ผู้จัดการรายวัน 360 - ไอ.ซี.ซี.โหมหนักช่องทางออนไลน์ วางเป้าเดิม 5 ปีก่อนเกิดโควิดรายได้ 5,000 ล้านบาท แต่ยังเป็นห่วงกำลังซื้อของผู้บริโภคแม้คลายล็อกดาวน์แล้วเพราะกำลังซื้อผู้บริโภคหาย พร้อมปรับงานสหกรุ๊ปแฟร์สู่ออนไลน์ครั้งแรก ผนึก 3 แพลตฟอร์มดัง ช้อปปี้ ลาซาด้า และเจดีเซ็นทรัลลุยตลาด
นายธรรมรัตน์ โชควัฒนา กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท ไอ.ซี.ซี.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทฯ วางเป้าหมายภายใน 5 ปีจากนี้เริ่มตั้งแต่ปีที่แล้ว (ปี 2562) จะต้องมีรายได้จากช่องทางออนไลน์และโซเชียลมีเดียอื่นๆ รวมกันประมาณ 5,000 ล้านบาทจากรายได้รวม ซึ่งปีที่แล้วมีรายได้รวมประมาณ 13,000 กว่าล้านบาท แต่อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์โควิดรวมทั้งปัญหาทางด้านเศรษฐกิจขณะนี้อาจต้องมีการเลื่อนระยะเวลาออกไปอีก
ทั้งนี้ ไอ.ซี.ซี.มีสัดส่วนรายได้จากช่องทางออนไลน์ขณะนี้ประมาณ 20% แล้ว ซึ่งถือว่าเร็วแล้วและมีการเติบโตตลอดตั้งแต่เริ่มทำมา ขณะที่ในส่วนของบริษัทอื่นๆ ในเครือก็มีการทำออนไลน์ผ่านช่องทางตัวเองกับผ่านทางมาร์เกตเพลซหลายแห่ง เช่น ไลอ้อน สหพัฒน์ วาโก้ เป็นต้น
สำหรับในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ระบาดช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่าช่องทางออนไลน์กลายเป็นช่องทางที่สำคัญมาก เติบโตมากกว่า 300% กว่าทุกบริษัท ขณะที่ช่วงปกติโตกว่า 30% ขณะที่ช่องทางออฟไลน์ก็ยังคงต้องมีการขยายต่อเนื่อง
“การทำตลาดช่องทางออนไลน์ต้องมีการปรับและพัฒนาต่อเนื่อง ซึ่งเท่าที่ดู ปัจจัยหลักๆ ที่ทำให้ออนไลน์สำเร็จก็มีทั้งคล้ายและแตกต่างจากช่องทางออฟไลน์หลายเรื่อง อย่างเช่น สินค้าที่ต้องมีความหลากหลายไม่แพ้กันกับช่องทางออฟไลน์ 2. ราคาที่ต้องดึงดูดลูกค้า และการบริหารจัดการที่ไม่เหมือนกัน เช่นเรื่องของความเร็ว เพราะออฟไลน์ซื้อแล้วได้สินค้าทันทีและสามารถที่จะดูรายละเอียดสินค้าได้” นายธรรมรัตน์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ปัญหาใหญ่ขณะนี้คือ กำลังซื้อของผู้บริโภคและภาวะเศรษฐกิจเป็นหลักที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการจับจ่าย แม้ว่าจะมีการคลายล็อกดาวน์จากภาครัฐบ้างแล้วก็ตาม แต่ว่าเป็นการคลายล็อกดาวน์ให้กับภาคธุรกิจได้กลับมาดำเนินการมากกว่า ส่วนประชาชนผู้บริโภคก็ยังคงเจอปัญหา อย่างเช่น การถูกลดเงินเดือน การถูกเลิกจ้าง ค่าเงินบาทที่ไม่ค่อยดี เป็นต้น
รวมไปถึงวิถีชีวิตใหม่หรือนิวนอร์มัลก็มีส่วนทำให้การจับจ่ายเปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับประเภทของสินค้าอีกด้วย
“เราเองก็ต้องมีการปรับตัว แม้ว่าภาครัฐจะมีมาตรการต่างๆ ออกมาช่วยกระตุ้นก็ตาม แต่เราก็พึ่งพามาตรการอย่างเดียวไม่ได้ เราต้องทำเองด้วย เช่น เรื่องสต๊อกสินค้า ตอนนี้มีมากเพราะติดช่วงโควิดที่ผ่านมา เราต้องเร่งการจัดระบายสต๊อกให้หมดภายใน 1 ปีจากช่วงปกติใช้เวลาประมาณ 2 ปี”
นายธรรมรัตน์กล่าวด้วยว่า เป้าหมายเดิมของปี 2563 นี้บริษัทตั้งใจที่จะลดการขาดทุนลงจากปีที่แล้วให้ได้ แต่คาดว่ายังคงขาดทุนอยู่เช่นเดิมจากสภาพเศรษฐกิจที่เป็นอยู่นี้ และยังมองไม่เห็นถึงปัจจัยบวกอะไรเลยในภาพรวม ส่วนรายได้รวมคาดว่าจะติดลบ 10% จากเดิมตั้งเป้าเติบโต 5%
ล่าสุดจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เครือสหพัฒน์จึงได้เปลี่ยนรูปแบบการจัดงานในปีนี้มาเป็น สหกรุ๊ปแฟร์ออนไลน์ ปี 63 เพื่อลดความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายเชื้อ อีกทั้งยังสอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคที่นิยมการซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้น
งานสหกรุ๊ปแฟร์ออนไลน์ ปี 63 จัดวันที่ 2-5 กรกฎาคม 2563 เป็นการยกงานสหกรุ๊ปแฟร์ที่เคยจัดที่ไบเทคมาจัดบน www.sahagroupfair.com โดยจะมีลิงก์จากเว็บไปยัง LAZADA SHOPEE และ JD CENTRAL ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่มีการจำหน่ายสินค้าบน 3 แพลตฟอร์มพร้อมกัน แบ่งสินค้าออกเป็น 7 หมวด คือ Fashion, Lingerie, Health & Beauty, Baby & Toddler, Household, Grocery และ Services & Education มีสินค้ามาจำหน่ายกว่า 100 แบรนด์ กว่า 20,000 SKU เช่น วาโก้ บีเอสซี แอร์โรว์ ลาคอสท์ แอล (ELLE) เอราวอน กี ลาโรช อองฟองต์ แอ็บซอร์บา ฟาร์มเฮ้าส์ มาม่า มองต์เฟลอ ริชเชส ซื่อสัตย์ เอสเซ้นต์ เปา ซิสเท็มมา คิเรอิคิเรอิ โชกุบุสซึ วาเซดะ บุนกะ
สินค้า 7 หมวดนี้จะมีทั้งสินค้านวัตกรรม สินค้าใหม่ สินค้าขายดี และสินค้า Clearance ที่นำมาลดพิเศษสูงสุดถึง 80% ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้บริโภค ในเว็บมีการไลฟ์สดช่วง Flash Sale และการแจกคูปองส่วนลดเพื่อนำไปลดเพิ่มใน LAZADA SHOPEE และ JD CENTRAL ซึ่งทุกบิลที่ซื้อสามารถนำมากรอกข้อมูลชิงรางวัลในเว็บกว่า 3,000 รางวัล รวมกว่า 9 แสนบาท สำหรับผู้ที่ต้องการสั่งซื้อล่วงหน้าจะเปิดให้มีพรีออเดอร์ (PRE SALES) สินค้าใหม่ในวันที่ 27 มิถุนายน-1 กรกฎาคม 2563 เฉพาะที่ LAZADA
นอกจากการจำหน่ายสินค้าแบบ B2C ให้แก่ผู้สนใจทั่วไปแล้ว จะมีการจำหน่ายแบบ B2B ให้แก่ร้านค้าทั่วไป ร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ และผู้ที่ซื้อสินค้าไปจำหน่ายต่อ ในงานนี้ เครือสหพัฒน์ยังได้ร่วมกับสถาบันการเงินและกองทุน 11 แห่ง ได้แก่ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Bank) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารออมสิน ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (KTC) บริษัท อยุธยา แคปปิตอล เซอร์วิสเซส จำกัด และกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ เพื่อให้ส่วนลดเงินสดและเครดิตเงินคืนสำหรับการซื้อแบบ B2C และให้สินเชื่อพิเศษสำหรับการซื้อแบบ B2B