อุบลราชธานี - อธิบดีกรมชลประทานพร้อมผู้เชี่ยวชาญร่วมวางแผนรับมือฝนทิ้งช่วงเดือนกรกฎาคมรับมือพายุในเดือนสิงหาคม ระบุจัดสรรน้ำเพื่อบริโภคไม่ให้ขาดแคลนขณะฝนทิ้งช่วง และวางแผนจุดเสี่ยงรับมือน้ำท่วมห้วงพายุเข้า ปัจจุบันอ่างเก็บน้ำอีสานล่างยังรับน้ำได้กว่า 230 ล้านลูกบาศก์เมตร
ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วยนายสัญญา แสงพุ่มพงษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิศวกรรมชลประทานด้านบำรุงรักษา ติดตามการบริหารจัดการน้ำรับมือฝนทิ้งช่วงเดือนกรกฎาคม และเตรียมพร้อมรับมือน้ำหลากปลายปีนี้ในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี โดยมีนายประสานต์ พฤกษาชาติ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 7 นายสัมพันธ์ เดือนศิริรัตน์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานอุบลราชธานี ร่วมวางแผนและลงสำรวจการดำเนินโครงการปรังปรุงอ่างเก็บน้ำหนองช้างใหญ่ บ้านนาดี ต.ยางสักกระโพหลุ่ม อ.ม่วงสามสิบ จ.อุบลราชธานี
ดร.ทองเปลวกล่าวว่า กรมอุตุนิยมวิทยาคาดว่าฝนทั้งปีจะมีค่าเฉลี่ยน้อยกว่าเดิม 5% เริ่มตั้งแต่ปลายเดือนมิถุนายนถึงต้นเดือนกรกฎาคม ฝนจะทิ้งช่วงและจะกลับมาตกอีกครั้งช่วงเดือนปลายเดือนกรกฎาคม ส่วนเดือนสิงหาคมจะมีพายุเข้ามา กรมชลประทานที่เป็นผู้บริหารจัดการน้ำตามลุ่มน้ำในภาคอีสานทั้งหมด ต้องเตรียมแผนรับมือทั้ง 2 สถานการณ์ คือ การจัดสรรน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 12 แห่ง ขนาดกลาง 218 แห่ง ขนาดเล็ก 246 แห่ง ซึ่งปัจจุบันมีน้ำคิดเป็นร้อยละ 30% สามารถใช้การได้จริงเพียง 18% จึงให้เน้นความสำคัญน้ำผลิตประปา น้ำอุปโภคบริโภค จะต้องมีเพียงพอตลอดระยะเวลาที่เกิดฝนทิ้งช่วง หรือให้มีไปจนถึงสิ้นฤดูฝนปีนี้
ส่วนแผนที่ 2 คือ การป้องกันอุทกภัย ซึ่งช่วงเดือนสิงหาคมจะมาพายุเข้ามาในพื้นที่ ได้จัดสรรเครื่องมือเตรียมรองรับ พร้อมให้มีการตรวจสอบความเสถียรภาพของเขื่อนขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก เพื่อบริหารจัดการน้ำอยู่ในระดับควบคุมได้ไม่เกิดผลกระทบทั้งการขาดแคลนน้ำ หรือเกิดน้ำท่วมจากพายุ
โดยเฉพาะในเขตสำนักงานชลประทานที่ 7 ซึ่งมีพื้นที่เสี่ยงเกิดอุทกภัยจำนวนหลายจุด จึงให้ทุกฝ่ายทำแผนพื้นที่จุดเสี่ยงมอบให้ผู้ว่าราชการจังหวัดแต่ละจังหวัดทำแผนเฝ้าระวัง ส่วนกรมชลประทานได้เตรียมเครื่องผลักดันน้ำให้พร้อมปฏิบัติงานได้ตลอด 24 ชั่วโมง เมื่อเกิดเหตุการณ์น้ำหลากขึ้นในพื้นที่จุดเสี่ยงที่ได้กำหนดไว้ในแผน
สำหรับสถานการณ์น้ำในเขตสำนักงานชลประทานที่ 7 ซึ่งที่มีพื้นที่รับผิดชอบ 5 จังหวัด คือ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ ยโสธร และอุบลราชธานี มีอ่างเก็บน้ำขนาดกลางอยู่ในความดูแลจำนวน 61 แห่ง มีปริมาณน้ำรวมกัน 157 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 41 ของความจุอ่าง ซึ่งมีปริมาณน้ำน้อยกว่าปี 2562 เกือบ 10 ล้านลูกบาศก์เมตร ทำให้อ่างทั้งหมดยังสามารถรองรับน้ำในฤดูฝนนี้ได้อีกเกือบ 230 ล้านลูกบาศก์เมตร