“กนอ.” เผยโครงการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมสมาร์ทปาร์ก (Smart Park) คาดเตรียมเสนอ ครม.เห็นชอบได้ภายใน ก.ย.นี้เพื่อเดินหน้าแผนก่อสร้างไตรมาสที่ 1 ปี 2564 โดยใช้ระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 3 ปี รองรับการลงทุนในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (New S-curve)
นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยความคืบหน้า โครงการนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ทปาร์ก (Smart Park) เพื่อรองรับการลงทุนอุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยีนวัตกรรมใหม่และอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (New S-curve) ตั้งอยู่บริเวณนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง ว่า ล่าสุดคณะอนุกรรมการด้านการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันมีมติเห็นชอบการลงทุนของ กนอ.แล้ว และขณะนี้อยู่ระหว่างนำเสนอสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพื่อให้ความเห็นต่อการลงทุนโครงการฯ และคาดว่าจะนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติได้ภายในเดือนกันยายน 2563
"หลังผ่าน ครม.คาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ภายในไตรมาส 1/2564 ใช้ระยะเวลาการก่อสร้างประมาณ 3 ปี มูลค่าการลงทุนระยะแรกประมาณ 2,370.72 ล้านบาท โดยหากการก่อสร้างแล้วเสร็จการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม Smart Park จะสามารถสร้างมูลค่าของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศต่อปี อยู่ที่ 52,934.58 ล้านบาท" น.ส.สมจิณณ์กล่าว
สำหรับนิคมฯ ดังกล่าวมีพื้นที่ประมาณ 1,383.76 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่อุตสาหกรรม 621.55 ไร่ พื้นที่พาณิชยกรรม 150.54 ไร่ พื้นที่ระบบสาธารณูปโภค 373.35 ไร่ พื้นที่สีเขียวและกันชน 238.32 ไร่ โดยมีจุดเด่นคือ การเป็นนิคมอุตสาหกรรมต้นแบบที่ทันสมัย ทั้งด้านเทคโนโลยีอุตสาหกรรม ระบบการสื่อสาร ระบบการขนส่ง ระบบพลังงาน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตามแนวคิดเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ เพื่อรองรับกลุ่มอุตสาหกรรมในอนาคต (New S-Curve) เน้นกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ (Aviation & Logistics) กลุ่มอุตสาหกรรมการแพทย์ (Medical Device) กลุ่มอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ (Robotics) และกลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัล (Digital)
ทั้งนี้ คาดว่าจะก่อให้เกิดการจ้างงานประมาณ 7,459 คน ส่งผลให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจในพื้นที่ประมาณ 1,342,620,000 บาทต่อปี (คิดฐานเงินเดือนขั้นต่ำเดือนละ 15,000 บาท) โดยนิคมฯ สมาร์ทปาร์ก (Smart Park) มีความได้เปรียบในแง่ของการเป็นแหล่งผลิตเม็ดพลาสติกที่เป็นวัตถุดิบ (Raw materials sources) และเป็นส่วนหนึ่งของเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ปัจจุบันประกาศเป็นเขตส่งเสริมเพื่อกิจการอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curve) แล้ว
“จากการคาดการณ์แนวโน้มการลงทุนช่วงครึ่งปีหลังที่คาดว่าจะมีการฟื้นตัวหากมีการเปิดน่านฟ้า และการปลดล็อกดาวน์ประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่รัฐบาลได้ให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ จะได้รับความสนใจจากนักลงทุนต่างประเทศ” ผู้ว่าการ กนอ.กล่าว