ผู้จัดการรายวัน 360 - สกายไรซ์วางเป้าหมายซื้อไลเซนส์เครื่องดื่มอาหารต่างประเทศบุกไทย นำร่องคว้าสิทธิ์มาสเตอร์แฟรนไชส์สตรีทชูโรสจากเกาหลีเข้าไทยฝ่าโควิด-19
นายทศพล พิบูลสงคราม กรรมการผู้จัดการ และผู้ก่อตั้ง บริษัท สกายไรซ์ เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทฯ วางเป้าหมายในการดำเนินธุรกิจเพื่อซื้อลิขสิทธิ์แฟรนไชส์อาหารและเครื่องดื่มจากต่างประเทศเข้ามาเปิดบริการในไทย แม้ว่าปัจจุบันนี้จะมีผู้ประกอบการด้านนี้ที่มากมายหลากหลายทั้งแบรนด์และประเภทของอาหารและเครื่องดื่มก็ตาม แต่เนื่องจากมองว่าประเทศไทยยังมีโอกาสและศักยภาพในการทำตลาดได้อีกมาก เพราะผู้บริโภคมีการเปิดรับสิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลา และเทรนด์ของผู้บริโภคยุคใหม่ก็ต้องการอะไรที่แปลกใหม่เสมอ อีกทั้งยังมีประเภทอาหารอีกมากที่ยังไม่มีในไทย
ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้นำร่องด้วยการรับสิทธิ์เป็นมาสเตอร์แฟรนไชส์รายเดียวในไทยด้วยสัญญานาน 5 ปีและต่อได้อีก จากแบรนด์ Street Churros (สตรีท ชูโรส) คาเฟ่ขนมชูโรสจากเกาหลีใต้ (มีลักษณะเป็นแป้งเส้นๆ นำมาทอดกรอบ คลุกผงซินนามอน และมีดิปรสชาติต่างๆ ให้ความรู้สึกคล้ายๆ กับปาท่องโก๋)
“ขนมแบบนี้มีต้นกำเนิดมาจากสเปน แต่แบรนด์นี้มีการพัฒนาและเกิดขึ้นที่เกาหลีใต้ประมาณปี 2557 และเป็นผู้นำในตลาดที่เกาหลี มีสาขามากกว่า 70 แห่งแล้ว และมีสาขากว่า 100 สาขาทั่วโลก เช่น เกาหลี ไต้หวัน จีน อเมริกา มาเลเซีย อินโดนีเซีย และไทยเป็นประเทศล่าสุด”
บริษัทฯ เพิ่งเปิดสาขาแรกที่เซ็นทรัลเวิลด์เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา พื้นที่ 32.8 ตารางเมตร แต่ก็ต้องปิดร้านชั่วคราวจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ระบาดตามคำสั่งปิดศูนย์การค้าของภาครัฐ ซึ่งตามแผนเดิมจะเปิด 2 สาขาในปีนี้ แต่คาดว่าต้องเลื่อนไปเป็นปีหน้า โดยลงทุนสาขาละ 5 ล้านบาท นำเข้าอุปกรณ์หลักจากเกาหลี เช่น เครื่องบีบ เครื่องทอด วัตถุดิบ เช่น แป้ง ผงซินนามอน เป็นต้น
“ช่วงที่ร้านต้องปิดบริการเพราะโควิดเราเน้นช่องทางดีลิเวอรีเท่านั้น โดยร่วมมือกับทางไลน์แมนและแกร็บ แต่เวลานี้ร้านเปิดปกติแล้ว ส่งผลให้ปัจจุบันมีสัดส่วนยอดขายมาจากดีลิเวอรีประมาณ 30% และยอดขายจากหน้าร้าน 70%” นายทศพลกล่าว
สำหรับกลุ่มเป้าหมายของ Street Churros เป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ 1. กลุ่มคนทำงาน เป็นกลุ่มใหญ่ เพราะมีกำลังซื้อ และชอบเดินห้าง, 2. กลุ่มวัยรุ่น เป็นกลุ่มที่มาเร็วไปเร็ว ต้องทำโปรโมชันกระตุ้นการซื้อ แต่เป็นกลุ่มใหญ่ที่เดินห้าง, 3. กลุ่มครอบครัว โดยเฉพาะครอบครัวที่มีเด็กเล็กๆ จะชอบแนวแป้ง ของทอด ไอศกรีม และ 4. กลุ่มนักท่องเที่ยว คนกลุ่มนี้จะรู้จักชูโรสอย่างดี แต่ต้องรอนักท่องเที่ยวเข้าประเทศก่อน
ทั้งนี้ มียอดขายประมาณ 250-350 บาทต่อบิล ตั้งเป้าหมายรายได้รวม 1-1.5 ล้านบาทต่อเดือนต่อสาขา คาดว่าจะคืนทุนได้ภายใน 1 ปีต่อสาขา ซึ่งเดือนหน้าจะเปิดตัวเมนูใหม่ชื่อ ชูฟรายส์ เป็นคล้ายมันฝรั่งทอด
แผนลงทุนในไทยจะเน้นขยายสาขาเองก่อนในช่วง 2-3 ปีแรกให้ได้ประมาณไม่เกิน 10 สาขา มองทำเลในศูนย์การค้า เช่น เซ็นทรัลลาดพร้าว สยามพารากอน เอ็มควอเธียร์ เป็นต้น และหลังจากนั้นคาดว่าปีที่ 3 จะเริ่มขายแฟรนไชส์ในไทย เพื่อขยายไปตามหัวเมืองใหญ่และเมืองท่องเที่ยว
สำหรับโมเดลของร้านสตรีทชูโรสในเกาหลีมี 4 แบบ คือ 1. แบบรถเข็น จะเปิดตามงานอีเวนต์ มีขายแต่ชูโรส, 2. แบบคีออสก์ 5-10 ตารางเมตร มีกาแฟกับชูโรสจำหน่าย, 3. แบบโอเพนชอปหรือเคาน์เตอร์ พื้นที่ 25-35 ตารางเมตร และ 4. แบบร้านขนาดใหญ่ ซึ่งเกาหลีมีรูปแบบนี้มาก โดยแบบ 3 และ 4 จะมีสินค้าจำหน่ายครบทั้งชูโรส ไอศกรีม เครื่องดื่มและกาแฟ ซึ่งในไทยบริษัทฯ จะเน้นรูปแบบคีออสก์ กับโอเพนชอป
ตลาดขนมหวานในเมืองไทยมีมากมายทั้งแบรนด์ไทย แบรนด์ต่างประเทศ แม้ว่าขนมชูโรสนี้จะใหม่ในไทย แต่ก็เป็นที่รู้จักกันดีสำหรับคนที่เดินทางไปต่างประเทศบ่อยที่เกาหลี หรือสเปน แต่เราก็มองว่าเป็นแบรนด์และเป็นขนมที่มีอนาคต และสามารถสร้างความแปลกใหม่ได้ ตลาดเดียวกันก็เป็นพวก โดนัท แพนเค้ก หรือแม้แต่ไอศกรีมที่เราก็มีด้วย เราใช้จุดแข็งตรงสินค้า และราคาที่เข้าถึงได้ เริ่มต้นที่ 59 บาท และวางตำแหน่งสแน็กกิ้งโมเมนต์
“จริงๆ ขนมชูโรสเป็นขนมเก่าแก่พอๆ กับเฟรนช์ฟรายส์ แต่ในไทยไม่ค่อยมีใครรู้จัก เป็นขนมเก่าแก่ที่คนเคยไปยุโรปอาจจะเคยกินมาบ้าง แต่ที่เลือกแบรนด์เกาหลีเพราะต้องยอมรับว่าที่เกาหลีมีความเก่งเรื่องขนมแป้งๆ ทำให้โดนใจหลายกลุ่มเป้าหมายได้ “ชูโรส” ในไทยมีไม่กี่ราย ส่วนใหญ่ตั้งขายแบบ Stand Alone ไม่ได้ขายในศูนย์การค้า เลยคิดว่าขนมชูโรสน่าจะเหมาะกับการเปิดในศูนย์การค้ามากกว่า Street Churros ถือเป็นชูโรสแบรนด์แรกที่อยู่ในศูนย์การค้า อาศัยทราฟฟิกของคนเดินได้ เพราะเป็นของกินกลุ่มที่ต้องอาศัยการกระตุ้นที่จุดขาย เน้นการกินหลายโอกาส และร้านเราเป็นร้านแรกที่ทำสเกลเป็นแบบคาเฟ่ขนมชูโรส” นายทศพลกล่าว