กนอ.เผย 3 ไตรมาสแรกปีงบ 2563 (ต.ค. 62 - มิ.ย. 63 ) ยอดขาย/เช่าพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมลดลง 3.86% ผลพวงพิษโควิด-19 กระทบนักธุรกิจไม่สามารถเดินทางมาดูทำเลลงทุนได้จริง แต่อานิสงส์เทรดวอร์ทำให้เริ่มมีการตัดสินใจย้ายฐานส่งผลให้ลดลงไม่มาก เชื่อคลายล็อกดาวน์จะทำให้สถานการณ์ลงทุนไทยเริ่มดีขึ้น
น.ส.สมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า 3 ไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2563 (ต.ค. 62 - มิ.ย. 63) กนอ.มียอดขาย/เช่าพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม จำนวน 1,696.92 ไร่ ลดลง 3.86% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนเนื่องจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้นักลงทุนไม่สามารถเดินทางมาเยี่ยมชมสถานที่และติดต่อธุรกิจเพื่อประกอบการตัดสินใจจอง/ชื้อ/เช่าที่ดินทั้งในนิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินงาน และนิคมอุตสาหกรรมที่ กนอ.ดำเนินการเองได้
ทั้งนี้ พบว่าพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) มียอดการขาย/เช่าจำนวน 1,598.95 ไร่ และนอกพื้นที่อีอีซี จำนวน 97.97 ไร่ มีการแจ้งเริ่มกิจการใหม่ 114 โรงงาน เกิดการจ้างงานเพิ่ม 12,019 คน ขณะเดียวกัน ประเทศไทยยังได้รับอานิสงส์จากสงครามการค้า (trade war) ระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ทำให้นักลงทุนบางส่วนจากจีนและไต้หวันย้ายฐานการผลิตมายังประเทศไทย โดยส่วนใหญ่จะทำสัญญาจองเช่าไว้ก่อนหน้านั้นแล้ว
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าโควิด-19 จะกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย แต่กระบวนการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมก็มิได้หยุดนิ่ง โดยช่วงต้นปี 2563 มีการลงนามในสัญญาร่วมดำเนินงานแล้วจำนวน 4 แห่ง และประกาศเป็นเขตอุตสาหกรรมในราชกิจจานุเบกษาแล้ว จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ 1. นิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง โครงการ 6 จังหวัดระยอง พื้นที่ 1,322.40 ไร่ มูลค่าการลงทุน 2,625.78 ล้านบาท และ 2. นิคมอุตสาหกรรมเวิลด์ ฟู๊ด วัลเลย์ ไทยแลนด์ จังหวัดอ่างทอง พื้นที่ประมาณ 1,398.04 ไร่ มูลค่าการลงทุน 4,237.17 ล้านบาท
ส่วนนิคมอุตสาหกรรมที่อยู่ระหว่างการประกาศเป็นเขตอุตสาหกรรม อีกจำนวน 2 แห่ง ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมโรจนะชลบุรี 2 (เขาคันทรง) พื้นที่ 902.59 ไร่ มูลค่าการลงทุน 2,100 ล้านบาท และนิคมอุตสาหกรรมเอเชีย คลีน อินดัสเตรียล ปาร์ค พื้นที่ 1,319.89 ไร่ ลงทุน 2,447.75 ล้านบาท เป็นผลให้มีพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมสะสม ประมาณ 177,261 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ที่นิคมอุตสาหกรรมดำเนินการเอง 39,332 ไร่ และเป็นนิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินงาน 137,929 ไร่ เป็นพื้นที่ขายและให้เช่า 114,852 ไร่ /เป็นพื้นที่ขาย/ให้เช่าแล้ว 92,019 ไร่ จึงยังคงมีพื้นที่คงเหลือสำหรับขาย/ให้เช่าอีกประมาณ 22,833 ไร่ มีมูลค่าการลงทุนสะสม 4.02 ล้านล้านบาท มีโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมประมาณ 6,112 โรง และมีการจ้างงานรวมทั้งสิ้นประมาณ 515,962 คน
“ผลจากการจัดอันดับของ U.S. News & World Report ที่ระบุว่า ประเทศไทยติดอันดับ 1 ของโลกประเทศที่ดีที่สุดในการเริ่มต้นธุรกิจจากทั้งหมด 73 ประเทศทั่วโลกชี้ให้เห็นว่านิคมอุตสาหกรรมไทยเป็นฐานการผลิตที่สำคัญ โดยนักลงทุนญี่ปุ่นยังคงครองแชมป์มาลงทุนมากเป็นอันดับหนึ่ง 28% รองลงมาเป็นจีน 17% ไต้หวัน 9% ออสเตรเลีย 6% และฮ่องกง 6% และจากการที่รัฐคลายล็อกดาวน์มากขึ้นเชื่อว่าจะทำให้เกิดการลงทุนใหม่ๆ เพิ่มเติมซึ่ง กนอ.เองได้จัดโปรโมชันส่งเสริมการขายและเช่าที่ดินในแต่ละนิคมฯ ไว้ดึงดูดการลงทุนแล้ว เชื่อว่าจะมีส่วนกระตุ้นให้เกิดการตัดสินใจลงทุนได้มากขึ้น” น.ส.สมจิณณ์กล่าว