“เขมทัตต์” ชี้แจงข้อสงสัย ระบุคืนคลื่น 2600 โปร่งใส ยืนยันรักษาผลประโยชน์องค์กรเต็มที่ เผยเบื้องหลังที่มาการพิจารณาเรียกเงินเยียวยาคลื่น 2600 ย้ำการพิจารณาแบ่งค่าตอบแทนไม่ทำให้ อสมท เสียเปรียบคู่สัญญา
วันที่ 11 มิถุนายน 2563 นายเขมทัตต์ พลเดช กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ออกแถลงการณ์ชี้แจงพนักงาน บมจ.อสมท จากกรณีที่มีการนำเสนอข่าวพาดพิงถึงผู้บริหารระดับสูงของ บมจ.อสมท ซึ่งหมายถึง กก.ผอ.ใหญ่ บมจ.อสมท ว่าไม่รักษาผลประโยชน์ให้ บมจ.อสมท อย่างเต็มที่ในกรณี การเยียวยาการเรียกคืนคลื่นความถี่ในย่าน 2600 MHz ของ บมจ.อสมท จนทำให้สาธารณชนเกิดความเข้าใจผิด และเกิดเป็นภาพลักษณ์ที่ไม่ดีต่อองค์กร โดยผู้บริหารระดับสูงของ บมจ.อสมท ได้ทำหนังสือถึง กสทช. เรียกเงินเยียวยาจากการถูก กสทช.เรียกคืนคลื่นความถี่ในย่าน 2600 MHz ในจำนวนที่เท่ากับบริษัทเอกชนคู่สัญญา โดยมองว่า บมจ.อสมท ควรจะได้รับเงินเยียวยาที่มากกว่านี้ ทำให้ บมจ.อสมท ได้รับความเสียหาย จนกระทั่งสหภาพแรงงาน บมจ.อสมท ออกมาเคลื่อนไหวร้องเรียนให้มีการตรวจสอบผู้บริหารระดับสูงของ บมจ. อสมท และต่อมายังได้ปรากฏข่าวที่ไม่มีมูลความจริงเผยแพร่ทั่วไปอีกว่า รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแล บมจ.อสมท ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีให้เข้ามาตรวจสอบในเรื่องนี้ด้วย
ในการนี้ เพื่อมิให้เกิดความเข้าใจผิดและทำให้สาธารณชนได้รับข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง กก.ผอ.ใหญ่ บมจ.อสมท จึงขอชี้แจงข้อเท็จจริง รวมทั้งข้อกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจนนำมาซึ่งการจะต้องได้รับการเยียวยาจาก กสทช.จากการที่ถูกเรียกคืนคลื่นความถี่ ดังต่อไปนี้
1) ในการกำหนดจำนวนเงินที่จะต้องจ่ายชดใช้ และจ่ายค่าตอบแทนการเสียโอกาสจากการถูกเรียกคืน คลื่นความถี่ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง คือ พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ และประกาศของ กสทช.ได้กำหนดให้เป็นหน้าที่ของ กสทช. มิใช่ให้เป็นหน้าที่ของผู้ที่ถูกเรียกคืนคลื่นที่จะกำหนดจำนวนเงินได้เอง บมจ.อสมท ในฐานะเป็นผู้ที่ถูกเรียกคืนคลื่นความถี่ มีหน้าที่เพียงแจ้งข้อมูลรายละเอียดต่างๆของการลงทุน และการได้รับประโยชน์จากการใช้คลื่นความถี่ในทางธุรกิจให้ กสทช.ทราบเท่านั้น เพื่อให้ กสทช.ได้นำข้อมูลที่แจ้งไปประกอบการพิจารณากำหนดการจ่ายเงินชดใช้และการจ่ายเงินค่าตอบแทนการเสียโอกาส รวมทั้งหน้าที่ในการกำหนดสัดส่วนการจ่ายเงินชดใช้และการจ่ายเงินค่าทดแทน ระหว่าง บมจ.อสมท ผู้ถูกเรียกคืนคลื่นความถี่ กับบริษัทเอกชนคู่สัญญา ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการถูกเรียกคืนคลื่นความถี่ ก็เป็นหน้าที่ของ กสทช.ในการกำหนดสัดส่วนด้วยเช่นกัน
2) ในการเยียวยา บมจ.อสมท และบริษัทเอกชนคู่สัญญา แบ่งการเยียวยาเป็น 2 ส่วน คือ “การจ่ายค่าชดใช้” และ “การจ่ายค่าตอบแทนการเสียโอกาสจากการถูกเรียกคืนคลื่นความถี่” ซึ่งตามกฎหมายเพื่อให้ความเป็นธรรม จึงได้กำหนดให้ กสทช. ต้องแต่งตั้งคณะอนุกรรมการจากหน่วยงานต่างๆ จำนวน 7 หน่วยงาน มาเป็นผู้พิจารณากำหนดจำนวนเงินที่จะต้องจ่ายชดใช้ และจ่ายค่าตอบแทนการเสียโอกาส ซึ่งอนุกรรมการจากหน่วยงานต่างๆ ของรัฐ เป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเป็นกลาง ไม่มีส่วนได้เสียในการพิจารณา โดยที่กฎหมายยินยอมให้ กสทช.มีผู้แทน 1 คนร่วมเป็นอนุกรรมการในการพิจารณาด้วย และนอกจากนี้ เพื่อความรอบคอบ กฎหมายยังกำหนดให้ กสทช.ต้องว่าจ้างสถาบันอุดมศึกษาที่เป็นของรัฐจำนวน 3 แห่ง ทำการศึกษามูลค่า การเรียกคืนคลื่นความถี่และการทดแทน ชดใช้ และจ่ายค่าตอบแทนการเสียโอกาสจากการถูกเรียกคืนคลื่นความถี่ แล้วนำผลการศึกษาของทั้ง 3 สถาบัน มาประกอบการพิจารณาของ กสทช. ซึ่งสุดท้าย กสทช.ได้เลือกผลการศึกษาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเพียงสถาบันเดียวมาประกอบการพิจารณา
3) เมื่อ กก.ผอ.ใหญ่ บมจ.อสมท ได้เข้าไปชี้แจง ในการประชุม กสทช.เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2563 ได้ทราบในการประชุมว่า คณะอนุกรรมการจาก 7 หน่วยงานมีความเห็นเสนอต่อ กสทช. ว่าในการเยียวยาให้แก่ บมจ.อสมท และบริษัทเอกชนคู่สัญญา ให้จ่ายเฉพาะส่วนค่าตอบแทนการเสียโอกาส จากการถูกเรียกคืนคลื่นความถี่เพียงส่วนเดียวเท่านั้น โดยไม่ต้องจ่ายในส่วนของการชดใช้ และในการแบ่งสัดส่วนการจ่ายค่าตอบแทนให้แบ่งในสัดส่วนเท่าๆกัน แต่ในส่วนผลการศึกษาของ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีความเห็นว่า ให้จ่ายค่าตอบแทนการถูกเรียกคืนคลื่นทั้งหมดโดยตรงต่อ บมจ.อสมท โดยในส่วนของบริษัทคู่สัญญาให้ได้รับการจ่ายค่าตอบแทนจาก บมจ. อสมท ตามข้อตกลงทางธุรกิจที่ได้ทำไว้ร่วมกัน ซึ่งความเห็นของคณะอนุกรรมการจาก 7 หน่วยงาน และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นความเห็นที่แตกต่างกัน
4) กก.ผอ.ใหญ่ บมจ.อสมท ได้รับแจ้งจาก กสทช. ในการประชุมเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2563 ว่า บมจ. อสมท จะต้องทำหนังสือยืนยันว่ามีความต้องการจะให้แบ่งสัดส่วนการจ่ายค่าตอบแทนอย่างไร ซึ่งเท่ากับว่าจะต้องเลือกตามความเห็นของคณะอนุกรรมการจาก 7 หน่วยงาน หรือตามความเห็นของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งในการประชุมชี้แจงเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2563 ดังกล่าว กก.ผอ.ใหญ่ บมจ.อสมท ได้แจ้งต่อ กสทช.ว่าขอให้ กสทช.เป็นผู้กำหนดส่วนแบ่งการจ่ายค่าตอบแทนเพราะเป็นหน้าที่ตามกฎหมายของ กสทช. แต่ได้รับการยืนยันว่า บมจ.อสมท จะต้องทำหนังสือเสนอการแบ่งสัดส่วนการจ่ายค่าตอบแทนมาให้ก่อน กสทช. จึงจะพิจารณาให้ ทำให้ กก.ผอ.ใหญ่ บมจ.อสมท จำเป็นต้องทำหนังสือแจ้งยืนยันรายละเอียดและสัดส่วนการชดใช้ หรือจ่ายค่าตอบแทน ในการเรียกคืนคลื่นความถี่ไปยัง กสทช. ทั้งที่ได้มีความเห็นทักท้วงแล้วว่าเป็นหน้าที่ของ กสทช. ตามกฎหมาย ที่จะเป็นผู้กำหนดจำนวนเงินและสัดส่วนการจ่ายค่าตอบแทน ซึ่งต่อมา ได้มีการนำหนังสือแจ้งยืนยันดังกล่าวของ กก.ผอ.ใหญ่ บมจ.อสมท ไปเผยแพร่ และมีการกล่าวหาว่ากก.ผอ.ใหญ่ บมจ.อสมท ดำเนินการเรื่องนี้โดยไม่มีอำนาจหน้าที่ และทำให้ บมจ.อสมท ต้องเสียเปรียบต่อบริษัทเอกชนคู่สัญญา
5) เมื่อได้รับแจ้งว่า จำเป็นต้องทำหนังสือยืนยันการแบ่งสัดส่วนแล้ว กก.ผอ.ใหญ่ บมจ.อสมท จึงได้ทำหนังสือยืนยันต่อ กสทช. มีใจความว่า “สำหรับจำนวนสัดส่วนการชดใช้ หรือจ่ายค่าตอบแทนในการถูกเรียกคืนคลื่นความถี่ระหว่าง บมจ. อสมท กับบริษัทคู่สัญญา ขอให้มีการพิจารณาแบ่งค่าตอบแทนดังกล่าวในจำนวนเท่าๆกันทั้งสองฝ่าย ซึ่งจะทำให้ บมจ.อสมท ไม่เป็นการเสียเปรียบแต่อย่างใด” การแจ้งยืนยันดังกล่าวมีเหตุผลในการพิจารณาตัดสินใจดังนี้
5.1) เนื่องจากมีความเห็นเสนอต่อ กสทช.ให้พิจารณาทางเลือกในการจ่ายค่าตอบแทน เป็น 2 ทางเลือก ระหว่างความเห็นของคณะอนุกรรมการจาก 7 หน่วยงาน ซึ่งมีความเห็นว่าไม่ต้องจ่าย ค่าชดใช้ แต่ให้จ่ายเฉพาะค่าตอบแทนการเสียโอกาสและแบ่งสัดส่วนค่าตอบแทนการเสียโอกาสระหว่าง บมจ.อสมท กับบริษัทเอกชนคู่สัญญาเท่ากัน กับความเห็นของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมีความเห็นว่าให้จ่ายค่าตอบแทนการเสียโอกาสตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในสัญญาทางธุรกิจฯ ที่ บมจ อสมท ได้ทำไว้กับบริษัทเอกชนคู่สัญญา ซึ่งเมื่อพิจารณาเปรียบเทียบทั้งสองความเห็นนี้แล้ว เห็นว่า ความเห็นของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะทำให้ บมจ.อสมท ได้รับเงินส่วนแบ่งที่น้อยกว่าเป็นการเสียเปรียบบริษัทเอกชนคู่สัญญา เพราะตามสัญญาที่ทำร่วมกันได้กำหนดให้ บมจ.อสมท มีส่วนแบ่งรายได้จากรายได้รวมในอัตรา ร้อยละ 9 ด้วยเงื่อนไขที่กำหนดให้บริษัทเอกชนเป็นผู้ลงทุนและรับความเสี่ยงทั้งหมดในการดำเนินโครงการฯ และ บมจ.อสมท ไม่ต้องรับความเสี่ยงจากการขาดทุน แต่ถึงแม้จะมีส่วนแบ่งที่น้อยกว่า ก็ถือว่าเป็นรายได้ที่แน่นอนไม่มีความเสี่ยงจากการขาดทุน เพราะกำหนดส่วนแบ่งจากรายได้ มิใช่กำหนดส่วนแบ่งจากผลกำไร ซึ่งไม่มีความแน่นอน แต่หากให้แบ่งสัดส่วนตามข้อตกลงในสัญญาแล้ว ก็จะทำให้ บมจ. อสมท ต้องได้รับ ส่วนแบ่งตามสัดส่วนที่กำหนดในสัญญา ซึ่งทำให้ได้รับเงินส่วนแบ่งเป็นจำนวนที่น้อยกว่า การเลือกส่วนแบ่งรายได้ตามความเห็นของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงทำให้ บมจ.อสมท ได้รับเงินส่วนแบ่งที่น้อยกว่า
5.2) ความเห็นของคณะอนุกรรมการจาก 7 หน่วยงาน ที่เสนอให้แบ่งสัดส่วนเท่าๆกัน แต่ไม่ได้ให้จ่ายค่าชดใช้เป็นความเห็นที่ทำให้ บมจ.อสมท ได้รับประโยชน์มากกว่า คือได้รับเงินส่วนแบ่งเป็นจำนวนที่มากกว่า เพราะแม้จะแบ่งสัดส่วนในจำนวนที่เท่ากัน แต่ บมจ.อสมท ไม่มีภาระในการจ่ายเงินลงทุน ทำให้ยังเหลือ เงินส่วนแบ่งที่ได้รับเต็มจำนวน ขณะที่บริษัทคู่สัญญา มีภาระที่จ่ายเงินลงทุนไป เมื่อหักกลบเงินที่ลงทุนไปแล้ว จึงทำให้ได้รับเงินส่วนแบ่งไม่เต็มจำนวน และมีจำนวนน้อยกว่าที่ บมจ.อสมท ได้รับ และที่สำคัญ บมจ.อสมท ยังมีข้อผูกพันตามสัญญากับบริษัทเอกชนคู่สัญญา จึงไม่สามารถเป็นผู้กำหนดสัดส่วนการแบ่งเงินรายได้ที่ได้รับจากการเยียวยาได้ตามใจชอบต้องเป็นไปในกรอบของสัญญาด้วย
5.3) ด้วยเหตุผลดังกล่าว จึงยืนยันให้ กสทช.พิจารณากำหนดแบ่งค่าตอบแทนในจำนวนเท่าๆ กัน ซึ่งเป็นไปตามความเห็นของคณะอนุกรรมการจาก 7 หน่วยงานที่เสนอต่อ กสทช. จึงเป็นประโยชน์ต่อ บมจ.อสมท มากกว่า มิได้ทำให้ บมจ.อสมท เสียเปรียบต่อบริษัทเอกชนคู่สัญญาตามที่มีการกล่าวหาแต่ประการใด การดำเนินการดังกล่าว ก็เพื่อส่งผลให้องค์กรซึ่งรอรับเงินเยียวยาชดเชยที่ล่าช้ามานาน ได้รับมติ ที่เสร็จสิ้นโดยเร็ว อันเป็นประโยชน์ของผู้ถือหุ้นอย่างแท้จริง
สำหรับขั้นตอนต่อไป บมจ.อสมท ต้องรอเอกสารอย่างเป็นทางการจากสำนักงาน กสทช.เพื่อจะพิจารณารายละเอียดอื่นๆ ที่จะตามมา เช่น ระยะเวลาของการเบิกจ่ายค่าเยียวยา และอื่นๆ
ข้อมูลประกอบ
จุดเริ่มต้น คลื่นความถี่ย่าน 2600 MHz
จุดเริ่มต้น บมจ.อสมท เป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ในย่าน 2600 MHz อย่างถูกต้องจากกรมไปรษณีย์โทรเลข ซึ่งต่อมา บมจ.อสมท ได้นำคลื่นความถี่ที่ได้รับอนุญาตให้ใช้งานดังกล่าว ไปใช้ในการดำเนินธุรกิจโทรทัศน์ประเภทบอกรับสมาชิกร่วมกับบริษัทเอกชน โดยมีเงื่อนไขให้บริษัทเอกชนเป็นผู้ลงทุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินการทั้งหมดเพียงฝ่ายเดียว บมจ.อสมท ไม่ต้องลงทุนออกค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น แต่จะได้รับส่วนแบ่งรายได้ที่แน่นอนจากการดำเนินการร่วมกันตลอดระยะเวลาของสัญญา ไม่ต้องรับผิดชอบความเสี่ยงจากการขาดทุนใดๆ ทั้งสิ้น บริษัทเอกชนคู่สัญญาจะเป็นผู้รับความเสี่ยงทั้งหมดเพียงฝ่ายเดียว โดยได้มีการทำสัญญาร่วมดำเนินงานกับบริษัทเอกชน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 เป็นต้นมา แต่ปรากฏว่าภายหลังจากการทำสัญญาร่วมดำเนินงานแล้ว บมจ.อสมท ไม่สามารถเริ่มต้นดำเนินธุรกิจโทรทัศน์ประเภทบอกรับสมาชิกได้
อันเนื่องมาจากเมื่อมีกฎหมายจัดตั้ง กสทช. ขึ้นภายหลังในปี พ.ศ. 2554 และ กสทช. ได้เข้ามาทำหน้าที่กำกับดูแลกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแทนหน่วยงานที่รับผิดชอบเดิม ซึ่งผลจากการเปลี่ยนแปลงของกฎหมาย และการเปลี่ยนแปลงอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลกิจการโทรทัศน์มาเป็น กสทช. ทำให้เกิดข้อขัดข้องหลายครั้งในการขออนุญาต กสทช. เพื่อจะดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ ในการขออนุญาตเปิดให้บริการโทรทัศน์ประเภทบอกรับสมาชิก จนทำให้ บมจ.อสมท ต้องร้องอุทธรณ์ขอให้ กสทช. พิจารณาทบทวนด้วยความเป็นธรรมหลายครั้ง ท้ายที่สุด จึงได้รับอนุญาตจาก กสทช.ให้สามารถเปิดให้บริการโทรทัศน์ประเภทบอกรับสมาชิกได้ในช่วงต้นปี พ.ศ. 2562 ซึ่งการดำเนินการขออนุญาต กสทช.ตามขั้นตอนต่างๆ ใช้เวลานานร่วม 10 ปี ขณะที่การขออนุญาตทำนองเดียวกันโดยผู้ขออนุญาตรายอื่น กสทช.ได้อนุญาตในระยะเวลาอันสั้น ทำให้การดำเนินธุรกิจของ บมจ.อสมท และบริษัทเอกชนคู่สัญญาต้องล่าช้าไปมาก ไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี และไม่ทันต่อความต้องการใช้บริการอย่างรวดเร็วของประชาชนผู้ใช้บริการ ส่งผลให้สร้างความเสียหายแก่ บมจ.อสมท และบริษัทเอกชนคู่สัญญาเป็นจำนวนมาก ทั้งมูลค่าเงินที่สูญเปล่าไปในการลงทุนและมูลค่าการเสียโอกาสทางธุรกิจจากความล่าช้า
แต่ทว่า เมื่อ บมจ.อสมท สามารถเริ่มต้นดำเนินธุรกิจโทรทัศน์บอกรับสมาชิกได้ในช่วงต้นปี พ.ศ. 2562 แล้ว บมจ.อสมท จึงได้รับแจ้งจาก กสทช.ว่าต้องการจะเรียกคืนคลื่นความถี่ในย่าน2600 MHz จาก บมจ. อสมท เพื่อจะนำไปประมูลคลื่นความถี่ใช้ในกิจการโทรคมนาคมสำหรับโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 5G โดยจะพิจารณาจ่ายค่าชดใช้และค่าตอบแทนการเสียโอกาสจากการถูกเรียกคืนคลื่นความถี่ให้แก่ บมจ.อสมท และบริษัทเอกชนคู่สัญญา พร้อมขอให้ บมจ.อสมท และบริษัทเอกชนคู่สัญญาได้ให้ความยินยอมคืนคลื่นความถี่เพื่อประโยชน์แก่ส่วนรวม
บมจ อสมท และบริษัทเอกชนคู่สัญญา ได้พิจารณาร่วมกันแล้วเห็นว่า การคืนคลื่นความถี่เพื่อนำไปประมูลใช้ในกิจการโทรคมนาคมสำหรับโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 5G จะก่อให้เกิดประโยชน์โดยส่วนรวม แก่ประเทศชาติและเศรษฐกิจของประเทศมากยิ่งขึ้น จึงได้มีหนังสือแจ้งยินยอมคืนคลื่นความถี่ในย่าน 2600 MHz และขอให้ กสทช. ได้พิจารณาจ่ายค่าชดใช้ และค่าตอบแทนการเสียโอกาสจากการถูกเรียกคืนคลื่นความถี่ ด้วยความเป็นธรรม กสทช.จึงได้นำคลื่นความถี่ที่ได้เรียกคืนนี้ไปประมูล และมีผู้ประกอบการกิจการโทรคมนาคมได้ประมูลคลื่นความถี่นี้ไปใช้งานจนหมด ได้เงินจากการประมูลคลื่นความถี่ทั้งหมดเป็นจำนวน 37,164 ล้านบาท ซึ่งตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 ที่แก้ไขเพิ่มเติมในปี พ.ศ. 2560 ได้กำหนดให้สิทธิเป็นพิเศษแก่ กสทช. ที่จะไม่ต้องนำเงินที่ได้จากการประมูลคลื่นความถี่จากการเรียกคืนในครั้งนี้ส่งเป็นรายได้แผ่นดินดังเช่นการประมูลคลื่นความถี่ทั่วไปที่ต้องส่งเงินจากการประมูลเป็นรายได้แผ่นดิน โดย กสทช. สามารถเก็บเงินที่ได้จากการประมูลคลื่นความถี่ที่เรียกคืนไว้ได้เอง โดยให้ถือเป็นรายได้ของกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมของ กสทช. ซึ่งการประมูลคลื่นความถี่ในครั้งนี้ กสทช.ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นไปตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 แล้ว แต่จนกระทั่งบัดนี้ บมจ.อสมท และบริษัทเอกชนคู่สัญญา ก็ยังมิได้รับเงินเยียวยาใดๆ ทั้งสิ้นจาก กสทช.