กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมรุกพัฒนาผู้ประกอบการ OTOP ที่ได้รับผลกระทบจากการท่องเที่ยวซบเซาผ่าน 7 กิจกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้อยู่รอด เบื้องต้นคัดผู้ประกอบการกว่า 1,000 รายเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก คาดเพิ่มผลิตภาพในเชิงเศรษฐกิจกว่า 500 ล้านบาท
นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ กสอ.ได้ดำเนินโครงการพัฒนาศักยภาพและยกระดับผลิตภัณฑ์หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) รวมทั้งผลิตภัณฑ์ที่อาศัยการท่องเที่ยวเพื่อสร้างรายได้ซึ่งได้รับผลกระทบจากการท่องเที่ยวที่ลดลงโดยเฉพาะจากต่างชาติผ่าน 7 กิจกรรมครอบคลุม 3-6 เดือน โดยได้นำร่องเลือกผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบสูงกว่า 1,000 ราย ซึ่งจากกิจกรรมทั้งหมดคาดว่าจะสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้กว่า 500 ล้านบาท
“อนาคตมีแนวทางในการขยายการส่งเสริมครอบคลุมไปยังผู้ประกอบการ OTOP ทั่วประเทศ เสริมศักยภาพสู่การเปิดตลาดในต่างประเทศ ผ่านการขายออนไลน์ e-commerce เพื่อเป้าหมายของการเป็นศูนย์กลางการส่งออกของภูมิภาค ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มเป้าหมายสำคัญของการฟื้นฟูอุตสาหกรรมไทยให้ดีพร้อมใน 90 วัน เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มปรับตัวอย่างรวดเร็วในอนาคตและกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก” นายณัฐพลกล่าว
สำหรับ 7 กิจกรรมประกอบด้วย 1. กิจกรรมยกระดับผู้ประกอบการ OTOP สู่ Global ด้วยการตลอดออนไลน์ e-commerce 2. กิจกรรมพัฒนาผู้ประกอบการ OTOP สู่ดิจิทัล 4.0 ด้วยการสร้างความรู้เกี่ยวกับเทคนิคการนำเสนอสินค้า และการบริการ ผ่านระบบเทคโนโลยีดิจิทัล 3. กิจกรรมพัฒนาทายาทผู้ประกอบการ OTOP ด้วยการเสนอแนวคิดการยกระดับขีดความสามารถของผู้ประกอบการ OTOP ให้สามารถใช้เทคโนโลยีสารสนเทศสมัยใหม่ในการขับเคลื่อนธุรกิจด้านต่างๆ
4. กิจกรรมพัฒนาผลิตภัณฑ์ และบรรจุภัณฑ์ ที่มีอัตลักษณ์เพื่อเพิ่มมูลค่าในเชิงพาณิชย์ ด้วยการพัฒนาผู้ประกอบการ OTOP ระดับ 3-5 ดาว เพื่อค้นหาและสร้างอัตลักษณ์ของตนเอง นำมาประยุกต์ใช้ในการออกแบบพัฒนา หรือต่อยอดในเชิงพาณิชย์ 5. กิจกรรมยกระดับเสริมสร้างคุณภาพและมาตรฐานสินค้า OTOP พัฒนากระบวนการผลิตให้มีคุณภาพสอดคล้องตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน หรือมาตรฐานอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น ฮาลาล อย. GMP HACCP ISO
6. กิจกรรมพัฒนาและยกระดับมาตรฐานคุณภาพผลิตภัณฑ์ OTOP ด้วยการอบรมเชิงลึก เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตด้วยการลดความสูญเปล่า (Waste) ความไม่สม่ำเสมอ (Unevenness) ฯลฯ 7. กิจกรรม OTOP ยั่งยืนด้วยการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยการให้คำปรึกษาแนะนำเชิงลึกเกี่ยวกับการประเมินวัฏจักรชีวิตผลิตภัณฑ์ การประยุกต์ใช้ทุนความหลากหลายทางชีวภาพของท้องถิ่นให้เกิดมูลค่า