหาหลังน้ำหลาก น้ำท่วมแล้ว จากเดิมที่ต่างคนต่างทำ จึงไม่แปลกที่ระบบโทรมาตรต่างมีทิศทางการบริหารคนละทาง ตั้งแต่ความเหมาะสมของจุดติดตั้งโทรมาตร การออกแบบการทำงานของสถานีโทรมาตรที่ต้องสอดประสานกัน หรือสอดคล้องกับบริบทข้อมูล เพื่อใช้ประโยชน์คุ้มค่ามากขึ้น กว้างขวางขึ้น ทันสถานการณ์ขึ้น สถานีโทรมาตรจำนวนมากกว่าครึ่งที่ใช้การไม่ได้ มีทั้งปัญหาเรื่องระบบไฟฟ้าที่ใช้ ระบบการส่งสัญญาณข้อมูล รวมถึงเกณฑ์มาตรฐาน เป็นต้น ซึ่งต้องปรับปรุงกันอีกครั้งให้ใช้งานให้เกิดประโยชน์สูงสุดจากการลงทุนไปแล้ว
ในขณะเดียวกัน ยังมีพื้นที่ที่จำเป็นต้องติดตั้งสถานีโทรมาตร แต่ยังไม่มี โดยเฉพาะในพื้นที่ป่าไม้และอุทยานแห่งชาติ ซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำที่ข้อมูลมีความหมายต่อพื้นที่ด้านล่างมาก แต่ในขณะนี้มูลนิธิเพื่อนพึ่ง (ภา) ยามยาก ได้เข้าไปสนับสนุนการติดตั้งใน 16 พื้นที่ป่าต้นน้ำ เพื่อเพิ่มพื้นที่จำเป็นในการใช้ประโยชน์จากข้อมูลน้ำ และใช้ข้อมูลเพื่อลดการสูญเสียทรัพย์สินและชีวิตประชาชน
“อย่างแรกสุด เราคัดเลือกสถานี 270 แห่งใน 22 ลุ่มน้ำหลัก เป็นสถานีหลักหรือแหล่งข้อมูลในการใช้งานวัดน้ำฝน น้ำท่า คุณภาพน้ำ เป็นต้น ต่อไปจะกระจายสถานีรองไปตามจุดต่างๆ ในระดับจังหวัด เพื่อเสริมให้ข้อมูลมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น และสามารถใช้เพื่อแจ้งเตือนภัยในพื้นที่ได้เช่นกัน” ดร.สมเกียรติกล่าว
ในอนาคต การติดตั้งระบบโทรมาตรยังคงมีความจำเป็นในฐานะเครื่องมือในการจัดเก็บข้อมูลในระยะไกล เพื่อใช้ประโยชน์ในการบริหารจัดการน้ำ แต่จะกำหนดกฎเกณฑ์ใหม่ที่รัดกุมขึ้น ใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น
ทั้งนี้ หน่วยงานหลักในการรวบรวมข้อมูลสารสนเทศน้ำนั้น ได้มอบหมายให้สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำฯ เป็นหน่วยงานหลักรวบรวมและเชื่อมข้อมูลกับ สทนช. และประชาชนสามารถเข้าไปดูข้อมูลที่ประมวลแล้วได้ในเว็บไซต์ของทั้งสองหน่วยงาน
ดร.สมเกียรติกล่าวถึงประโยชน์ของข้อมูลเตือนภัยว่า ล่าสุดกรณีพายุปาบึกพาดผ่านประเทศไทยที่ อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช มีการใช้ข้อมูลเหล่านี้ในการวางแผนเตือนภัยและป้องกัน ช่วยลดการสูญเสียได้มาก มีผู้เสียชีวิตเพียง 5 ราย เปรียบเทียบกับกรณีพายุโซนร้อนแฮเรียตในพื้นที่เดียวกัน มีคนเสียชีวิตร่วมพันคนเมื่อปี 2505
“เราอาจสูญเสียทรัพย์สินไปบ้าง แต่รักษาชีวิตคนได้มาก ถือว่าคุ้มค่ามาก คนไทยเองก็ตื่นตัวเรื่องภัยพิบัติธรรมชาติมาก ทั้งกรณีอุทกภัยที่ จ.เพชรบุรี หรือที่ จ.อุบลราชธานี มีการติดตามข่าวอย่างใกล้ชิด ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากในการบริหารจัดการข้อมูลในเชิงป้องกัน มากกว่าการตามแก้ไขเหตุการณ์ทีหลัง”
เทคโนโลยีสารสนเทศสามารถใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อคุณภาพชีวิตคนไทย ดังกรณีระบบโทรมาตร เตือนภัยเรื่องน้ำเป็นตัวอย่างที่จะเห็นได้ชัดขึ้นทั้งในปัจจุบัน และอนาคต